“กรมวิชาการเกษตร”ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงรุก ตอบโจทย์ลดโลกร้อน
“กรมวิชาการเกษตร”ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงรุก ตอบโจทย์ลดโลกร้อน
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยในงาน เสวนา “การขับเคลื่อนเกษตรด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า สู่การใช้ประโยชน์ทุกมิติ” ภายใต้งานแถลงผลงานกรมวิชาการเกษตร 2566 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี กรมวิชาการเกษตร” ชูแนวคิด “ตลาดนำการวิจัย มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2566
นายชูศักดิ์ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)เกิดจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ล่าสุดสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาทางผู้แทนเอกชนไทยได้มีการหารือร่วมกัน กับประเทศต่างๆ ก็มีความกังวลใจในเรื่องความมั่นคงอาหาร แม้แต่ประเทศไทยเองผลิตได้มาก ก็นำเข้ามากเช่นเดียวกัน สิ่งที่เราควรจะรับมือเน้นการบริหารระบบฟาร์ม GAP (Good Agricultural Practices) ซึ่งเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการฟาร์มคุณภาพ มาตรฐาน โดยเฉพาะพืชเกษตร ทางเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ยินดีที่จะร่วมงานกับกรมวิชาการเกษตรในทุกมิติ
นับจากนี้ไปหากไทยไม่ได้เตรียมการรับมือการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศ เชื่อว่าจะต้องมีการนำเรื่องต่างๆ เหล่านี้ไปอยู่บนเวทีเจรจา เรื่องกฎระเบียบเงื่อนไขต่างๆ มาตรการรับมือยอมรับว่าที่ผ่านมาภาคเอกชนมีความเข้มแข็งสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ความท้าทาย เกษตรกรผู้สูงอายุก็ทิ้งไม่ได้ ตรงนี้ก็ต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนในการรับมือความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับ “กรมวิชาการเกษตร” ก็ปรับตัวทันขึ้นมารับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ กับสภาพแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้เห็นมีการตั้งทีมคณะทำงานที่มีความคล่องตัว ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใน 100 วัน
สอดคล้องนายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากที่อากาศในประเทศเห็นได้ชัดว่ามีความร้อนผิดปกติ จากลูกปาล์มที่เกษตรกรจำหน่ายมีความไม่สมบูรณ์ กำลังจับตาเป็นพิเศษว่าผลผลิตในปีหน้าจะเป็นอย่างไร และจากการที่ได้เดินชมผลงานของกรมวิชาการเกษตรมีความน่าสนใจ ละเอียดดีมาก เห็นความตั้งใจของนักวิชาการ แต่อยากจะให้เสนองานวิจัยที่สมบูรณ์แบบในฉบับผู้ประกอบการก็สามารถนำงานวิจัยไปใช้ในกระบวนการผลิตให้คิดตั้งแต่ต้นจนจบ
ขณะนี้ได้ทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตรก็คือ การทำแปลงต้นแบบในการจัดการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพืชปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ที่จะก้าวไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคตเป็นอีกหนึ่งความหวังของภาคเอกชน
นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ความต้องการและความมุ่งหมายของภาคเอกชนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับและได้มอบนโยบายลงสู่ภาคปฏิบัติ ให้เห็นผล 100 วัน