คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภาร่วมกับภาคเอกชน

คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภาร่วมกับภาคเอกชน

คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ร่วมกับภาคเอกชน ลงพื้นที่ติดตามการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติในพื้นที่จังหวัดน่าน

คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา นำโดย พลเอก ฉัตรชัย  สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เดินทางลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อติดตาม เร่งรัด เสนอแนะการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เป็นไปตามหน้าที่หนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 270

คณะกรรมาธิการการเกษตรฯ กำหนดลงพื้นที่เป็นประจำทุกเดือนเพื่อติดตามงานด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติที่ได้กำหนดไว้ในแผนงานของคณะกรรมาธิการฯ โดยเฉพาะเรื่องที่ส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock)

ในวันแรก คณะกรรมาธิการการเกษตรฯ เดินทางไปยังบ้านห้วยขาบ อำเภอบ่อเกลือ เพื่อศึกษาติดตามการปฏิรูปประเทศ ประเด็นทรัพยากรดิน ภายใต้แผนการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดเป็น Big Rock เรื่องหนึ่งในแผนของคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ โดยติดตามแผนการใช้ประโยชน์จากที่ดินของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บ้านห้วยขาบที่เกิดดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชนเสียหายอย่างหนักมีผู้เสียชีวิต                                                                                                                                                 

ขณะนั้น พลเอก ฉัตรชัยฯ ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) กองทัพบก และจังหวัดน่าน เป็นต้น ในการหาแนวทางช่วยเหลือและเยียวยาฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยนำมาซึ่งการสร้างที่อยู่อาศัยถาวร จำนวน 60 หลังคาเรือน สนับสนุนโดยไทยเบฟ รวมทั้งมีการพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้านให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยดำเนินการฝึกอบรมการจัดการภัยพิบัติให้กับชาวบ้านในการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือชุมชนใกล้เคียงได้เมื่อเกิดภัยพิบัติในครั้งต่อไป

การดำเนินการดังกล่าวมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ จนกล่าวได้ว่า อาจใช้ชุมชนบ้านห้วยขาบ เป็นชุมชนตัวอย่างในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งปัจจุบันชุมชนบ้านห้วยขาบมีพื้นที่แยกเป็น           2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่อาศัยและส่วนที่ทำกิน กรรมาธิการการเกษตรฯ ได้แบ่งกลุ่มพูดคุยกับชาวบ้านและรับทราบความต้องการในการพัฒนา เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่า และชาวบ้านได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งกรรมาธิการการเกษตรฯ จะได้นำข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์และเสนอแนะต่อฝ่ายบริหารต่อไป

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวถึงการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า  “การดำเนินงานของเราในวันนี้ เราได้กำหนดหัวข้อเรื่องการปฏิรูปประเทศในด้านการเกษตรและสหกรณ์ คือการใช้ประโยชน์จากที่ดินหรือทรัพยากรดิน สืบเนื่องมาจากชุมชนบ้านห้วยขาบได้ประสบภัยพิบัติดินโคลนถล่มเมื่อปี 2561 ในพื้นที่ ต.บ่อเกลือเหนือ จึงได้ทำการย้ายมาชุมชนมาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่า กระทรวงทรัพยากรฯ จึงออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินได้ จึงต้องการมาติดตามความคืบหน้าว่า ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวคุ้มค่าหรือไม่ อีกทั้งทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วางแผนเกี่ยวกับการใช้ที่ดินนี้ไว้อย่างไร ซึ่งผมมองว่าพื้นที่ตรงนี้ ได้ประโยชน์อย่างมากคือ เป็นผลการทำงานที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการช่วยกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ วันนี้เราอยากให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ที่ไม่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก เพียงแต่ใช้แล้วได้ประโยชน์จริง ๆ สำหรับปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในครั้งนี้คือ ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน กล่าวคือ ราชการได้จัดหาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติดินโคลนถล่ม พร้อมทั้งจัดหาที่ดินทำกิน โดยออกเอกสารสิทธิ์ให้ ในภาคเอกชนคือ การเข้ามาสนับสนุนก่อสร้างที่อยู่อาศัย และภาคประชาชนคือ ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง วางแผน และออกแบบ นับเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้ง 3 ส่วน เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ถ้าเรานำโครงการนี้ไปขยายต่อให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจัง”

นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “หมู่บ้านห้วยขาบแห่งนี้เกิดจากการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่แรกเริ่ม โดยอาศัยความร่วมมือในการบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของภาครัฐ จะเข้ามาดูแลในเรื่องระเบียบกฎหมายหรือข้อดำเนินการต่างๆ อะไรที่ภาครัฐทำไม่ได้เราได้รับการสนับสนุนจากเอกชน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการพัฒนาในหมู่บ้านอื่นๆ ในลักษณะนี้ต่อไปด้วย ซึ่งวันนี้บ้านห้วยขาบตั้งอยู่ในที่ทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิ่งที่เรากำลังดำเนินการต่อมาคือการสร้างฝาย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ สำหรับแผนการพัฒนาหมู่บ้านห้วยขาบในอนาคต จะต่อยอดเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว และพัฒนาส่งเสริมอาชีพให้มีการรวมกลุ่มให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ต่อยอดเรื่องการแปรรูปของชุมชนและการท่องเที่ยวในชุมชนให้มีความยั่งยืนและให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้”

นายประวิช สุขุม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวในนามความร่วมมือของภาคเอกชนว่า “จากวันแรกที่เราเดินทางมาที่บ้านห้วยขาบ เรารู้สึกได้ถึงความกังวลของชาวบ้าน แต่มาในวันนี้ ทุกคนมีความสดใสขึ้นมาก ชาวห้วยขาบมีความโชคดีที่ได้ผู้นำชุมชนที่ดี ที่ให้ความร่วมมือในให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และครบถ้วน ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนโครงการจนสำเร็จในวันนี้ และอีกหนึ่งความโชคดีคือ เราได้รับความกรุณาจาก ท่านพลเอก ฉัตรชัย  สาริกัลยะ ซึ่งท่านได้เป็นผู้ที่ริเริ่มโครงการนี้ตั้งแต่แรก ทำให้พวกเราชาวห้วยขาบมีวันนี้ได้ และสิ่งสำคัญที่เราเน้นย้ำมาตลอดในการช่วยเหลือคือ ต้องสร้างความยั่งยืนในชุมชน โดยให้พวกเราในชุมชนมีรายได้ มีโอกาสอย่างต่อเนื่อง ผมขออนุญาตเป็นตัวแทนชาวชุมชนบ้านห้วยขาบ ขอบพระคุณท่าน พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ และทุกภาคีเครือข่าย ที่ได้ร่วมกันทำให้เกิดวันนี้ขึ้นมา เราจะร่วมกันดูแลให้หมู่บ้านห้วยขาบแห่งนี้ให้มีความยั่งยืนอยู่ได้ต่อไปครับ”

นายธนวัฒน์ จรรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ กล่าวในนามตัวแทนชาวชุมชนบ้านห้วยขาบ “สิ่งที่ชุมชนได้รับ จากการมาเยี่ยมเยียนของคณะกรรมาธิการฯ ในวันนี้ คือ โอกาส ครับ เพราะที่ผ่านมา ชุมชนไม่เคยได้รับโอกาสที่ดีแบบนี้ ที่คณะฯ มาติดตาม มาให้กำลังใจ ชาวชุมชนดีใจที่ได้รับโอกาสตรงนี้ และจะนำองค์ความรู้ไปพัฒนาอาชีพของตนเอง และชุมชนต่อไปครับ”

ในวันที่สอง คณะกรรมาธิการการเกษตรฯ ได้ประชุมหารือกับส่วนราชการในจังหวัดน่าน เพื่อติดตามการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติระดับจังหวัดในส่วนที่กรรมาธิการการเกษตรฯ กำหนดเป็น Big Rock 6 เรื่อง คือ (1) การพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานเพื่อการเกษตร (2) ทรัพยากรดิน (3) การส่งเสริม Smart Farmer และ Precision Farming (4) การสร้างและการใช้ Big Data ภาคเกษตร (5) การพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ภาคเกษตร และ (6) การส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรสร้างมูลค่า เพื่อรับทราบว่าระดับจังหวัดมีแผนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร การประสานสอดคล้องกับแผนระดับกระทรวง ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผน งบประมาณดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค เป็นต้น ซึ่งกรรมาธิการการเกษตรฯ กำหนดลงพื้นที่ให้ครบทุกภาคของประเทศ และมีแผนตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาเพื่อเสนอแนะให้กับฝ่ายบริหาร   เพื่อดำเนินการด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้