แถลงฯโครงการวิสซ์ดอม อเวนิว รัชดา-ลาดพร้าว โซเชียลหวั่นซ้ำรอย แอชตัน อโศก
วิซดอม พินนาเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ออกแถลงฯประกาศข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินของโครงการวิสซ์ดอม อเวนิว รัชดา-ลาดพร้าว (Whizdom Avenue Ratchada-Ladprao) หลังในโลกโซเชียลมีผู้คนสงสัยเรื่องทางเข้าออก นำไปสู่ความกังวลใจว่าจะได้รับผลกระทบซ้ำรอยกับ แอชตัน อโศก นั้น
นายอัษฎา แก้วเขียว กรรมการบริษัทวิซดอม พินนาเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ออกประกาศข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินของโครงการวิสซ์ดอม อเวนิว รัชดา-ลาดพร้าว (Whizdom Avenue Ratchada-Ladprao) จากกรณีที่ในโลกออนไลน์นั้นมีผู้คนสงสัยเรื่องทางเข้าออกว่ามีขนาดกี่เมตร และนำไปสู่ความกังวลใจว่าจะได้รับผลกระทบซ้ำรอยกับ แอชตัน อโศก ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ ณ ขณะนี้หรือไม่นั้น
ล่าสุด คำแถลงการณ์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินของโครงการวิสซ์ดอม อเวนิว รัชดา-ลาดพร้าว มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ข้อเท็จจริงของที่ดินโครงการ วิสซ์ดอม อเวนิว รัชดา-ลาดพร้าว
โครงการ วิสซ์ดอม อเวนิว รัชดา-ลาดพร้าว ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 13046 และ 13062 ซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 13046 เป็นที่ดินที่มีการเชื่อมทางเข้า-ออกของโครงการสู่ถนนลาดพร้าว มีสิทธิเดิมสามารถขึ้นอาคารขนาดใหญ๋พิเศษและอาคารสูงตามกฎหมายควบคุมอาคารได้อย่างถูกต้องอยู่แล้ว เพราะมีด้านหน้าของที่ดินเกินกว่า 12 เมตรติดถนนสาธารณะคือ ถนนลาดพร้าวมาตลอด ถือเป็นสิทธิดั้งเดิมที่เจ้าของที่ดินมีอยู่แต่ต้น
ทางเข้า-ออกของโครงการ
เมื่อมีโครงการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทาง รฟม.ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดประเภทการขออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน เพื่อให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน สามารถใช้ที่ดินของ รฟม.ที่เวนคืนมานั้นเป็นทางผ่านของที่ดินออกสู่ถนนสาธารณะ เพื่อพัฒนาที่ดินเป็นโครงการอาคารขนาดใหญ่พิเศษหรืออาคารสูงได้ตามสิทธิเดิมที่เคยมี
ที่ดินโฉนดเลขที่ 13046 จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศของ รฟม. ทุกประการ เจ้าของที่ดินได้รับใบอนุญาตให้ผ่านทางได้ตามประกาศ โดยในช่วงแรกเจ้าของที่ดินเดิมได้สิทธิผ่านเข้าออกขนาดกว้าง 4.5 เมตร ตามขนาดความต้องการใช้ประโยชน์ประเภทบ้านอยู่อาศัย และภายหลังเจ้าของที่ดินเดิมได้แจ้งความประสงค์เปลี่ยนประโยชน์การใช้ที่ดินเป็นการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารขนาดใหญ่พิเศษและอาคารสูง
จึงได้รับอนุญาตให้ขยายขนาดทางเข้า-ออก และอนุญาตให้ผ่านทางเป็น 12.5 เมตร ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทฯ ยังไม่ได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และใบอนุญาตที่ออกตามประกาศของ รฟม. จึงยังคงมีผลบังคับใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินมาจากเจ้าของเดิมในปี 2557 บริษัทฯ จึงได้รับโอนสิทธิในการพัฒนาที่ดินและสิทธิในการใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านต่อมาจากเจ้าของที่ดินเดิมอย่างสมบูรณ์