เสนา ดีเวลลอปเมนท์ชูหมุดหมายใหม่‘LIFELONG TRUSTED PARTNER’

เสนา ดีเวลลอปเมนท์ชูหมุดหมายใหม่‘LIFELONG TRUSTED PARTNER’

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ในยุค VUCA World ด้วยเช่นกัน เพื่อรองรับกับพฤติกรรมลูกค้าและตลาดที่เปลี่ยนไป “เสนา ดีเวลลอปเมนท์” ปรับโครงสร้างองค์กรใหญ่ครั้งแรกในรอบ40ปีจากคนขายบ้านสู่“Lifelong Trusted partner”

ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันเสนาฯ ได้ปรับโครงสร้างใหม่ หลังจากไปเทคโอเวอร์บริษัท เจ.เอส.พี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JSP เปลี่ยนเป็นบริษัท เสนาเจ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ SENAJ ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาฯ ที่มีบริการตกแต่ง ฯลฯ

แม้จะเป็นธุรกิจที่มีรายได้ไม่มากเทียบกับการขายอสังหาฯ แต่เป็นการปรับตัวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งระยะยาวในน่านน้ำใหม่เพื่อสร้างรายได้และลดความเสี่ยงด้วยการขยายโอกาส ร่วมทุนพันธมิตรตอบโจทย์เมกะเทรนด์ อาทิ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย บริการบริหารนิติโครงการ ธุรกิจขายบ้านมือสอง นายหน้าอสังหาฯ

“การปรับโครงการองค์กรจาก property developer สู่การเป็น lifelong trusted partner เพราะเราไม่ได้อยากเป็นแค่คนขายบ้านรอบเดียวแต่อยากเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิด เพราะมีหลายสินค้าและบริการหลายอย่างไม่จำเป็นต้องซื้อบ้านใหม่ ซื้อบ้านเก่าก็ได้ เพราะคนก็กู้ลำบากมากขึ้น”

ยังไม่จบแค่นั้น เสนาฯ ยังคิดต่อ...กับทุกช่วงชีวิตของลูกค้าตามบริบทที่เสนาฯ ทำได้ ด้วยการขยายขอบเขต ไม่ว่าโซลาร์ บ้านมือสอง รับบริหาร เฮลธ์แคร์  จะเห็นว่าเป็นปัญหาที่สามารถแก้ได้จากบ้านเสนาฯ เพื่อให้ลูกค้าทุกคนดูแลตนเองเบื้องต้นได้ที่บ้าน เรียกว่า การบริการปฐมภูมิ (Primary Care) ที่ซื้อบ้านจากเสนาฯ ด้วยการทำเครื่องมือให้ลูกบ้านสามารถรับบริการ เทเลเมดิซีน หรือ แพทย์ทางไกล ซึ่งระบบให้คําปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะให้คําปรึกษาหรือวินิจฉัยสุขภาพเสมือน "ติดอาวุธ”ให้กับบ้านที่เสนาฯ ขายอยู่
 

เสนา ดีเวลลอปเมนท์ชูหมุดหมายใหม่‘LIFELONG TRUSTED PARTNER’

“ต่อจากนี้ไปเสนาฯ ไม่ใช่แค่บริษัทขายบ้าน คอนโดมิเนียม เพราะความต้องการของคนยุคใหม่ที่หลากหลายขึ้น ความฝันของคนยุคนี้ ไม่ใช่การมีบ้านเหมือนกับคนสมัยก่อน และแนวโน้มการซื้อขายบ้าน คอนโด เฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เคยมีมูลค่าต่อปีหลายแสนล้านบาทในอีก 10-20 ปีลดลงเรื่อยๆ”

หลังจากรับไม้ต่อจากคุณพ่อ “เกษรา”  นำพาองค์กรรอดจากวิกฤติต่างๆ มาถึงทุกวันนี้นั้น มีทั้งขาขึ้นและขาลงในตลาดอสังหาฯ 

“ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราชกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนะ การทำธุรกิจเป็นการต่อสู้ระยะยาว และเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพราะเมื่อไรที่หยุดก็คือจบ”

จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นหลายคนที่เข้ามาในวงการอสังหาฯ พร้อมทำและเลิกได้ง่าย เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีโรงงาน จะปิดตัวลงเมื่อไรก็ได้ แต่ความยากคือ ต้องพัฒนาโครงการตลอดเวลาเพราะเป็น ”โปรเจคเบส” ดังนั้นจะต้องมีแรงที่อยากจะเรียนรู้ พัฒนาโครงการใหม่ตลอดเวลาจึงต้องใช้แรงอึดต่อเนื่อง

ดร.ยุ้ย ระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจมาทำธุรกิจอสังหาฯ ต่อจากคุณพ่อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำที่อยู่อาศัยคือการทำสิ่งที่มีค่าที่สุดของคน คนซื้อบ้านโดยเฉพาะในเซ็กเมนต์คนชั้นกลางบ้านเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดในชีวิตเขา เราไม่ค่อยเห็นคนซื้ออะไรแล้วให้พระมาเจิมหรือให้พ่อแม่จากต่างจังหวัดมาเปิดบ้านใหม่

“เรารู้สึกภูมิใจ การที่เขาเลือกซื้อบ้านเรา เพราะดีิเวลลอปเปอร์มีเป็น 100 ราย การที่เขาซื้อของสำคัญที่สุดในชีวิตจากเราทำให้อยากทำของชิ้นนี้ที่ซื้อจากเรามีมูลค่าและดีขึ้นเรื่อยๆ”

ย้อนกลับก่อนที่จะรับไม้ต่อจากคุณพ่อมาบริหาร เนื่องจากคุณพ่อไม่สบายเป็นมะเร็ง ในเวลานั้น ดร.ยุ้ย ยังเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย แต่หลังจากเข้ามาดูงานแทนคุณพ่อและค่อยๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานในบริษัทมากขึ้น จนถึงจุดหนึ่ง ที่ต้องตัดสินใจว่า จะเป็นอาจารย์ต่อไปหรือทำโครงการอสังหาฯ ณ เวลาเวลานี้ ตอบคำถามแล้วว่า ดร.ยุ้ย เลือกที่จะโครงการอสังหาฯต่อ

“มีเหตุผลหลายอย่าง ในเชิงอุตสาหกรรมถือว่ายังเป็นอุตสาหกรรมที่ยังโตได้อยู่  เราเป็นครอบครัวคนจีน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพี่คนเดียวที่คิดถึงเรื่องนี้ในแง่ที่ว่า ถ้าไม่ทำคนอื่นจะทำอย่างไร ปกติพ่อดูแลทุกคน ถ้าพี่ไม่ทำต่อแล้วน้องๆ จะทำอย่างไร จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะกับทุกคนมากกว่า”

หลังเข้ามานั่งบริหารต้องปรับจากการเป็นธุรกิจครอบครัวมากให้เติบโตไปตามภาวะที่ควรจะเป็นจริง “ช่วงแรกๆ ทำผิดเยอะ เพราะขาดประสบการณ์ ใช้วิธีเปิดหนังสือทำตามสไตล์อาจารย์มหาวิทยาลัย เก่งสุดคือ Textbook ฝรั่งด้วย เพราะเรียนมา ซึ่งเรานำมาใช้ในบางเวลาค่อยๆ ปรับตัว เรียนรู้ไป เวลาก็ช่วยให้เราเรียนรู้ว่าอะไรเหมาะ อะไรไม่เหมาะค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน 1,600 คน”

การขับเคลื่อนธุรกิจ “Sustainability” อยู่ในโรดแมปของ เสนา กรุ๊ป ที่จะเป็น "หัวใจ” สำคัญในการพัฒนาคุณภาพของธุรกิจอสังหาฯ และต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคม สุขภาพ ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี  ซึ่งสามารถตอบโจทย์ชีวิตของคนในสังคมอย่างหลากหลายมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด

“Sustainability" คือหนึ่งในวิชั่นของบริษัท คือ วิชั่นการทำธุรกิจของบริษัทเป็น Wave ที่บังคับทิศทางให้วิชั่นบริษัทต้องไปในทิศทางนี้ด้วย 

“Sustainability มีหลายเรื่อง บริษัทไม่ได้ทำธุรกิจทุกประเภท เราทำธุรกิจจริงๆ คือ ที่อยู่อาศัย และธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลายอย่างเช่นธุรกิจให้บริการ และการทำธุรกิจโซลาร์ ในธุรกิจทั้งหมดเรามาดูว่า อะไรที่เกี่ยวของกับ Sustainability แล้วเอาตรงนี้เป็นไดเร็กชั่นที่เกี่ยวข้องกับตัวธุรกิจทั้งหมดในทิศทางเดียวกัน”

ในการพัฒนาธุรกิจของเสนาฯ จะให้น้ำหนักกับ ESG (Environment-Social-Governance) เพราะมีความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลกเต็มไปหมด และสิ่งที่เกิดขึ้นในโซเซียลเป็นความท้าทายว่า ทุกคนในโลกนี้ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งเสนาฯ เข้ามามีร่วมในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นการช่วยแก้ในสิ่งที่เป็นความท้าทายเหล่านั้นและเป็นธุรกิจได้ด้วย

ยกตัวอย่าง ของการยกระดับการพัฒนาจากการบ้านติดโซลาร์มาสู่การพัฒนาบ้านพลังงานเป็นศูนย์ หรือ Zero Energy Housing (ZEH) ตอบโจทย์ธุรกิจสู่ความยั่งยืน ไปสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ปี 2050 โดยอาศัยความรู้จากพันธมิตรญี่ปุ่นลองมาทำวิจัยร่วมกับทางจุฬาฯ นำร่อง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เสนาฯยังให้ความสำคัญกับการบริหารความคาดหวังของลูกค้าจากงานบริการหลังการขายผ่านทางแอปพลิเคชั่น เพื่อแก้ไขปัญหาให้ลูกค้ารวดเร็วขึ้นจากเดิม ซึ่งผลทางอ้อมให้กับเสนาฯ เพราะปัจจุบันโลกเล็กมาก ลูกค้าคนหนึ่งมีเพื่อเพื่อนอีกเป็นหมื่นคน หากทำสินค้าและบริการดีตะเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก 

ดังนั้นเสนาฯ พยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ทุกคนรู้สึกกว่ากำลังการขายของที่สำคัญที่สุดในชีวิตคน และพร้อมที่ให้บริการและแก้ปัญหาลูกค้า จึงเป็นที่มาของ "AN ENSSENTIAL LIFELONG TRUSTED PARTNER”

ส่วนการบาลานซ์ชีวิตสำหรับ ดร.ยุ้ย นั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว! แต่เริ่มต้นจากการเซ็ตหน้าที่ความรับผิดชอบตนเองให้มีความชัดเจนก่อน โดยเฉพาะบทบาทประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น ถือเป็นเรื่องใหม่ ที่ต้องปรับตัว อาทิ การทำดัชนีกับยูเอ็นใหม่ การประชุมกับสมาคมหอการค้า สมาคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ กทม.ไม่เคยทำ ขณะเดียวกันก็ต้องคุยกับคนภายใน กทม.

“เป้าหมายที่อยากทำให้นโบายผู้ว่าฯ สำเร็จ ในฐานะที่ปรึกษา...พี่ชอบคิดว่า อะไรที่แก้ไม่ได้แสดงว่าพี่ยังพยายามไม่ถึงที่สุดเพราะไม่มีทางอื่น เมื่อก่อนไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่พออายุมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้นสอนเรา บางครั้งซึมซับมาจากท่าน ผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นคนที่มีความอดทนสูงมาก บางทีเราไม่รู้วิธีที่ดีที่สุดคืออะไร แต่อย่างน้อยได้ลงมือทำและบางครั้งอย่าเร็วเกินไป”