ผลสำรวจพบ บริษัทมุ่งลงทุนเทคโนโลยี ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
ผลสำรวจพบ บริษัทมองหาเทคโนโลยีที่ช่วยเร่ง และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงขององค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
องค์กรธุรกิจเผชิญกับความท้าทายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลมากมายอยู่ในมือ ผลสำรวจระบุว่า บริษัทมองหาเทคโนโลยีที่ช่วยเร่งและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงขององค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นบริษัทจำนวนมาก มุ่งเน้นเพิ่มทักษะให้พนักงาน เนื่องจากการขาดแคลนทักษะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
ผู้บริโภคปรับตัวใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 บริษัทต่างๆ จึงสามารถจัดเก็บข้อมูลการใช้บริการได้เป็นจำนวนมากเพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการ และสามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รายงานผลการศึกษาของ อีวาย Tech Horizon 2022 พบว่า การตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดคือความท้าทายสำคัญของบริษัทในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก (APAC) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า
รายงานผลการศึกษา Tech Horizon 2022 เป็นการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง 1,668 รายทั่วโลก ในหลากหลายอุตสาหกรรม (โดยมี 394 รายจากกลุ่ม APAC และ 80 รายจากสิงคโปร์และประเทศไทย)
จากรายงานผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 50% (ขณะที่ APAC, สิงคโปร์ และไทย 46%) ยอมรับว่า ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงเร็วมากและยากต่อการประเมิน ซึ่งส่งผลต่อความสามารถขององค์กรในการดำเนินธุรกิจโดยให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนน้อยกว่าหนึ่งในห้า (ขณะที่ APAC 16%, สิงคโปร์และไทย 19%) ระบุว่า บริษัทกำลังยกระดับการใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์เพื่อคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า สร้างนวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง
เหตุผลหลักที่ผลักดันให้บริษัทลงทุนใช้เทคโนโลยีในการสร้างการเปลี่ยนแปลงคือ การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง (APAC 40%, สิงคโปร์และไทย 37%)
เจสัน แปง หุ้นส่วนสายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ เอินส์ท แอนด์ ยัง แอดไวซอรี ไพรเวท ลิมิเต็ด กล่าวว่า ในหลายๆ บริษัท ข้อมูลที่มีอยู่ขาดความเชื่อมโยงกัน ข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมากในช่วงโควิด-19 อาจไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ หากบริษัทไม่มีเทคโนโลยีและพนักงานที่สามารถจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ได้ การเปลี่ยนแปลงองค์กรที่สามารถสร้างคุณค่าในระยะยาวให้ประสบความสำเร็จ บริษัทและผู้นำองค์กรต้องเตรียมความพร้อมของธุรกิจให้รอบด้าน ลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสม วางแผนกลยุทธ์ด้านข้อมูลให้สอดคล้อง จัดลำดับความสำคัญการใช้งาน และที่สำคัญ ทรัพยากรบุคคลและการบริหารการเปลี่ยนแปลงคือปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
- 4 เทคโนโลยีพื้นฐานเพื่อสร้างคุณค่าในระยะยาว
จากรายงานผลสำรวจของอีวาย ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า มีความต้องการที่จะลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างคุณค่าในระยะยาว โดยมองว่า 4 เทคโนโลยี คือ Data and Analytics, เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud), Internet of Things (IoT) และ Artificial Intelligence (AI) กับ Machine Learning (ML) คือเทคโนโลยีดิจิทัลพื้นฐานที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้สำเร็จ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า องค์กรต่างๆ จะลงทุนใน 4 เทคโนโลยีด้วยสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ และจะสร้างมูลค่าได้มากสุดในอีกสองปีข้างหน้า
ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากกว่า 50% (ขณะที่ APAC, สิงคโปร์ และไทย 57%) ระบุว่า Data and Analytics คือเทคโนโลยีอันดับแรกในการลงทุน ตามมาด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ (APAC 49%, สิงคโปร์และไทย 43%), Internet of Things (APAC 44%, สิงคโปร์และไทย 43%) และ AI (APAC 35%, สิงคโปร์และไทย 30%)
กอราฟ โมดิ หัวหน้าสายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ อีวาย อาเซียนและสิงคโปร์ กล่าวว่า องค์กรให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีแบบผสมผสาน โดยเลือกลงทุนในเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร มากกว่าเลือกลงทุนในเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มใดเพียงอย่างเดียว แม้การลงทุนในเทคโนโลยีพื้นฐานกำลังกลายเป็นมาตรฐานของการลงทุนด้านเทคโนโลยี แต่การผสานเทคโนโลยีให้เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่บริษัทนั้นๆ ดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย
นริศรา พัตนพิบูล หัวหน้าสายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ อีวาย หรือ EY ประเทศไทย กล่าวเสริม การปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร โดยความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นจากผู้บริหารจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลสำเร็จอย่างรวดเร็ว และส่งมอบคุณค่าทางธุรกิจได้อย่างแท้จริง
- การขาดทักษะของพนักงานคือความท้าทายของการมุ่งสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ในขณะที่กำลังมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ตอบแบบสอบถามต่างเผชิญกับปัญหาพนักงานขาดทักษะในการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล (APAC 63%, สิงคโปร์และไทย 76%) โดยผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุด้วยว่า ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลคือทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล (APAC 42%, สิงคโปร์ และไทย 35%)
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (APAC 70%, สิงคโปร์และไทย 80%) เห็นตรงกันว่า ปรากฏการณ์ "การลาออกครั้งใหญ่" (Great Resignation) ทำให้การจ้างงานพนักงานที่มีทักษะยากลำบากขึ้น บริษัทจึงมุ่งสร้างทักษะให้กับพนักงานในองค์กรแทน (APAC 70%, สิงคโปร์และไทย 72%) ดังนั้น วิธีที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มทักษะหรือการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรจึงเป็นความท้าทายสำคัญต่อแผนการสร้างบุคลากรในองค์กร (APAC 46%, สิงคโปร์และไทย 49%)
กอราฟ กล่าวว่า บริษัทต้องมีแผนกลยุทธ์ที่หลากหลาย โดยบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงรุก ออกแบบการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงาน (Employee Experience) พร้อมๆ กับการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลรอบด้าน เพื่อรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร และดึงดูดผู้เชี่ยวชาญเข้ามา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร นอกจากนี้ การเข้าร่วมระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มทักษะที่ต้องการ และการเป็นพันธมิตรกับคู่ค้าทางธุรกิจก็ช่วยให้สามารถเข้าถึงพนักงานที่มีความสามารถตรงตามความต้องการได้
"องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถสร้างและส่งมอบคุณค่าที่แตกต่างได้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กร นอกจากการมีกลยุทธ์ทางธุรกิจ เทคโนโลยี และกลยุทธ์ด้านข้อมูลที่เหมาะสม มนุษย์คือศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ รวมถึงการมีผู้นำที่มุ่งมั่นและพนักงานที่มีศักยภาพ จะช่วยสร้างองค์กรให้เติบโตและส่งมอบคุณค่าได้ในระยะยาว" กอราฟ กล่าว
นริศรา สรุปปิดท้ายว่า กลยุทธ์ด้านข้อมูลจะสร้างการเติบโตให้องค์กรแบบก้าวกระโดด แต่พนักงานคือผู้ขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จ องค์กรที่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างการนำดิจิทัลมาปรับใช้และสร้างประสบการณ์การทำงานให้กับพนักงาน ด้วยการส่งเสริมทักษะและความรู้เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลให้กับทุกฝ่ายในองค์กร จะประสบความสำเร็จในการเป็นองค์กรที่มีข้อมูลเป็นศูนย์กลาง