ลูกบ้าน‘แอชตัน อโศก’เดินหน้าสู้ยื่นศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่
ลูกบ้าน‘แอชตัน อโศก’เดินหน้าสู้ ยื่นศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ ก่อนหมดอายุความวันที่ 25 ต.ค.นี้ หลังไร้ความคืบหน้าจากอนันดา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คาดใช้ศาลใช้เวลาพิจารณา 1- 6 เดือน
กรณีโครงการคอนโดมิเนียมหรู “แอชตัน อโศก” ของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เป็นคดีความยืดเยื้อมาหลายปีจากการถูกร้องเรียนเรื่องทางเข้า-ออกโครงการ ตามข้อกำหนดอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ รวมถึงการใช้ที่ดินของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ “เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง” เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 ล่าสุด นิติบุคคลอาคารชุด และ “ลูกบ้าน” โครงการ แอชตัน อโศก มอบหมายให้ นายพิสุทธิ์ รักวงษ์ และนางสาวเยาวลักษณ์ สุลีสถิระ จากสำนักงานกฎหมาย พิสุทธิ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัดในฐานะทนาย มายื่นคำร้องขอศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ ก่อนหมดอายุความวันที่ 25 ต.ค.นี้ หลังไร้ความคืบหน้าจากอนันดา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คาดใช้ศาลใช้เวลาพิจารณา 1- 6 เดือน
พิสุทธิ์ รักวงษ์ และ เยาวลักษณ์ สุลีสถิระ จากสำนักงานกฎหมาย บริษัท พิสุทธิ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด ในฐานะทนายความนิติบุคคล และลูกบ้าน คอนโด แอชตัน อโศก กล่าวว่า ได้ยื่นคำร้องขอศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ มีประเด็นดังต่อไปนี้ ประเด็นที่ 1 วัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนจาก พ.ร.ฎ. 2 ฉบับ ได้แก่
พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2538 ระบุวัตถุประสงค์ในการเวนคืนว่า “เพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก”
พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน (ฉบับที่2) พ.ศ. 2539 (เป็นฉบับที่ออกมาเพื่อแก้ไข ฉบับปี พ.ศ. 2538 ในส่วนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่เวนคืนไม่ได้ระบุเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการเวนคืน
โดยเหตุผลในการขอพิจารณาคดีใหม่ มี พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนที่ดินที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณโครงการแอชตัน อโศก ทั้งสิ้น 9 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการเวนคืนไว้
เจ้าของร่วมเห็นว่าการพิจารณาวัตถุประสงค์ของการกำหนดเขตที่ดินที่เวนคืนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจึงต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาทุกฉบับซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินประกอบกัน
พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็น พ.ร.ฎ. ฉบับล่าสุดเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระบุวัตถุประสงค์ว่า “เพื่อสร้างหรือจัดให้มีการขนส่งโดยรถไฟฟ้าและที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟฟ้า และธุรกิจอื่นเพื่อประโยชน์แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และประชาชนในการใช้บริการกิจการรถไฟฟ้า”
การที่ รฟม.อนุญาตให้ใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออกโครงการโดยได้รับการตอบแทนเป็นอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยเป็นการ “จัดให้มีสถานที่จอดรถ” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “กิจการรถไฟฟ้า” ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการเก็บค่าบริการจอดรถให้กับ รฟม. โดยที่ รฟม. ไม่ได้สูญเสียประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน
ประเด็นที่ 2 อำนาจ รฟม. ศาลปกครอง ชี้ว่า รฟม. ไม่มีอำนาจนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนมาอนุญาตให้ใช้เป็นทางเข้าออกโครงการ ซึ่ง เหตุผลในการขอพิจารณาคดีใหม่ หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา รฟม. ได้แก้ไขปรับปรุงทางเข้า-ออก โครงการแอชตัน อโศก โดยใช้ประโยชน์ให้เป็นทางเข้า-ออก ที่จอดรถของ รฟม. เพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชน อันเป็นการใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว รฟม.จึงน่าจะอนุญาตให้ใช้ที่ดินดังกล่าว เป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก เพิ่มเติมจากการใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนได้
จากการที่เจ้าของร่วมใช้ทางเข้า-ออก โครงการเป็นประจำทุกวัน เจ้าของร่วมเชื่อว่า รฟม. ได้ใช้บริเวณพื้นที่ใต้ดินของทางเข้า-ออกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสุขุมวิทที่ประกอบไปด้วยอาคารสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและระบบรางรถไฟฟ้าใต้ดินอันเป็นกิจการรถไฟฟ้าซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว ดังนั้น การอนุญาตให้ที่ดินดังกล่าว เป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศกร่วมกับการใช้เป็นทางเข้า-ออก ที่จอดรถของ รฟม. จึงไม่ได้กระทบต่อวัตถุประสงค์การเวนคืน และไม่ได้เป็นการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์แก่โครงการแอชตัน อโศก เท่านั้น
ในประเด็นนี้นิติบุคคลจะขอให้ศาลออกตรวจสถานที่พิพาทและมีคำสั่งให้ รฟม.จัดส่งแผนผังและระบบงานใต้ดินเพื่อประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลด้วย ซึ่งหาก รฟม.ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ดินทางเข้า-ออก ดังกล่าวจะทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ แม้ศาลปกครองจะเห็นว่าการใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออก โครงการยังคงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน แต่เมื่อหลักการที่รัฐต้องใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนมุ่งหมายที่จะคุ้มครองเจ้าของที่ดินเดิมหรือทายาท (กำหนดให้มีสิทธิขอคืนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนได้) แต่ปรากฏว่าพ้นกำหนดเวลาที่เจ้าของที่ดินเดิมหรือทายาทจะขอคืนที่ดินแล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดของ รฟม. ดังนั้น รฟม.จึงอนุญาตให้ใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางเข้า-ออกโครงการได้
“เราได้ทำการศึกษาข้อมูลแล้วว่าหากได้รับการพิจารณาคดีใหม่ในคดีแอชตัน อโศก จะมีเหตุอะไรที่สามารถให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ จึงได้ดูข้ออื่่นประกอบด้วย ข้อเท็จจริง หรือหลักฐานใหม่ ที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้”
ทั้งนี้ ลูกบ้านแอชตัน อโศก ได้ไปติดต่อขอข้อมูลจาก รฟม. เพื่อมาประกอบเพราะมีความเชื่อว่าที่ดินตรงหน้าโครงการแอชตัน อโศก น่าจะใช้เป็นงานโครงสร้าง หรือ งานระบบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานีรถไฟฟ้าสุขุมวิท การตีความจากคำพิพากษาว่าไม่ได้มีการกล่าวถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ดินบริเวณนั้น เบื้องต้นทาง รฟม.ให้ข้อมูลว่าน่าจะมีข้อมูลแต่ขอตรวจสอบก่อน
ทั้งนี้ ทีมทนายเห็นว่า ระยะเวลาในการขอพิจารณาคดีใหม่กำลังจะครบในวันที่ 25 ต.ค. นี้ แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลจากทาง รฟม. ดังนั้นการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดี แอชตัน อโศก วานนี้ (19 ต.ค.) จึงเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะใกล้จะหมดเวลาแล้ว จึงต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้ก่อนเพื่อรักษาสิทธิ
"เพราะหากมีการใช้สิทธิประโยชน์ใต้ดินของ รฟม. จริง เท่ากับว่า ได้ใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้ว แค่มาให้ทางโครงการแอชตัน อโศก ใช้ทางออกร่วม ซึ่งประเด็นนี้ไม่เคยถูกหยิบยกมาใช้ในการพิจารณาคดีแอชตัน อโศก ที่ผ่านมา เป็นประเด็นแรก”
ทีมทนายยังได้ศึกษาข้อมูลโครงการอื่นที่ใช้ทางเข้าออกของ รฟม. เหมือนกันพบว่า ทุกโครงการ รฟม.จะมีข้อสงวนสิทธิ์ว่า รฟม. สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางเข้าออกได้ ซึ่งครั้งที่แล้วศาลปกครองระบุว่าถ้ามีเงื่อนไขว่าเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทางเข้าออกนี้ ไม่มั่นคงถาวร แต่จากการตรวจสอบทุกโครงการจากข้อมูลที่หาได้ที่เปิดเผยในเว็บไซต์สาธารณะ มีตัวอย่าง 2-3 โครงการที่อยากเสนอให้ศาลเห็นว่า ถ้าโครงการแอชตัน อโศก เกิดติดขัดไม่สามารถใช้ทางเข้าออกได้ด้วยเหตุผลที่ศาลระบุว่า “ไม่ใช่” ทางถาวร รฟม. สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางเข้าออกได้ตลอดนั้น โครงการอื่นก็เป็นเหมือนกัน
ทางลูกบ้านอยากนำเสนอให้ศาลเห็นว่า เจตนาที่แท้จริงของ รฟม.การที่อนุญาตหลายโครงการไม่เฉพาะ แอชตัน อโศก ไม่น่าจะเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะอนันดาเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบโครงการสถานีรถไฟฟ้ามากกว่า และการที่ รฟม. ออกใบอนุญาตในลักษณะนี้ให้ทุกคนแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงจะไม่ให้ทางเข้าออก ถือว่าเป็นหลักฐานใหม่! ซึ่งในคดีเดิมไม่มีการนำเสนอเอาไว้ว่า มีอีกหลายโครงการที่มีการอนุญาตในลักษณะเงื่อนไขเดียวกัน
ล่าสุด รฟม. ได้มีการปรับพื้นที่ให้มีการเข้าออกที่จอดรถอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทางลูกบ้านมองว่า ต่อให้ศาลมองว่าช่วงเวลาหนึ่งที่มีการปิดทางเข้าออกตรงนั้นให้อนันดาใช้ในการก่อสร้าง แต่ปัจจุบันหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา รฟม. ได้ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว จึงน่าจะถือว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ ถือว่าได้ใช้ที่ดินตรงตามวัตถุประสงค์ แห่งการเวนคืนแล้ว
เยาวลักษณ์ ระบุว่า หากไปดูกฎหมายแห่งการเวนคืนจะคุ้มครองเจ้าของที่ดินเดิม หรือ ทายาท ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเวนคืนมา แล้วนำที่ดินไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ คนที่จะขอที่ดินเดิมได้ต้องเป็นเจ้าของที่ดินเดิม หรือทายาท มีระยะเวลาตามกฎหมาย คือ ไม่เกิน 2 ปี นับจากที่เวนคืนไป
ซึ่งตรงนี้ “เราพยายามแสดงให้ศาลเห็นว่า เลยระยะเวลาในการคุ้มครองที่ดินเดิมแล้ว ต่อให้ศาลมองว่าไม่ถูกต้อง ต้องแก้ให้ได้ แต่อยากนำเสนอให้ศาลเห็นว่า คนที่กฎหมายคุ้มครองหมดสิทธิ์ที่จะขอเวนคืนแล้ว”
ดังนั้น อยากให้ศาลพิจารณาในแง่ของการที่ปัจจุบันได้แก้ไขพื้นที่ตรงจุดประสงค์การเวนคืนพื้นที่แล้ว เพื่อนำมาใช้เป็นทางออกร่วมกัน อยากให้ศาลใช้ดุลยพินิจทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งมีหลายเหตุผลประกอบกันในการยื่นคำร้องศาลปกครองพิจารณาคดีแอชตัน อโศกใหม่
“หลังจากยื่นศาลจะพิจารณาก่อนว่าจะรับไว้พิจารณาคดีใหม่หรือไม่ ซึ่งระยะเวลาขึ้นอยู่กับศาลพิจารณาแต่ละคดีไม่เท่ากันจากประสบการณ์เร็วสุด 1 เดือนไปจนถึง 6 เดือน”
ธนา เตรัตนชัย กรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก กล่าวว่า เหตุผลที่มายื่นคำร้องศาลปกครองพิจารณาคดี “แอชตัน อโศก” ใหม่ เพราะนิติบุคคลและเจ้าของร่วม (ลูกบ้าน) เห็นว่า แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะออกมาระบุว่าอยู่ระหว่างการแก้ไข
"แต่ไม่รู้ว่าจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหนจึงไม่อยากอยู่นิ่งเฉย เพราะตอนนี้ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย คือ ลูกบ้านได้รับความเดือดร้อน เสียหาย ไม่มีใครกล้าซื้อต่อ รีไฟแนนซ์ไม่ได้"
ทางนิติบุคคลและเจ้าของร่วม (ลูกบ้าน) จึงพร้อมที่จะสู้! โดยใช้สิทธิที่มีอยู่ตามกฏหมายที่เปิดช่องให้ดำเนินการ เพื่อขอความเมตตาจากศาลพิจารณาคดีใหม่ ก่อนหมดอายุความภายใน 90 วัน ซึ่งก็คือวันที่ 25 ต.ค.นี้