ททท. ต่อยอดโครงการ STAR จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ "ห่วงโซ่ความยั่งยืน ฟื้นการท่องเที่ยวไทย"
ททท. ต่อยอดโครงการ STAR จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ
"ห่วงโซ่ความยั่งยืน ฟื้นการท่องเที่ยวไทย"
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรมสัมมนา ภายใต้หัวข้อ
"ห่วงโซ่ความยั่งยืน ฟื้นการท่องเที่ยวไทย" ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านทางช่องทาง Facebook Page : https://www.facebook.com/tatstar.green เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ตามแนวคิดมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน STGs 17 เป้าหมาย รวมทั้ง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการปรับตัวเพื่อสร้างความพร้อมและสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในทุกมิติ นำสู่ความมั่งคงและแข็งแรงของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต
ตามที่ ททท. ดำเนินโครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism Acceleration Rating : STAR) เพื่อเร่งยกระดับขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทาน Shape supply ให้เกิดการพัฒนาบนพื้นฐานของความปลอดภัยและความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มาร่วมสร้างท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน” นำไปสู่ High Value Services & Standard ซึ่งจะมีการมอบ “ดาวแห่งความยั่งยืน” แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์การประเมินตนเอง STGs Easy โดยมีเกณฑ์พื้นฐาน 3 หัวข้อ ได้แก่ STG13มุ่งลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวและส่งเสริมการตั้งรับปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงSTG16 สภาพภูมิอากาศการคำนึงถึงความปลอดภัยใน
ภาคการท่องเที่ยว และ STG17 การบรรลุเป้าหมาย STGs ผ่านความร่วมมือหลายภาคส่วน เป็นเกณฑ์หลักเบื้องต้นของผู้ประกอบการ นั้น
ในโอกาสนี้ ททท. จึงได้ต่อยอดโครงการ STAR จัดกิจกรรมสัมมนาภายใต้หัวข้อ "ห่วงโซ่ความยั่งยืน
ฟื้นการท่องเที่ยวไทย" แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านช่องทาง Facebook Page : https://www.facebook.com/tatstar.green โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ได้แก่
นายนพดล สุทธิธนกูล จากกลุ่มอนุรักษ์ปะการัง เกาะหมาก จ.ตราด, นายนิพนธ์ สุทธิธนกูล จาก Trash Hero
กลุ่มโครงการเก็บขยะเพื่อสังคมที่ดีขึ้น เกาะหมาก จ.ตราด และนายพงษ์ศิลา คำมาก ผู้ก่อตั้ง Sansaicisco และ
ผู้ขับเคลื่อน Slow Food Chiang Mai ร่วมบรรยาย สร้างแรงบันดาลใจจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทาง
การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด STGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน มีความพร้อม และภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน ซึ่งเนื้อหาของการบรรยายมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้
นายนพดล สุทธิธนกูล จากกลุ่มอนุรักษ์ปะการัง เกาะหมาก จ.ตราด บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ
การอนุรักษ์ท้องทะเลซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยกลุ่มอนุรักษ์ปะการังขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมหลากหลายทั้งการร่วมกันปลูกปะการังและหญ้าทะเลเพื่อสร้างระบบนิเวศทางทะเลและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนท้องถิ่นที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรบนเกาะหมาก ทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
จนได้รับการยกย่องเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low carbon destination) แห่งแรกในประเทศไทย จาก Green Destinations Foundation พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมท่องเที่ยวเกาะหมาก หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/kohmak.corals
อีกหนึ่งภาคส่วนที่มีส่วนช่วยให้เกาะหมาก จ.ตราด ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน Green Destinations ระดับโลก คือ Trash Hero กลุ่มโครงการเก็บขยะเพื่อสังคมที่ดีขึ้น เกาะหมาก จ.ตราด นำโดย นายนิพนธ์ สุทธิธนกูล กำลังสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างคนท้องถิ่น สถานประกอบการในเกาะหมาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงนักท่องเที่ยว ให้ร่วมกันตระหนักถึงปัญหาขยะชายฝั่งทะเลและขยะในทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากมายมหาศาล ด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการส่งต่อความรักและความรู้เกี่ยวกับการเก็บขยะ ลดขยะ แยกขยะให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและขยายผลต่อยอดสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไทยให้สวยงามและยั่งยืน ตลอดจนเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมเก็บขยะชายฝั่งทะเล สามารถติดต่อร่วมกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/trashherokohmak
นอกจากนี้ นายพงษ์ศิลา คำมาก ผู้ก่อตั้ง Sansaicisco และผู้ขับเคลื่อน Slow Food Chiang Mai ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อความหลากหลายของอาหารและส่งผลต่อเนื่องถึงความอยู่รอดของมนุษย์ด้วย โดยแนะนำถึงการที่ธรรมชาติถูกทำลายส่งผลต่อความหลากหลายของอาหารและส่งผลระยะยาวต่อมนุษย์ ในส่วนของการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวได้จากการลงมือทำคนละไม้ละมือ อาทิ โรงแรม สามารถเลือกอาหารที่จะนำมาบริการที่ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีกระบวนการผลิตที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มันอาจจะยากและเหนื่อยเพราะต้องคัดสรรอย่างจริงจัง แต่จะส่งผลดีต่อเราในอนาคต ทั้งยังกล่าวปิดท้ายถึงความยินดีให้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติมหากมีผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม โดยสามารถติดต่อได้ที่ www.facebook.com/Sansaicisco
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือนักท่องเที่ยว สามารถรับชมย้อนหลังและติดตามข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับโครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism Acceleration Rating : STAR) ได้ที่ https://www.facebook.com/tatstar.green และผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ STAR สามารถสมัครผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.TATstar.org หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง Line official : @tatstar