ไทย-เยอรมนี ก้าวสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
หารือกับนายโทเบียส ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี
ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก วันที่ 21 กันยายน 2566
ไทยและเยอรมนีเป็นมิตรประเทศกันมาอย่างยาวนาน และได้เฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ ทางการทูตครบรอบ 160 ปีเมื่อปี 2565 ที่สำคัญเยอรมนีเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทยที่แน่นแฟ้นและหลากหลาย ทั้งระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีบริษัทเยอรมนีกว่า 600 บริษัทที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
นอกเหนือจากความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจแล้ว เยอรมนียังมีความใกล้ชิดกับไทยในระดับประชาชน มีชุมชนไทยในเยอรมนีที่ลงทะเบียนกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยเกือบ 60,000 คน และคาดว่ามีคนไทยที่ได้รับสัญชาติเยอรมันแล้วอีกกว่า 40,000 คน ขณะที่มีชุมชนชาวเยอรมันในประเทศไทยประมาณ 36,000 คน นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวเยอรมันจำนวนมากเดินทางไปมาหาสู่กัน โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวไทยกว่า 300,000 คน และนักท่องเที่ยวเยอรมันกว่า 800,000 คน และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นอีกในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป
ความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระดับประชาชนนี้จึงเป็นรากฐานสำหรับความร่วมมือด้านอื่น ๆ ระหว่างไทยกับเยอรมนี โดยในด้านการเมือง ในปี 2567 จะเปิดศักราชโดยการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีเยอรมนี ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2567 ซึ่งจะเป็นโอกาสในการ (1) ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปเยอรมนี (2) ส่งเสริมให้เยอรมนีเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด (3) ส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานไทยในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และ (4) ส่งเสริมความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
ไทยและเยอรมนียังจะส่งเสริมการเยือนระดับสูงระหว่างกัน ทั้งในระดับนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงรุกกันอย่างรอบด้าน รวมทั้งจะร่วมมือกันผลักดันการประชุมหารือตามกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ด้วย
เยอรมนีเป็น 1 ใน 10 ประเทศเป้าหมายด้านการค้าและการลงทุนของไทย ซึ่งสอดรับกับโอกาสที่เยอรมนีแสวงหาหุ้นส่วนใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น โดยการดำเนินการทูตเชิงรุกต่อเยอรมนีตามยุทธศาสตร์ข้างต้นนี้จะนำไปสู่การมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในมิติที่ครอบคลุม รวมทั้งการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ต่อไป ซึ่งความต้องการจะกระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้านของ ทั้งสองฝ่ายเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ
* * * * *
ภาพบรรยากาศเทศกาลไทย ณ เมืองบาด ฮอมบวร์ก ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างประชาชนไทยกับเยอรมนี
ภาพการแข่งขัน EV Hackathon เมื่อปี 2564 เพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 160 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมนี ซึ่งช่วยส่งเสริมสถาบันอาชีวศึกษาไทยในด้านยานยนต์ไฟฟ้า
บรรยากาศซุ้มไทยในงาน International Green Week ที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อเดือนมกราคม 2566 ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมเพื่อนำเสนอสินค้าไทยและบทบาทของไทยในด้านเศรษฐกิจสีเขียวและหมุนเวียน
โดยกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ