ลูกบ้านแอชตันอโศกเดือดจ่อฟ้องอนันดาเรียก5พันล้านจี้ประชุมร่วมใน7วัน
ลูกบ้าน แอชตัน อโศกเดือด! จ่อฟ้อง “อนันดา” เรียกค่าเสียหายกว่า 5 พันล้าน ไม่รวมดอกเบี้ย พร้อมจี้แสดงความจริงใจเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนนิติบุคคลภายใน 7 วันตั้งทีมทนายพิจารณาร่างคำร้องขอให้ศาลพิจาณาคดีใหม่ปกป้องสิทธิหลัง 'อนันดา'ร่อนจดหมายระบุลูกบ้านรับรู้คดีมาตลอด
มหากาพย์ “แอชตัน อโศก” หนึ่งในโครงการคอนโดมิเนียมหรูภายใต้ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) มีประเด็นร้อนระอุต่อเนื่อง โดยวานนี้ (3 ส.ค.) เวลา 9.30 น. “อนันดา” ในนาม บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้ส่งหนังสือชี้แจงการแก้ปัญหาสืบเนื่องจากเหตุการณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โครงการแอชตัน อโศก เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 ขณะที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการแถลงประเด็นโครงการแอชตัน อโศก 10:00น.เผยไทม์ไลน์ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า กทม. ได้มีการแจ้งทักท้วงเรื่องแบบแปลนและที่ดิน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปแล้วรวม 3 ครั้ง ระหว่างปี 2558-2559 จากนั้นราว 16.00 น. ตัวแทนนิติบุคคลอาคารชุด “แอชตัน อโศก” ตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้ “อนันดา” พร้อมเผยแนวทางดำเนินการต่อจากนี้
จ่อฟ้องอนันดา “5พันล้าน” ไม่รวมดอกเบี้ย
นายพิสุทธิ์ รักวงษ์ ทนายความ ของ นิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน อโศก กล่าวว่า จากการออก Company Statement ของอนันดา วานนี้ (3 ส.ค.) ได้แจงว่า "ลูกบ้านได้รับทราบผลกระทบของโครงการมาโดยตลอด" สะท้อนให้เห็นว่า อนันดากำลังยกข้อต่อสู้ในทางคดีในเรื่องของการรอนสิทธิ เพราะเท่ากับว่าลูกบ้านรู้ดีอยู่แล้วแต่กลับสมัครใจรับโอนห้องชุด เท่ากับเป็นการปฏิเสธความรับผิดทั้งหมดตกไปแก่ลูกบ้าน
“นี่คือเจตนาที่แท้จริงของอนันดา ที่ไม่ยอมทำบันทึกข้อตกลงกับลูกบ้านช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดปัญหาเพื่อชดใช้กับลูกบ้านทั้งหมดวันนี้จึงถือเป็นแถลงการณ์ที่สำคัญของลูกบ้าน แอชตัน อโศก ซึ่งแต่ละคนไม่มีความรู้ทางกฏหมาย แต่อนันดากำลังใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อตั้งข้อต่อสู้กับลูกบ้าน จึงแถลงการณ์ให้กับลูกบ้านและสื่อมวลชนทราบ”
ทั้งนี้ ลูกบ้านกำลังพิจารณาฟ้องร้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางแพ่งและทางอาญา รวมถึงคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มกับทางอนันดา รวมถึง มิตซุย ฟูโดซัง เป็นบริษัทร่วมทุน ในโครงการนี้ โดยค่าเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท เท่ามูลค่าโครงการไม่รวมดอกเบี้ย
“ผมในฐานะตัวแทนนิติบุคคลและลูกบ้านโครงการแอชตัน อโศก ขอเรียกร้องให้ทางอนันดา แสดงความจริงใจในการเข้ามาร่วมประชุมกับตัวแทนของนิติบุคคล ถ้าหากเป็นความเข้าใจผิดของพวกเราภายในกำหนด 7 วัน นับตั้งแต่วันนี้ มิเช่นนั้นเรามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เราต้องการให้อนันดาแสดงความรับผิดชอบ”
ร่างคำร้องขอให้ศาลพิจาณาคดีใหม่
สำหรับมาตรการทางกฎหมายหลังจากที่ได้ข้อเท็จจริงใหม่มาว่า พื้นที่ทางเข้าสถานีรถไฟฟ้า สุขุมวิท บริเวณด้านล่างของทางจำเป็น เป็นส่วนหนึ่งของสถานีรถไฟฟ้า สุขุมวิท ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้มีการนำเสนอเข้าไปในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน อโศก จึงไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าไปร่วมพิจารณา
“ขณะนี้ทีมกฎหมายกำลังพิจารณาร่างคำร้องขอให้ศาลพิจาณาคดีใหม่ ตรงนี้ไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออนันดา แต่เป็นการปกป้องสิทธิของลูกบ้านทั้งหมด”
นอกจากนี้ จะนำข้อต่อสู้จากทฤษฎีความได้สัดส่วน จากสมัยก่อนที่มีคดีแปรรูปรัฐวิสาหกิจของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลพิพากษาว่า หากให้เพิกถอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของ ปตท.จะทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง และประเด็นนี้ทีมกฎหมายมองว่านำมาเทียบเคียงได้ กับกรณี แอชตัน อโศก ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรการที่ลูกบ้านกำลังจะดำเนินการต่อจากนี้
ยื่นหนังสือผู้ว่า กทม.ช่วยเหลือลูกบ้าน
นางสาวกุลชลิกา รุ่งวรา ลูกบ้านของโครงการ แอชตัน อโศก กล่าวว่า เมื่อ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ลูกบ้านได้เข้าไปพบและยื่นหนังสือต่อ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้กล่าวว่า “พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือลูกบ้าน” พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการอนุญาตก่อสร้างของ กทม. และได้ให้ความมั่นใจกับลูกบ้านว่า สามารถอาศัยอยู่ในตึกนี้ได้เหมือนเดิม สามารถเข้าออกได้เหมือนเดิม
“เราขอความกรุณาให้ผู้ว่าฯ กทม. ออกใบอนุญาตใหม่ เพราะลูกบ้านซื้อสิ่งที่ถูกตามราชการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างอนันดาและราชการ ไม่เกี่ยวกับลูกบ้าน อยากให้ทางภาครัฐเห็นใจลูกบ้าน เราไม่อยากอยู่ด้วยความกลัว”
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการเข้ามาอยู่ในโครงการ จะได้รับเอกสารจาก “อนันดา” ที่มีคำว่า “คดี” ทุกครั้ง แต่เราไม่ทราบรายละเอียดของคดีว่าอนันดาพิพาทกับใคร ทุกครั้งที่ถามเจ้าหน้าที่อนันดา จะบอกว่าผู้ฟ้องร้อง คือ ชาวบ้านข้างเคียง มีปัญหากับชาวบ้านในการก่อสร้าง แต่ไม่เคยมีปัญหากับใคร เมื่อถามว่ามีปัญหาสำคัญกับหน่วยงานราชการในการอนุมัติเอกสารหรือไม่ ก็ไม่บอกข้อเท็จจริงว่ากำลังถูกฟ้องร้องกับราชการเรื่องอะไร เพราะหากบอกรายละเอียดชัดเจน ไม่มีลูกบ้านคนใดอยากยินยอมเสี่ยงภัยในการซื้อทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ไม่มีที่นี่ที่เดียว คอนโดมิเนียมมีตลอดแนวรถไฟฟ้า
ประกาศ “สู้” เพื่อให้ได้บ้านกลับมา
นางสาวกุลชลิกา ระบุ เหตุผลที่ตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก เพราะเข้าใจและเชื่อมั่นในบริษัทว่ามีความสุจริตและจริงใจกับลูกบ้าน แต่ในวันนี้มีเอกสารที่ออกมาจากอนันดา ทำให้รู้ว่า “เป็นสิ่งที่คุณเตรียมการมาแล้วทั้งหมด”
“กระทั่งวันนี้ ( 3 ส.ค). อนันดาบอกกำลังจะต่อสู้กับลูกบ้าน หมายความว่า ทางอนันดากำลังตั้งป้อมต่อสู้กับลูกค้า เชื่อว่าไม่มีผู้ประกอบการคนไหนจะต่อสู้กับลูกค้าที่เชื่อมั่นตึกนี้ที่มีมูลค่า 6,800 ล้านบาท และมั่นใจว่าเขาชนะลูกบ้านตัวเองที่มีความเชื่อมั่นในโครงการ การต่อสู้ในฐานะลูกบ้านจากนี้เป็นการสู้เพื่อบ้านของเรา ไม่ได้สู้เพื่ออนันดา สู้เพื่อได้บ้านกลับมา เอกสารที่ออกมาวันนี้ โครงการดูถูกความเชื่อมั่นของเราตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจซื้อที่นี่ ตั้งแต่ปี 2560, 2561 คดีตัดสินปี 2564 จนถึงคดีตัดสินสิ้นสุด คุณไม่เคยมีความจริงใจกับลูกบ้านเลย”
เรียกร้อง“อนันดา”รับผิดชอบ
ทางด้านนางสาวอนันทชา เมธีธารพงศ์วาณิช ลูกบ้านของโครงการ แอชตัน อโศก กล่าวว่า ลูกบ้านไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีข้อขัดแย้งทางกฎหมายในเรื่องนี้ ทราบเพียงว่ามีปัญหาในเรื่อง “อ6” (ใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร) แต่ไม่ทราบข้อกฎหมายว่าเป็นเรื่องใด และอนันดาก็แจ้งว่าในโครงการมีการโอนไปแล้ว 300-400 ห้อง ประกอบกับการมีเอกสารราชการยืนยันทำให้ตัดสินใจโอนซื้อคอนโดมิเนียม ในราคา 13 ล้านบาท ขนาด 46 ตร.ม. จำนวน 2 ห้องนอน
"หากทราบมาก่อนว่าจะมีปัญหาในเรื่องนี้จะไม่มีลูกบ้านตัดสินใจซื้อโครงการนี้อย่างแน่นอน และการที่อนันดา ออกหนังสือมาครั้งนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าต้องการทะเลาะกับลูกบ้านและลอยตัวอยู่เหนือปัญหา สิ่งที่ลูกบ้านมีความกังวลมากที่สุดตอนนี้ คือ หากมีการฟ้องร้องกับ อนันดา และบริษัทปล่อยให้ล้มละลาย ทำให้ลูกบ้านต้องถูกลอยแพอย่างแน่นอน กลายเป็นโฉนดที่มีอยู่ก็ไร้ค่า รวมถึงไม่รู้ว่าจะมีปัญหาถูกไล่ออกเมื่อใด"
นางสาวอนันทชา กล่าวย้ำว่า อนันดา บอกกับลูกบ้านว่าจะไปฟ้องร้องภาครัฐ และนำเงินมาเยียวยาลูกบ้าน แต่เราไม่ต้องการเงินจากภาครัฐ จากเงินภาษีของคนในประเทศ อยากให้อนันดามีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่อนันดาแสดงออกมา คือ การไม่สนใจลูกบ้าน ไม่มีคุณธรรมและไม่มีความรับผิดชอบต่อลูกบ้านเลย
อนันดาเปิด “5 แนวทาง”แก้ปัญหา
อย่างไรก็ดี แนวทางแก้ปัญหาของ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ต่อโครงการแอชตัน อโศก นั้น ระบุว่า บริษัทฯ กำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขซึ่งมีอยู่ 5 แนวทางที่มีความเป็นไปได้ ดังต่อไปนี้
1. ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติม 2. เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน สำนักการโยธากรุงเทพมหานครไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี 3.เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม ไปยังคณะรัฐมนตรี
4.ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิ์ที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิ์ทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้ และ 5.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป
ส่วน แนวทางช่วยเหลือ เรื่องการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่มีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เร่งประสานงานกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่ยังมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน โดยบริษัทฯ ได้เชิญสถาบันการเงินต่างๆ เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระของท่านเจ้าของร่วม
ระบุชัด“ลูกบ้านรับทราบคดีมาตลอด”
นอกจากนี้ ได้มีประเด็นชี้แจงอื่นๆ เพิ่มเติม ระบุว่า การออกใบอนุญาตเปิดใช้อาคารแบบมีเงื่อนไข ประเด็นเรื่องข้อสงวนที่ กทม. กำหนดว่า บริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง หากผลการพิจารณาของศาลปกครองเป็นที่สุดว่าโครงการดำเนินการขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฎอยู่เพียงในใบรับรองการก่อสร้าง (อ.6) ซึ่งเอกสารดังกล่าว กทม.ออกให้บริษัทฯ หลังจากที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและได้มีการขายให้กับลูกค้าแล้ว นอกจากนี้ ในใบอนุญาตอื่น ที่กทม. ออกให้แก่บริษัทฯ ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีข้อความทำนองนี้ปรากฎอยู่ในใบอนุญาตแต่อย่างใด และบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะร่วมแก้ปัญหาไปพร้อมกับ กทม. ต่อไป
ในข้อ 3.2 เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ และรับทราบสถานะคดี บริษัทฯ ได้แจ้งเรื่องของคดีที่อยู่ในศาลปกครอง นับแต่ที่ลูกค้าได้ทำการซื้อขายห้องชุด กับบริษัทฯ ตามลำดับดังนี้
โดยในช่วงแรกที่บริษัทฯ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาจะซื้อจะขาย บริษัทฯ ได้ขอขยายระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ โดยแจ้งเรื่องคดีของโครงการให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งเสนอแนวทาง 3 ข้อให้ลูกค้าพิจารณา คือ (1) การยกเลิกสัญญา และคืนเงิน (2) การย้ายโครงการตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ (3) หากถือสัญญาไว้ต่อจนถึงครบกำหนดการขยายระยะเวลา (26 มีนาคม 2562) จะได้รับส่วนลด ณ วันโอน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินที่ชำระมาแล้วทั้งหมด โดยสำหรับลูกค้าที่เลือกรับโอนกรรมสิทธิ์ บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือขอบคุณ พร้อมทั้งแจ้งสถานะเกี่ยวกับคดีของโครงการให้รับทราบด้วย (จากลูกค้าจองทั้งหมด 766 ราย มีลูกค้ายกเลิกสัญญาทั้งหมด 244 ราย, ย้ายโครงการ 4 ราย และ อยู่รอโอนกรรมสิทธิ์ 518 ราย หลังจากที่บริษัทฯ ได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบทั้ง 3 แนวทาง)
“ในเวลาต่อมา บริษัทฯ ได้จัดส่งเอกสารแจ้งสถานะคดีของโครงการ ในหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ไปยังลูกค้าทุกราย ซึ่งได้รับการลงนามการตอบรับมาเป็นส่วนใหญ่ สำหรับลูกค้าที่ซื้อและทำสัญญาจะซื้อจะขาย ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ได้รับทราบสถานะคดี ตามที่บริษัทฯ ได้แจ้งไว้ในบันทึกแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด”
กทม.เล็งเรียกอนันดาและผู้เกี่ยวข้องมาหารือ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า กทม. น้อมรับคำสั่งศาล และยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร ส่วนแนวทางดำเนินการหลังจากนี้ เป็นไปตามมาตรา 41 ซึ่งจากนี้ กทม. จะต้องเชิญเจ้าของโครงการฯ และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือร่วมกันอีกครั้ง
สำหรับ ประเด็นลูกบ้านแอชตัน อโศก นั้น นายชัชชาติ ระบุว่า ยังสามารถใช้ทางเข้าออกได้ตามปกติ ทั้งนี้ อาคารนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ให้ออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แต่หากเจ้าของอาคารไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งให้เจ้าพนักงานออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร