รู้ให้เร็ว "โรคพังผืดในปอด" แนะจับ 3 สัญญาณภัยเงียบ

รู้ให้เร็ว "โรคพังผืดในปอด" แนะจับ 3 สัญญาณภัยเงียบ

กลุ่มแพทย์ รณรงค์สร้างความตระหนัก "โรคพังผืดในปอด" เผยอัตราเสียชีวิตสูงภายใน 3-4 ปี หากไม่ได้รักษาตั้งแต่เริ่มต้น เร่งกระจายความรู้ กลุ่มบุคลากร-ประชาชน สังเกต 3 สัญญาณโรค เพื่อเข้ารับการตรวจได้ทันท่วงทีก่อนโรคลุกลาม

รศ.นพ.แจ่มศักดิ์ ไชยคุนา นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวผ่าน Facebook Live ในงานเสวนาเรื่อง Freshen Up Your Life "สูดลมหายใจให้เต็มปอด เพื่อผู้ป่วยโรคพังผืดในปอด" ว่า โรคพังผืดในปอด (lung fibrosis) เป็นโรคหนึ่งในกลุ่ม โรคปอดอินเตอร์สติเชียล (interstitial lung disease หรือ ILD) จัดเป็นโรคหายากที่มีความรุนแรงมาก อัตราการรอดชีวิตใกล้เคียงกับโรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบ แผลเป็น หรือพังผืดที่เนื้อเยื่อปอด และหลอดลมฝอยในปอด ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เหมือนคนปกติทั่วไป ส่งผลต่อการหายใจผิดปกติ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่สามารถลุกลามมากขึ้นได้ จนทำให้สมรรถภาพปอดลดลง และอาการของผู้ป่วยแย่ลงได้ตลอดเวลา

โรคพังผืดในปอด มี 3 ลักษณะเด่นที่พบคือ 1) ไอแห้งเรื้อรังมากกว่าสองเดือนขึ้นไป 2) เหนื่อยหอบมากขึ้น ทำให้ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลง เช่น เดินได้ช้าลง ออกกำลังกายได้ลดลง 3) เมื่อแพทย์ฟังเสียงปอดจะได้ยินเสียงกรอบแกรบผิดปกติที่ชายปอดทั้งสองข้างคล้ายเสียงลอกแถบตีนตุ๊กแก

นอกจากนี้ มีอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักตัวลดลงเรื่อยๆ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ปลายนิ้วมือหรือเท้ามีลักษณะโค้งกลมและกว้างขึ้น ส่วนสาเหตุของโรคนั้นเกิดจากโรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง การใช้ยาบางชนิด อาชีพและสิ่งแวดล้อม และมีบางส่วนที่ไม่ทราบสาเหตุด้วย

รู้ให้เร็ว \"โรคพังผืดในปอด\" แนะจับ 3 สัญญาณภัยเงียบ

รศ.นพ.ศุภฤกษ์ ดิษยบุตร ประธานคณะอนุกรรมการ โรคปอดอินเตอร์สติเชียล และ โรคปอด จากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า โรคนี้พบผู้ป่วยได้ไม่บ่อยนัก มักเกิดในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ในแถบประเทศตะวันตกมีอุบัติการณ์ประมาณ 20 คนต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีการรวบรวมข้อมูลจาก 20 โรงพยาบาลใหญ่ ในโครงการลงทะเบียนผู้ป่วยโรคปอดเป็นพังผืดชนิดไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic pulmonary fibrosis หรือ IPF) จำนวน 146 คน (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2565) แต่อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ลงทะเบียน ดังนั้น จึงคาดว่าจะมียอดผู้ป่วยจริงมากกว่านี้แน่นอน

ในส่วนสาเหตุที่เกิดจากอาชีพและสิ่งแวดล้อมนั้น จะมีบางอาชีพที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาทิ คนที่ทำงานในสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งมีโอกาสจะได้รับฝุ่นจากปูนและแร่ใยหินสูงกว่าคนทั่วไป ส่วนสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่สุ่มเสี่ยง อาทิ อยู่ใกล้สัตว์ปีกจำนวนมากเป็นเวลานาน เช่น เลี้ยงนกจำนวนมาก หรือมีสภาพแวดล้อมที่ไปสัมผัสนกพิราบบ่อย รวมถึงการสัมผัสกับเชื้อรานานๆ เช่น ในห้องนอนที่มีเชื้อราสะสม เป็นต้น แต่การสัมผัสสัตว์หรือสารดังกล่าวอาจไม่ได้ทำให้เกิดโรคทุกคนเพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

จากการประมวลข้อมูลของผู้ป่วยที่พบในประเทศไทย มีอายุเฉลี่ย 71 ปี เป็นเพศชายร้อยละ 71 มีประวัติสูบบุหรี่ร้อยละ 59 ผู้ป่วยมักมีอาการหอบเหนื่อยร้อยละ 88 และไอแห้งร้อยละ 85 ที่น่ากังวลคือ ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาต้านพังผืดที่ใช้ในการรักษาได้เพียงร้อยละ 45

รู้ให้เร็ว \"โรคพังผืดในปอด\" แนะจับ 3 สัญญาณภัยเงียบ

ข้อมูลการติดตามผู้ป่วยมาเป็นระยะเวลา 2 ปี รศ.นพ.ศุภฤกษ์ ระบุว่า พบอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 20 โดยปัจจัยที่มีผลต่อการกำเริบเฉียบพลันและอัตราการเสียชีวิตคือ อายุมาก สมรรถภาพปอดที่ไม่ดี อาการเหนื่อย และคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีตั้งแต่เริ่มการวินิจฉัย ในกลุ่มผู้ป่วยที่เสียชีวิตร้อยละ 50 จะมีสาเหตุจากภาวะการหายใจล้มเหลวจากตัวโรค อีกร้อยละ 50 เสียชีวิตจากโรคร่วม อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจล้มเหลว และการติดเชื้อ เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากโรคนี้มีอาการไม่จำเพาะเจาะจง การวินิจฉัยค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ เพื่อให้วินิจฉัยอย่างถูกต้องรวดเร็วผ่านการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจสมรรถภาพปอด ร่วมกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดความละเอียดสูง (high resolution computed tomography หรือ HRCT) โดยอาจพิจารณาร่วมกับการประเมินผลทางปฏิบัติการอื่นๆ

สำหรับกระบวนการรักษาในกรณีของ โรคพังผืดในปอด ที่ไม่ทราบสาเหตุหรือ IPF นั้นจะใช้ยาต้านพังผืด และการรักษาตามอาการ ร่วมกับกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด การบำบัดด้วยออกซิเจน และการปลูกถ่ายปอดขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์

ที่ผ่านมา สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างร่วมกันทำงานมานานมากกว่า 10 ปี เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้กระจายไปยังบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยของแพทย์เริ่มคำนึงถึงโรคพังผืดในปอดมากขึ้น

ในส่วนของประชาชนนั้น ยังต้องมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้สังเกตอาการตัวเอง เพื่อเข้ามารับการตรวจได้ทันท่วงทีก่อนโรคลุกลาม เพราะในบางโรคกรณีที่ปอดมีการอักเสบแต่ยังไม่เกิดพังผืด จะมีโอกาสหายจากโรคได้ แต่หากเกิดพังผืดในปอดแล้ว จะช่วยเพียงชะลอไม่ให้พังผืดเกิดมากขึ้น จากข้อมูลการดูแลผู้ป่วยพบว่า หากผู้ป่วยได้รับการรักษา จะสามารถชะลอการเสื่อมสมรรถภาพของปอดได้ถึงร้อยละ 50 ดังนั้น ผู้ที่สังเกตอาการตนเองแล้วเข้าข่ายควรรีบเข้าทำการตรวจวินิจฉัยเพราะเป็นโรคที่มีโอกาสเพิ่มความรุนแรงได้ และเมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วต้องไปตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอด้วย โดยปัจจุบันมีช่องทางในการให้ข้อมูลผู้ป่วยหลายช่องทาง สำหรับแพทย์จะมีเพจรู้ไว้ไอแอลดี และแอปพลิเคชัน 360 องศา ILD ส่วนประชาชนทั่วไปมี official line account "O2lung" หรือ "ปอดโปร่ง"

ขณะที่ ศ.พญ.ดวงฤดี วัฒนศิริชัยกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหายาก และรองประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายากประเทศไทย กล่าวว่า โรคพังผืดในปอด ถือเป็นโรคหายากโรคหนึ่ง สอดคล้องกับคำนิยามของโรคหายากของกระทรวงสาธารณสุข ที่พบได้ไม่เกิน 10,000 คน หายารักษาได้ยาก และต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการวินิจฉัย รวมถึงเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในครัวเรือน สาเหตุของโรคพบว่าร้อยละ 80 มาจากพันธุกรรม อีกร้อยละ 20 มาจากสาเหตุอื่นๆ

ทั้งนี้ การจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที จำเป็นต้องสร้างระบบรองรับที่ดีในการดูแลรักษา ทั้งระดับนโยบายที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อขยาย สิทธิบัตรทอง ให้ผู้ป่วยเบิกจ่ายได้ครอบคลุม พร้อมกับการบรรจุยาที่ใช้ในการรักษาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ขณะที่ผู้ป่วยก็ต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลการดูแลรักษาตนเองให้ดีขึ้น และร่วมกันผลักดันให้ระดับนโยบายเห็นความสำคัญของโรคนี้

สำหรับมูลนิธิฯ และองค์กรที่เกี่ยวข้องช่วยกันรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องสื่อสารไปยังทุกภาคส่วนให้เข้าใจโรคพังผืดในปอดมากขึ้น ให้โรคนี้เป็นที่ตระหนักของทุกภาคส่วน

นางสาวมนฤทัย เด่นดวง พยาบาลผู้มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโดยตรง กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยคือ การให้กำลังใจ ขณะเดียวกันพยาบาลต้องมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ และเรียนรู้ไปพร้อมกับแพทย์ เพื่อสามารถแนะนำเพิ่มเติมคนไข้ให้ปฏิบัติตัวได้ดีขึ้น สำหรับหัวใจในการดูแลรักษาคนไข้คือ การให้คนไข้มีความหวังในการดูแลตัวเอง โดยมีเรายินดีช่วยเหลือตลอดเวลา

ทั้งนี้ ในเดือนกันยายนของทุกปี เป็นวาระสำคัญในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ โรคพังผืดในปอด ให้กับแพทย์และผู้ป่วย รวมถึงภาคประชาชน เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรองโรคนี้ได้อย่างรวดเร็ว และผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที โดยปีนี้เป็นอีกปีที่สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับคณะทำงานโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก และบริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ ประเทศไทย จัดกิจกรรม Pulmonary Fibrosis Awareness Month และเสวนาเรื่อง Freshen Up Your Life "สูดลมหายใจให้เต็มปอด เพื่อผู้ป่วยโรคพังผืดในปอด" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ

สำหรับผู้ที่สนใจสาเหตุของ โรคพังผืดในปอด และวิธีการรักษาโรคนี้ สามารถชม VTR ให้ความรู้เรื่อง โรคพังผืดในปอด เพิ่มเติมได้ ที่นี่

NP-TH-100100