"อุเทน โลหชิตพิทักษ์" นั่งเก้าอี้ซีอีโอ เคลื่อนพฤกษาแทน "ทองมา"

"อุเทน โลหชิตพิทักษ์" นั่งเก้าอี้ซีอีโอ เคลื่อนพฤกษาแทน "ทองมา"

เขย่าโครงสร้างบริหารใหม่ "พฤกษา" ดัน "อุเทน โลหชิตพิทักษ์" จากแม่ทัพนั่งเก้าอี้ "ซีอีโอ" หลัง "ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์" แจ้ง ตลท. ลาออกจากตำแหน่ง ซีอีโอ โดยจะมีผล 1 ก.พ.2566 จับตาทิศทางการเคลื่อนทัพธุรกิจโตต่อจากนี้ภายใต้บริหารมืออาชีพอย่างแท้จริง

“พฤกษา”  ก่อตั้งในปี 2536 และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทมหาชนในปี 2548 เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ทั้งทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว อาคารชุด และมีโรงงานพรีคาสท์ถึง 7 แห่งในจังหวัดปทุมธานี ทั้งบุกตลาดสร้างบ้านโดยคำนึงถึงกำลังซื้อของลูกค้าทุกระดับไม่ว่าน้อยหรือมาก และในปี 2559 ได้จัดตั้งบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจใหม่ ๆ ตามแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท

จากนั้นยังเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวไม่หยุดตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการ “เขย่าโครงสร้างผู้บริหาร” ดึงมืออาชีพเข้ามาเสริมทรัพย์หลายระลอก ล่าสุดบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร การดำรงตำแหน่ง และสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง ดังนี้ 

เรื่อง รับทราบการขอลาออกจากตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และประธานกรรมการบริหารของ นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์  จากมติที่ประชุมคณะกรรมการของบมจ. พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) ครั้งที่ 9/2565 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีผลการลาออกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

โดยได้แต่งตั้งนายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ให้รับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร แทนนายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์  
 

นอกจากนี้ ยังมีการแจ้ง ถึงการ ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการบริหารใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป เช่นกัน 


โดยคณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 11 ราย ได้แก่ 

นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ รองประธานกรรมการบริหาร
นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการบริหาร
นายปิยะ ประยงค์ กรรมการบริหาร
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ กรรมการบริหาร
นางสาวพรภัทร องนิธิวัฒน์ กรรมการบริหาร
นายพรเทพ ศุภธราธาร กรรมการบริหาร
นางสาวอังคณา ลิขิตจรรยากุล กรรมการบริหาร
นางสาวสุรวีย์ ชัยธารงค์กูล กรรมการบริหาร
นายคเณศ กาญจนแก้ว กรรมการบริหาร
นางสาวมธุกร ศัลยพงษ์ กรรมการบริหาร

อย่างไรก็ตาม ระบุ การลาออกนั้น นายทองมานั้น  จะยังคงมีตำแหน่งเป็น รองประธานกรรมการบริษัท กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน กรรมการกำกับการบริหารความเสี่ยง กรรมการบริหารและกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม อยู่

โดยเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ได้ดึงนายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ผู้บริหารที่มีประสบการณ์โชกโชนในอสังหาฯและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศจาก เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ นั่งแท่น กรุ๊ป ซีอีโอ พฤกษา โฮลดิ้ง ด้วยกัน ร่วมดูแลบริหารงานเชิงกลยุทธ์ และด้านปฏิบัติการต่างๆ ในกลุ่มพฤกษา เพื่อต่อยอดธุรกิจอสังหาฯกับ ธุรกิจใหม่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม  2565 

จากนั้นได้พลิกโมเดลการทำธุรกิจใหม่ ภายใต้กรอบแนวคิด “พฤกษา…ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต Tomorrow. Reimagined.” โดยให้ความสำคัญต่อ 3 แกนหลักที่เปลี่ยนแปลงตามเมกะเทรนด์โลก เพื่อเสริมจุดแข็งของพฤกษา

1. เทรนด์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง (lifestyle Disruption) 
2.เทรนด์ความใส่ใจเรื่องสุขภาพ (Health & Wellness) 
3.การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) 


แตกไลน์ธุรกิจพลังงานทดแทน

เริ่มจากด้วยการจับมือกับร่วมกับ กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ “บริษัท ปัน นิวเอนเนอจี จำกัด” สัดส่วนการถือหุ้น 50:50 เพื่อต่อยอดและสร้างจุดแข็งใหม่สำหรับโครงการของพฤกษา

โดยมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ จำหน่ายและติดตั้ง Solar Roof มูลค่าโครงการร่วม 1,500 ล้านบาท ทั้งการขายติดตั้งแบบเบ็ดเสร็จ ( EPC) และการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ มีผลตอบแทนส่วนลดค่าไฟในระยะยาว (PPA) เพื่อช่วยลูกค้าลดเงินลงทุน และได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยมีการคิดค่าไฟฟ้าที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ด้วย และสามารถให้บริการลูกค้าได้กว่า 12,500 ครัวเรือน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 126,000 ตัน ภายในระยะเวลา 5 ปี

โดยมีแผนทดลองโมเดลหมู่บ้านที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทดแทนการใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการขยายสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีจัดเก็บพลังงานในอนาคตอีกด้วย ถือเป็นการสร้างประโยชน์ต่อลูกบ้านในการประหยัดค่าไฟฟ้าและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว


ขยายไลน์ธุรกิจโรงพยาบาลสู่ชุมชน

ด้านโรงพยาบาลวิมุต มีการขยายไลน์ธุรกิจ ด้วยการสร้างศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพสำหรับครอบครัวและผู้สูงอายุ “วิมุต เวลเนส” ตั้งอยู่ด้านหน้าโครงการพฤกษา อเวนิว บางนา วงแหวน โครงการที่อยู่อาศัยที่ออกแบบบ้านให้เป็นบ้านเพื่อสุขภาพ (Healthy Home) สำหรับทุกวัย ไปจนถึงให้บริการดูแลสุขภาพถึงบ้านด้วยแพทย์เฉพาะทาง รวมทั้งบริการผ่านระบบออนไลน์ (Telemedicine) เพื่อจะสร้างโครงการให้เป็นชุมชนสุขภาพดี (Wellness Living Community) ภายใต้แนวคิดของ “อยู่ดี มีสุข” (Live Well, Stay Well)   ในรูปแบบโรงพยาบาลกายภาพบำบัด บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป และมีบริการดูแลผู้สูงอายุ

ถือเป็นการลงทุน"ต่อยอด"บริการด้านสุขภาพที่ตอบโจทย์การเข้าถึงบริการสุขภาพตั้งแต่อยู่ที่บ้าน ทำให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการ และชุมชนใกล้เคียงอุ่นใจ เพราะมีโรงพยาบาลอยู่ใกล้แค่เอื้อม เป็นอีกหนึ่งสเต็ปที่เข้ามาเติมเต็มโมเดลการพัฒนาบ้านสุขภาพดีของพฤกษาที่มุ่งผสานความแข็งแกร่งจาก 2 ธุรกิจได้แก่ เรียลเอสเตท และ เฮลท์แคร์ 

โดยมีแผนจะเปิด ซีเนร่า วิมุต เฮลท์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับเจเอเอสแอสเซ็ท เปิดเป็นศูนย์ฟื้นฟูและดูแลสุขภาพสำหรับครอบครัวและผู้สูงอายุ โดยตั้งอยู่ภายในพื้นที่โครงการ ซีเนร่า ซีเนียร์ เวลเนส ถนนคู้บอน เพิ่มอีก 1 แห่ง โดยตั้งเป้าขยายสาขา วิมุต เวลเนส ปีละ3-4 แห่ง

เพิ่มโอกาสในธุรกิจใหม่ผ่านสตาร์ทอัพ

พร้อมกันนี้มีการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน Prop Tech และ Health Tech ผ่านโครงการการลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพ ( Corporate Venture) โดยในครึ่งปีแรก ได้ลงทุนใน “ Naluri”  (นัลลูรี่)ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพดิจิทัล (Digital Preventive Wellness ) เฮลท์เทคจากมาเลเซีย และ “AMILI” บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้านจุลชีพในระบบทางเดินอาหารที่มีความแม่นยำแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสิงคโปร์

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่อยู่รอดของพฤกษาด้วยการลดความเสี่ยงจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางวิกฤติจากภาวะเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นั่นเอง