ลูกบ้านแอชตันอโศกสู้ไม่ถอย!ยื่นศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ วันนี้!
ลูกบ้านแอชตันอโศกยื่นคำร้องศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่พร้อมหลักฐานใหม่ก่อนหมดอายุความ 25 ต.ค.66 นี้ หลังไร้ความคืบหน้าจากอนันดา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คาดใช้เวลาพิจารณา 1 - 6 เดือน
นางสาวเยาวลักษณ์ สุลีสถิระ ในฐานะทนายความนิติบุคคล และลูกบ้าน คอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก กล่าวว่า ในกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาปกครอง มีอยู่หลายเหตุที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ มาตรา 75 (2) ที่ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่ หรือว่า ข้อเท็จจริงใหม่ กรณีที่คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษา แต่ว่าไม่ได้เข้ามาในการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นข้อๆ หนึ่งที่แยกออกมาไม่เกี่ยวกับข้ออื่น ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกข้อ เพราะแต่ละข้อแยกเป็นเอกเทศออกจากกัน สรุปก็คือ เป็นบุคคลภายนอกคดีแต่ได้รับผลกระทบจากคดีโดยตรงแต่ไม่ได้เข้ามาให้การจึงเป็นเหตุที่เข้าไปได้ ถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่บังคับว่าต้องมีเหตุผลลำพังแค่ข้อนี้ก็สามารถขอยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีแอชตัน อโศก ได้แล้ว
ขณะเดียวกันเราได้ทำการศึกษาข้อมูลแล้วว่า หากได้รับการพิจารณาคดีใหม่ในคดีแอชตัน อโศก ได้แล้วจะมีเหตุอะไรที่สามารถให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ จึงได้ดูข้ออื่นประกอบด้วย ข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใหม่ ที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ ข้อแรกคือ ทางลูกบ้านแอชตัน อโศกได้ไปติดต่อขอข้อมูลจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เพื่อหาข้อมูลมาประกอบเพราะมีความเชื่อว่าที่ดินตรงหน้าโครงการแอชตัน อโศก น่าจะใช้เป็นงานโครงสร้างหรืองานระบบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานีรถไฟฟ้าสุขุมวิท การตีความว่าจากคำพิพากษาว่าไม่ได้มีกล่าวถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ดินบริเวณนั้น ซึ่งเบื้องต้นทาง รฟม.ให้ข้อมูลว่าน่าจะมีข้อมูลแต่ขอตรวจสอบก่อน
"ทางทีมทนายก็เห็นว่า ระยะเวลาในการขอพิจารณาคดีใหม่กำลังครบในวันที่ 25 ต.ค.66 นี้ แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลจากทาง รฟม. ดังนั้นการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีแอชตัน อโศกในวันนี้ (19 ต.ค.66) จึงเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะใกล้จะหมดเวลาแล้ว จึงต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้ก่อนเพื่อรักษาสิทธิ เพราะถ้ามีการใช้สิทธิประโยชน์ใต้ดินของ รฟม. จริง เท่ากับว่า ได้ใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้วแค่มาให้ทางโครงการแอชตัน อโศก ใช้ทางออกร่วมซึ่งประเด็นนี้ไม่เคยถูกหยิบยกมาใช้ในการพิจารณาคดีแอชตัน อโศก ที่ผ่านมา"
ส่วนอีกประเด็นก็คือ จากข้อมูลโครงการอื่นที่ใช้ทางเข้าออกของ รฟม.เหมือนกันพบว่า ทุกโครงการ รฟม.จะมีข้อสงวนสิทธิ์ว่า รฟม. สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางเข้าออกได้ ซึ่งครั้งที่แล้วศาลปกครองบอกว่าถ้ามีเงื่อนไขว่าเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทางเข้าออกนี้ ไม่มั่นคงถาวรแต่จากการตรวจสอบทุกโครงการจากข้อมูลที่หาได้ ที่เปิดเผยในเว็บไซต์สาธารณะ ซึ่งมีตัวอย่าง 2-3 โครงการที่อยากเสนอให้ศาลเห็นว่า ถ้าโครงการแอชตัน อโศกเกิดติดขัดไม่สามารถใช้ทางเข้าออกได้ด้วย เหตุผลที่ศาลระบุว่า "ไม่ใช่" ทางถาวร รฟม. สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางเข้าออกได้ตลอดนั้น โครงการอื่นก็เป็นเหมือนกัน
ทางลูกบ้านอยากจะนำเสนอให้ศาลเห็นว่า เจตนาที่แท้จริงของรฟม.การที่เขาอนุญาตหลายโครงการไม่เฉพาะ แอชตัน อโศก มันไม่น่าจะเป็นเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะอนันดาเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบโครงการสถานีรถไฟฟ้ามากกว่า และการที่ รฟม.ออกใบอนุญาตในลักษณะนี้ให้ทุกคนแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงจะไม่ให้ทางเข้าออก ถือว่าเป็นหลักฐานใหม่! ซึ่งในคดีเดิมไม่ได้มีการนำเสนอเอาไว้ว่า มีอีกหลายโครงการที่มีการอนุญาตในลักษณะเงื่อนไขเดียวกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์