สสส. ผนึกกำลัง สช. สานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13
สร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13 สสส. ผนึกกำลัง สช. สานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ขับเคลื่อน 4 ประเด็น อาหาร-สุขภาพ-มนุษย์-ทรัพยากรธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม เดินหน้าแก้ปัญหาผลกระทบทางสุขภาพ สู่การเป็นภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน
9 ส.ค. 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จ.สงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันนโยบายสาธารณะ ม.สงขลานครินทร์ และภาคีเครือข่ายภาคใต้ จัดงาน "ภาคใต้แห่งความสุข" ครั้งที่ 13 เพื่อสุขภาวะแห่งอนาคต สุข สู่ สุขภาวะ และการประชุมประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน : โอกาส และความท้าทาย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า 22 ปี ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง การริเริ่มการจัดงาน สร้างสุขภาคใต้ เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้โอกาสในการสานพลังภาคีเครือข่าย สสส. ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำผลงานที่ขับเคลื่อนยกระดับสู่กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ โดยใช้กลไก ทุน ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ จนเกิดเป็นเป้าหมายความมั่นคงใน 4 ประเด็น 1. อาหาร 2. สุขภาพ 3. มนุษย์ 4. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเวทีในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก สช. ในร่วมจัดประชุมวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สนับสนุนงานภาคีเครือข่ายต่อไป
"ในยุคปัจจุบันที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ จึงมีความจำเป็นต้องสานพลังความร่วมมือการทำงานกับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นแนวทางการเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ ตามนโยบายของ สสส. ที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งด้านความรู้ การสื่อสาร และการจัดการส่งเสริมให้ประชาชน เกิดการหนุนเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาสุขภาพ ตลอดจนร่วมสร้างค่านิยม ผลักดันนโยบาย เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน" ดร.สุปรีดา กล่าว
นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. สนับสนุนให้ภาคีเครือข่าย จัดประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ HIA ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในประเด็นต่างๆ ที่หลากหลาย ทันสมัย และเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ การยกย่องเชิดชูเกียรติผลงานที่เข้าร่วม ตลอดจนเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับครั้งนี้เป็นการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อสุขภาวะแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน โอกาส และความท้าทาย โดย สสส. มีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ที่จะร่วมขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชนไปด้วยกัน สนับสนุนให้บุคคลทั่วไปในการผลิต เผยแพร่ นำเสนอ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข่าวสาร ประสบการณ์การทำงาน งานวิจัยด้านการประเมินผลกระทบของไทย
ผศ.ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งประเทศ ขับเคลื่อนงานร่วมกับ สสส. สช. สปสช. อย่างต่อเนื่องในการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย โดยใช้กลไกเครือข่ายทั้งภาคชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน พัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพ ระบบบริการสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพ และใช้เครื่องมือสำคัญใน พรบ. สุขภาพแห่งชาติ โดยงาน สร้างสุขภาคใต้ เป็นงานที่บูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนมากว่า 17 ปี จัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 13 ใน 5 ครั้งที่ผ่านมาเป็นการจัดประชุมวิชาการผนวกร่วมกับการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ เพื่อให้เห็นว่า ความรู้ ปัญญา เป็นฐานสำคัญ โดยเฉพาะครั้งนี้มีการประชุมวิชาการ HIA ระดับชาติมาร่วมด้วย เป็นการยกระดับ พัฒนาขับเคลื่อนสุขภาวะของคนใต้ อย่างมีประสิทธิภาพ
นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ประธานคณะทำงานการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13 กล่าวว่า สสส. โดยสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์ และวิเทศสัมพันธ์ ได้สนับสนุนให้สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหน่วยประสานหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ ขับเคลื่อนงาน จัดงานสร้างสุขภาคใต้อย่างต่อเนื่องถึง 12 ครั้ง เพื่อสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่อง เกิดกลุ่มองค์กรชุมชน เครือข่าย และภาคีความร่วมมือต่างๆ หลากหลายประเด็น และมีองค์กรภาคีเครือข่ายสุขภาวะกระจายตัวอยู่ในแต่ละจังหวัดเป็นจำนวนมาก พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย ชุดความรู้ นวัตกรรม ข้อตกลงร่วมกัน สู่พื้นที่ต้นแบบอย่างเป็นรูปธรรมระดับพื้นที่ ในการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ครั้งที่ 13 เป็นการยกระดับข้อเสนอเชิงนโยบายภาคใต้ 4 ประเด็น สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พัฒนานโยบายสาธารณะ เชื่อมโยงเครือข่าย สาน เสริมพลัง ผลักดัน และยกระดับข้อเสนอเชิงนโยบาย สู่การขยายผลรูปธรรมความสำเร็จจากการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับจังหวัด และภาคใต้