น้อมรำลึก 26 ปี วันคล้ายวันสวรรคต “สมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวง” 18 กรกฏา 64
วันคล้ายวันสวรรคต “สมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวง” 18 กรกฏา 64 จาก “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” มุ่งสู่ป่าชุมชนเพื่อคาร์บอนเครดิต
เป็นเวลา 26 ปีแล้วที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 แต่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 สานต่อพระราชปณิธานสร้างป่าสร้างอาชีพ ยังประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชนมาแล้วมากกว่า 1.2 ล้านคน
เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระราชดำรัส “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” ในปี 2531 นั้น ได้ทรงเปลี่ยนชื่อมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยที่ทรงจัดตั้งเมื่อปี 2515 มาเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ องค์กรในพระบรมราชูปถัมภ์แห่งนี้จึงทำงานเพื่อประโยชน์แก่สังคมมานานถึง 50 ปี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม
โดยเริ่มโครงการฯ จากโจทย์ของสมเด็จย่า คือ ปลูกป่า ปลูกคน ในพื้นที่ซึ่งป่าถูกทำลาย มีการปลูกและค้าฝิ่น ซึ่งผลประจักษ์แล้วคือดอยตุงมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ประมาณเก้าหมื่นไร่ ประชาชนบนดอยราวหนึ่งหมื่นคนมีอาชีพที่ดี และประเทศไทยหลุดจากบัญชีประเทศหลักที่ปลูกฝิ่นตั้งแต่ปี 2547
จากการปลูกป่าธรรมชาติ มาสู่ป่าเศรษฐกิจ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเริ่มปลูกแมคคาเดเมียในปี 2532 และปลูกกาแฟในปี 2535 ทำให้เกิดอาชีพแก่ชุมชนในด้านต่างๆ ตามมาทั้งในกลุ่มอาหาร หัตถกรรม ท่องเที่ยว ฯลฯ สะสมเป็นประสบการณ์ให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำความรู้ขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศในเวลาต่อมา
โดยจากรับสั่งของสมเด็จย่าที่ว่า “คนเราต้องปรับตัว” เป็นเรื่องจริงและสำคัญเสมอ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็ยึดมาใช้ปรับการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในสถานการณ์ต่างๆ
นับจากปี 2531 จนเมื่อการพัฒนาชุมชนบนดอยตุงครอบคลุมทั้งด้านธรรมชาติ เศรษฐกิจ การศึกษาและสาธารณสุขแล้ว มูลนิธิฯ จึงไปมีส่วนร่วมพัฒนาร่วมกับชุมชนอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชนที่มาร่วมพัฒนาประมาณ 1,240,000 คน ได้แก่
2545 โครงการพัฒนาหย่องข่า เมียนมา
2548 โครงการปลูกป่าปางมะหัน จังหวัดเชียงราย
2549 โครงการปลูกป่าและชาน้ำมัน ปางมะหัน จังหวัดเชียงราย
2549 โครงการพัฒนาจังหวัด บัลคห์ อัฟกานิสถาน
2549 โครงการพัฒนาอาเจะห์ อินโดนีเซีย
2552 โครงการปลูกป่าจังหวัดน่าน
2554 โครงการกล้าดี 13 จังหวัดภาคกลาง
2554 โครงการพัฒนาเยนันชอง เมียนมา
2556 โครงการพัฒนาเมืองสาด เมียนมา
2561 โครงการพัฒนาหนองตะยา เมียนมา
2561 โครงการร้อยใจรักษ์ จังหวัดเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม จากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลกและทิศทางของประชาคมโลก ทำให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ฯ เริ่มขยายบทบาทของการปลูกป่าให้เกิดเป็นบริบทของประเทศไทยกระแสความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมกำลังจะเป็นกระแสหลักที่แยกไม่ออกจากด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ประเทศที่ไม่ตื่นตัวก็จะถูกผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และประเทศไทยก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้ทั้งจากภาคเอกชน ตลาดหลักทรัพย์ องค์การก๊าซเรือนกระจก และกระทรวงทรัพยากร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็ใช้ประสบการณ์ด้านการดูแลป่าเข้ามาช่วยให้เกิดเป็น
มิติใหม่ของป่า
มูลนิธิฯ ได้ทำลองทำงานร่วมกับประชาชนในอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และอำเภอแม่ลาน้อย ร่วมกันพัฒนาป่าชุมชนที่นอกจากจะสร้างกลุ่มอาชีพจากป่าแล้ว ยังร่วมกันพัฒนามาตรฐานของป่าเพื่อนำไปสู่รายได้ที่ยั่งยืนจากคาร์บอนเครดิต จนพร้อมจะขยายไปยังอีก 16 ป่าชุมชนในเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา รวมพื้นที่สองหมื่นไร่ตั้งแต่เริ่มโครงการบนดอยตุง มีการจัดตั้งบริษัทนวุติฯ โดยภาคเอกชนต่างๆ เข้ามาสนับสนุน นั่นเลยเป็นค่านิยมร่วมของมูลนิธิฯ ซึ่งจากนี้ไปจะยิ่งสำคัญเพราะทุกฝ่ายต้องการร่วมแก้ปัญหาสังคม แต่ถ้าไม่ร่วมกันก็จะไม่เกิดพลังเพื่อที่จะสำเร็จ