“ธรรมนัส” ลุย “DOA FUTURE LAB” ยกระดับรายได้เกษตรกร 3 เท่า สนองนโยบายนายกฯ
“ธรรมนัส” ลุย “DOA FUTURE LAB” ยกระดับรายได้เกษตรกร 3 เท่า สนองนโยบายนายกฯ
วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ร.อ ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาร่วมแสดงความยินดีและส่งความปรารถนาดี เนื่องในวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 51 ปี ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ต่อคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรทุกคนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของกรมวิชาการเกษตรให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะเป็นหน่วยงานนำทางพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย ในยุคที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรค แมลงศัตรูพืชใหม่ ความมั่นคงทางอาหาร ความต้องการในอาหารสุขภาพในอนาคต และการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น ภาษีคาร์บอนที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร นโยบายการสร้างรายได้ สร้างโอกาสและสร้างคุณภาพชีวิตโดยใช้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ที่กรมวิชาการเกษตร ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ ทำทันทีภายใน 100 วัน เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานโบว์แดง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยเน้นการบริหารจัดการภาคเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน ตั้งแต่ดิน น้ำ พันธุ์พืช นวัตกรรม ด้วยการ สนับสนุนให้ปลูกพืช ให้เหมาะสมกับพื้นที่พัฒนาพันธุ์พืชที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร การใช้สารชีวภัณฑ์ลดการใช้สารเคมี รวมถึง การประกาศสงครามกับปุ๋ย และเคมีเกษตรปลอม ทำสงครามกับศัตรูพืชในการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ต้องมีอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย สามารถให้บริการตรวจสอบรับรองที่ฉับไว ห้องปฏิบัติการแห่งอนาคต "DOA Future Lab" จึงเป็นการยกระดับเทคโนโลยีนวัตกรรม ห้องปฏิบัติการที่ล้ำสมัยของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ลดปัญหา และอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ
“ผมฝากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เรื่องงบประมาณ "DOA Future Lab" เนื่องจากกรมวิชาการเกษตร เป็นกรมที่สำคัญ ที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ในเรื่องการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 3 เท่า ใน 4 ปี นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ โดยใช้ นโยบาย ”ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” มาถูกทาง ซึ่งหากงบประมาณไม่มีในส่วนนี้ขอให้บอกในการยกระดับห้องปฏิบัติการส่วนภูมิภาคให้ได้มาตรฐานระดับสากลที่เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงระดับประเทศ และระดับนานาชาติ”
ร.อ ธรรมนัส กล่าวอีกว่า มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของผลงานวิชาการที่กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาขึ้น ในฐานะผู้นำในการพัฒนาผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่สามารถนำไปต่อยอด ใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง สร้างคุณค่าให้กับองค์กรให้เติบโต เข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับการพัฒนาการเกษตรของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และยั่งยืน
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้มาอ่านสารแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ขึ้นปีที่ 51 โดยใน 5 ปี ทศวรรษที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรมีภารกิจการดำเนินงานค้นคว้าวิจัย การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตรต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตการพัฒนาการเกษตรให้มีความปลอดภัยสำหรับการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างโอกาสและสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ โดยใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล เป็นไปตามแผนดำเนินงาน ปี 2568-2570 ตามเป้า 4 แผนงาน ได้แก่ 1.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่องานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในงานบริการตรวจสอบย้อนกลั2.พัฒนางานวิจัยและระบบการจัดการห้องปฎิบัติการทดสอบที่เป็นภารกิจกรมวิชาการเกษตร ให้ได้มาตรฐานและเป็นห้องปฎิบัติการอ้างอิงระดับประเทศ 3.พัฒนาคลังข้อมูลด้านการเกษตรความหลากหลายทางชีวภาพ และสาระสำคัญ และ 4.พัฒนาศูนย์เครือข่ายนวัตกรรมการเกษตร ยกระดับเทคโนโลยีด้วยอุปกรณ์ทันสมัย ให้ครอบคลุมตามภารกิจ นับว่าเป็นภารกิจใหม่ของกรมวิชาการเกษตรที่จะต้องขับเคลื่อนนโยบายนี้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป