ทิพยประกันภัย ผนึกองค์กรภาคี หนุนการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา
“ภูมิสังคม” และ “เศรษฐกิจพอเพียง”พร้อมถอดรหัสนวัตกรรมการเรียนรู้มิติใหม่ สู่ครู-อาจารย์ทั่วประเทศ
อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลเล็กๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก ปัจจุบันเต็มไปด้วยบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการทำสวนผัก ผลไม้ การเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว หรือเที่ยวตลาดน้ำที่ขึ้นชื่อ “ตลาดน้ำอัมพวา” ที่ยังคงสภาพวิถีตลาดนัดแบบชาวบ้านชาวสวนของชุมชนคนริมคลองจังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวแล้วนั้น ยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จพระราชสมภพ ณ ตำบลอัมพวา พระองค์ทรงเป็นทั้งนักปกครอง นักปราชญ์ นักรบ และราชศิลปินของไทย รวมถึงเป็นเมืองของพระราชินีถึงสองพระองค์คือ สมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ ในรัชกาลที่ 1 และ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2 นับว่า อัมพวาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม มีการค้าทางน้ำขนาดใหญ่และมีชุมชนริมน้ำที่เป็นศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรม
บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทย ใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ กว่า 30 คน ร่วมกิจกรรมโครงการตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 11” ตามรอยเสด็จทางชลมารคครั้งแรก ของ ร.9 เยือนอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ วิถีชีวิตริมคลอง ล่องเรือ ชมหิ่งห้อย สมุทรสงคราม เพื่อเรียนรู้และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอัมพวาและสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนชาวริมคลองที่เพียบพร้อมไปด้วยแหล่งเรียนรู้ทั้ง ภูมิสังคม และ เศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดและถอดบทเรียนสร้างนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อไป
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย มากำหนดเป็นหลักในการปฏิบัติ และเป็นศาสตร์ของแผ่นดิน ที่เรามุ่งมั่น สืบสาน รักษา และต่อยอด พร้อมทั้งสนับสนุนนวัตกรรมการศึกษาที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญในการพัฒนาครูสู่เยาวชนไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ จึงผนึกกำลังกับองค์กรภาคี จัดโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา มาแล้วกว่า 10 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 11 ส่งท้ายปี 2563 ที่ทางบริษัทยังคงให้การสนับสนุนการเดินทาง ตามรอยพระราชามาอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกการเรียนรู้ และทุกศาสตร์ที่พระองค์ทรงถ่ายทอดให้พวกเรา รวมถึง ครู-อาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้น สามารถช่วยเหลือปลดแอกความทุกข์ยากและสร้างสังคมแห่งความสุขที่ยั่งยืนตลอดจนการสานต่อความรู้สู่เยาวชน และที่สำคัญอาจจะเกิดธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับเราในมิติทางด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่เข้าร่วมโครงการยังสามารถเป็นผู้คิดเองทำเองและสามารถอยู่กับสังคม ได้อย่างพอเพียงและมีความสุขตลอดไป”
ทั้งนี้ กิจกรรมโครงการทิพยตามรอยพระราชาฯ จัดขึ้นรวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 11 แล้ว ได้แก่ 1.ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม 2.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 3.โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ โครงการหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี 4.เขื่อนขุนด่านปราการชล ศูนย์ภูมิรักษ์ จังหวัดนครนายก 5.โครงการพัฒนาชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จังหวัดจันทบุรี 6.มหาชีวาลัยอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ 7.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 8.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ 9.อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา และโครงการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี ครั้งที่ 10 ตามรอยเสด็จทางรถไฟครั้งแรกของในหลวง รัชกาลที่ 9 เยือนสวนสมเด็จย่า พื้นที่เงาฝน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต จังหวัดเพชรบุรี และครั้งที่ 11 ตามรอยเสด็จทางชลมารคครั้งแรก ของ ร.9 เยือนอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ วิถีชีวิตริมคลอง ล่องเรือ ชมหิ่งห้อย สมุทรสงคราม
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด กล่าวถึงโครงการ “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา” ว่า “ทางศูนย์คุณธรรมได้จัดทำหนังสือโครงการตามรอยพระราชาที่คัดสรร 9 เส้นทาง 81 แหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้คณะครูอาจารย์ได้ลงพื้นที่เรียนรู้ศึกษาศาสตร์พระราชา ลงมือทำกิจกรรมเสริมทักษะเรียนรู้และต่อยอด พร้อมสร้างความเข้าใจและเข้าถึงคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และเพื่อให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพัฒนา ‘ศาสตร์พระราชา’ ให้ชาวบ้านนำมาปฏิบัติจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น” โดยครั้งนี้ จะเป็นหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา เส้นทางตะวันตก แผนที่แหล่งเรียนรู้ ตามรอยพระราชา เข้าสวนอัมพวา แกะรอยคุณค่าจากต้นมะพร้าว
“กิจกรรมพิเศษสำหรับการเดินทางตามรอยพระราชาในครั้งนี้ ตามคอนเซ็ปต์ ตามรอยเสด็จทางชลมารคครั้งแรก ของ ร.9 เยือนอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ วิถีชีวิตริมคลอง ล่องเรือ ชมหิ่งห้อย สมุทรสงคราม คือ เราเปิดโอกาสให้ คณะครูอาจารย์ ได้ศึกษาเรียนรู้ ทั้งด้านประวิติศาสตร์ ด้านสังคมรวมไปถึงการศึกษาศาสตร์ของพระราชา (รัชกาลที่ 9) ซึ่งกิจกรรมจะประกอบไปด้วย การสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) สถานที่เสด็จพระราชสมภพ และประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร พร้อมถวายผ้าห่มต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรงปลูก โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 ณ วันอัมพวันเจติยาราม
จากนั้นคณะครูอาจารย์ไปยังโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ โดยมูลนิธิชัยพัฒนา โครงการในพระราชดำริเกี่ยวการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชาวสมุทรสงคราม พื้นที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แหล่งศึกษาความรู้เกี่ยวกับภูมิสังคมและเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการ ให้ชุมชน องค์กรท้องถิ่น และองค์กรเอกชน เกิดความสมดุลในการพัฒนา และการพึ่งพาตนเองของชุมชนตามแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีเรื่องราวน่าศึกษาหลายเรื่อง ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปเพื่อชมแบบผิวเผิน ถ่ายรูป โพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ไปแล้วจะได้ความรู้ ได้ทดลองทำ เช่น การทำน้ำตาลมะพร้าว
การทำไอศครีมกะทิ โดยใช้มะพร้าวสดด้วยกรรมวิธีแบบชาวบ้าน เป็นต้น ดังปรัชญาแห่งการเรียนรู้ที่ว่า “ชุมชนร่วมใจ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อยอดสู่แหล่งเรียนรู้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจและชีวิตพอเพียง เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น”
นอกจากนี้กิจกรรมสำคัญในการตามรอยพระราชาทุกครั้งคือ การถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ ‘King Bhumibol Adulyadej of Thailand’ จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชจริยวัตร ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยจึงรักและผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม”
หลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้ว คณะครูอาจารย์ได้ทำกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอส ประเทศไทย ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King's Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป
สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชาสามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิ ธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com, Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation