UNGCNT - กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ - UNDP จัดเวทีด้านสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 8
UNGCNT ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ UNDP จัดเวทีระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 8 ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน ปราศจากคอร์รัปชัน
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 8 ภายใต้ประเด็น "การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน ที่ปราศจากคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน" มุ่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการจัดการความเสี่ยงจากการทุจริตที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิแรงงานและแสวงหาแนวทางความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องสิทธิของแรงงานให้ดียิ่งขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในงาน และมีผู้สนใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เข้าร่วมงานมากกว่า 100 คน
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวขอบคุณองค์กรพันธมิตรที่ร่วมกันจัดการประชุมฯ หัวข้อ "การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน" ซึ่งได้จัดขึ้นในห้วงเวลาที่มีความเหมาะสม เนื่องจากวันที่ 9 ธันวาคม เป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล อีกทั้งหัวข้อการประชุมฯ ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันในมิติแรงงาน ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของคนรุ่นหลัง การพูดถึงการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน จะมีความหมายถึงแรงงานทุกระบบ ซึ่งประเทศไทยถ้านำนิยามสากลมาใช้ เราจะมีผู้ว่างงานเพียง 4.14 แสนคน ที่ถือว่าน้อยมาก ส่วนตัวเห็นว่าเพราะมีแรงงานนอกระบบและอาชีพอิสระจำนวนมาก รวมถึงมีสัดส่วนธุรกิจนอกระบบจำนวนมากด้วย จึงเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลที่ต้องเข้าไปดูแลและยากต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงาน
พันตำรวจเอกทวี กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมอย่างแท้จริง การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จึงถือเป็นกรอบนโยบายของรัฐบาลที่สะท้อนความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความร้บผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม
นางนีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะโดดเด่นในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุยชน แต่ก็ต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุปทานที่การคอร์รัปชัน มักจะขัดแย้งกับการละเมิดสิทธิแรงงาน ยกตัวอย่างการจัดหางานที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การบังคับใช้แรงงาน ในขณะที่การติดสินบนในการตรวจสอบ ทำให้ยังคงมีสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาเหล่านี้บ่อนทำลายความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) หลายประการ อาทิ SDG8 งานที่มีคุณค่า SDG10 ความไม่เท่าเทียมกันที่ลดลง SDG12 การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และ SDG16 สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่าง "Agents of Change" โครงการริเริ่มของ UNDP ที่ร่วมมือกับสหภาพยุโรป มุ่งหวังที่จะส่งเสริมเยาวชนและสื่อให้ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ส่งเสริมบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักปกป้องรุ่นเยาว์และผู้สื่อข่าว โดยกลุ่มคนเหล่านี้มักจะเผชิญกับความเสี่ยง การคุกคาม และการฟ้องร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องจัดการกับประเด็นแรงงานและการทุจริต
"การจัดการกับความเสี่ยงเรื่องการทุจริตและสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน โดยต้องอาศัยความพยายามร่วมกันของรัฐบาล ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และหุ้นส่วนระหว่างประเทศ"
ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการและกรรมการบริหาร UNGCNT กล่าวย้ำว่า ความเสี่ยงเกี่ยวกับการกระทำทุจริตกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและรับผิดชอบของธุรกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย หากเราไม่สามารถจัดการได้ จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030
ดร. เนติธร ได้เสนอ 4 มาตรการการจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริตและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการจัดหางานและการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ มาตรการด้านนโยบาย โดยเฉพาะในกระบวนการจัดหางาน การขอใบอนุญาตทำงาน การขอ VISA โดยออกแบบมาตรการเหล่านี้ให้สะดวก ปลอดภัย และประหยัดต้นทุนและเวลาต่อทั้งแรงงานและภาคธุรกิจ การส่งเสริมหลักการ การจัดหางานอย่างมีจรรยาบรรณ (Ethical Recruitment) ให้นำไปใช้ในกลุ่มบริษัทจัดหางาน ทั้งในและนอกประเทศโดยต้องมีกลไกการตรวจสอบ และการรับเรื่องร้องทุกข์ที่โปร่งใสเข้าถึงได้ การใช้เทคโนโลยี รวมถึง AI หรือ Blockchain เพื่อลดช่องว่างและความเปราะบางในการแสวงหาประโยชน์จากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้เทคโนโลยีในการแจ้งรายงานตัว 90 วัน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนรอบด้าน การรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถเปิดเผยผลการดำเนินการตามหลักการชี้แนะสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนได้อย่างสะดวก และประหยัดงบประมาณ
"การส่งเสริมการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการดำเนินงานร่วมกันอย่างจริงจัง เข้มแข็ง และมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันที่เป็นรูปธรรม วัดผลได้"
หลังพิธิเปิด ดร. เสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ความเชื่อมโยงของการทุจริตในห่วงโซ่อุปทานและความเสี่ยง ด้านสิทธิแรงงาน" โดยชี้ให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน ตั้งแต่การเข้าถึงการศึกษา การทำงาน ไปจนถึงการมีสุขภาพที่ดี เพราะการทุจริตทำให้ทรัพยากรที่จำเป็นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ลดน้อยลง และส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม
ดังนั้น นอกจาก Compliance หรือปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนดไว้ องค์กรธุรกิจภาคธุรกิจในวันนี้ต้อง Beyond Compliance หรือขยายขอบเขตความรับผิดชอบไปสู่การดูแลห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด โดยให้ความสำคัญกับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) เพื่อระบุ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีขั้นตอนสำคัญคือ การระบุความเสี่ยง ตรวจสอบว่ามีโอกาสเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในส่วนใดของห่วงโซ่อุปทานบ้าง การป้องกัน โดยกำหนดนโยบายและมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน การแก้ไข หากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น และการรายงานผล การดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างโปร่งใสต่อด้วย
การเสวนาในหัวข้อ "การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน" มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ แก้วใจ สัจจะเวทะ ผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ปิยนุช จันทนสุคนธ์ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการและนวัตกรรมด้านการป้องกัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ณพวุฒิ ประวัติ ผู้ประสานงานโครงการห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน (RISSC) ในประเทศไทย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นิธิพัศ นันทวโรภาส ผู้จัดการฝ่าย สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์
วงเสวนานี้ ชี้ให้เห็นความสำคัญของการร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใสและเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอแนะสำคัญคือ การปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้ทันสมัย การสร้างมาตรฐานร่วมกัน และการส่งเสริมการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้นสำหรับแรงงานทุกคน
ตัวแทนกระทรวงแรงงาน ย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานสากล และการแก้ไขปัญหาเรื่องสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นประเด็นร้องเรียนที่พบมากที่สุด
ตัวแทน ป.ป.ท. เผยข้อมูลสถิติคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน เช่น การเรียกรับสินบน และการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะปัญหาแรงงานเงาและบัญชีม้า พร้อมทั้งเผยว่า ขณะนี้ ป.ป.ท. ได้จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันกรณีการจ้างแรงงานเท็จ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อออกมาตรการบังคับใช้ต่อไป
ตัวแทน ILO ชี้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือแนวปฏิบัติด้าน HRDD ที่สามารถบังคับใช้ได้ทั่วโลกหรือทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน แต่ในหลายประเทศมีการบังคับใช้กฎหมาย HRDD ในห่วงโซ่อุปทานในประเทศหรือภูมิภาคของตน ภายใต้หลักการเดียวกันคือ ป้องกัน แก้ไข และเยียวยา จึงอยากให้ภาครัฐปรับปรุงกฎหมายด้านแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งควรส่งเสริมให้มีการส่งต่อความรู้ระหว่างกันของภาคธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมให้อุตสาหกรรมไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น
ตัวแทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีผู้นำที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และการตรวจสอบคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการจัดระบบจัดหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีความเสี่ยงและมีความเปราะบาง อย่างมีจริยธรรม โดยตั้งมาตรฐานและตรวจสอบบริษัทจัดหาแรงงานว่าต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิแรงงานที่กำหนด
"ซีพีมีซัพพลายเออร์กว่า 40,000 ราย ซึ่งเชื่อว่าซ้ำกับบริษัทอื่น ถ้าเราหาวิธีร่วมมือกัน สร้างมาตรฐานและตรวจสอบร่วมกัน ผ่านองค์กรกลาง อย่างโกลบอลคอมแพ็กหรือ UNGCNT จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทุจริตและสิทธิแรงงาน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน" นิธิพัศ กล่าวทิ้งท้าย