แบงก์เข้มปฏิเสธสินเชื่อพุ่งฉุดอสังหาฯรายได้ลด-กำไรหด

แบงก์เข้มปฏิเสธสินเชื่อพุ่งฉุดอสังหาฯรายได้ลด-กำไรหด

ไขข้องข้องใจ ! อสังหาไตรมาส3 รายได้ลด2.9%กำไรหด20% กูรูชี้เหตุ แบงก์เข้มปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง สะเทือนความเชื่อมั่นดีเวลลอปเปอร์เปิดขายคอนโดลดลงกว่า 9.5% บ้านจัดสรรลดลง 17.2% สะท้อนตลาดที่อยู่อาศัยอยู่ชะลอตัว

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า กำลังซื้อหรือความต้องการบ้านในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาอาจจะยังมีอยู่ เพียงแต่การซื้อขายที่เกิดขึ้นจริงๆ ลดลง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องของการขอสินเชื่อธนาคารที่ทำได้ยากมากขึ้น

ซึ่งทั้งกลุ่มของผู้ซื้อที่สถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ และกลุ่มของผู้ที่ขอสินเชื่อแล้วสถาบันการเงินให้สินเชื่อไม่เต็มจำนวนของมูลค่าบ้านหรือคอนโดมิเนียม แม้ว่า กลุ่มเหล่านี้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่จะโดนลดวงเงินสินเชื่อตามเกณฑ์ของ LTV ซึ่งเมื่อการขอสินเชื่อธนาคารทำได้ยากย่อมมีผลต่อเนื่องมาถึงการโอนกรรมสิทธิ์บ้านและคอนโดมิเนียมแน่นอน


 

นอกจากนี้ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ โดยพิจารณาได้จากการที่มีจำนวนบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่"ลดลง"ค่อนข้างมาก คอนโดมิเนียมลดลงกว่า 9.5% บ้านจัดสรรลดลงประมาณ 17.2% บ้านและคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี2566 ลดลงแบบชัดเจน !

แต่ที่น่าสนใจคือ เรื่องของมูลค่าของบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะว่ามูลค่าของบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่กลับมีมูลค่ามากขึ้น! โดยคอนโดมิเนียมมีมูลค่ามากขึ้น 10.9% บ้านจัดสรรมีมูลค่ามากขึ้น 14.2% ซึ่งคำตอบของเรื่องนี้ คือ การที่มีโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่"ราคาแพง"มากขึ้น

แบงก์เข้มปฏิเสธสินเชื่อพุ่งฉุดอสังหาฯรายได้ลด-กำไรหด

จากสถานการณ์ในปัจจุบันคงต้องรออีกระยะน่าจะถึงปีหน้าจึงจะเห็นได้ชัดเจนว่าการชะลอของตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในฝั่งของอุปสงค์จะเริ่มดีขึ้นเมื่อไหร่

การชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยสามารถเห็นได้ชัดเจนจากผลประกอบการของผู้ประกอบการในตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขาย โดย 9 เดือนที่ผ่านมา ผลประกอบการของกลุ่มผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยอยู่ในช่วงชะลอตัว 

โดยผลประกอบการรวม 9 เดือนที่ผ่านมาในปี2566 ของ 39 บริษัทผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายในตลาดหลักทรัพย์มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นประมาณ 1.37% ซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ก็ได้ไม่ได้ลดลง แต่ถ้าพิจารณาในด้านของกำไรที่ยังเป็นบวกที่ประมาณ 6.37% ก็อาจจะยังบอกได้ว่าผลประกอบการในช่วง 9 เดือนยังเป็นบวกอยู่ อาจจะมีเพียงช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผลประกอบการประจำไตรมาส 3 "ลดลง"ทั้งในฝั่งของรายได้และกำไร !!

 โดยรายได้รวมของทั้ง 39 บริษัท ณ ไตรมาสที่ 3 2566 ลดลง 2.9% ในส่วนของกำไรลดลงถึง 20% ซึ่งผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่าการที่ผู้ประกอบการมีรายได้ลดลงไม่มาก อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงไตรมาสที่ 3 พวกเขาพยายามสร้างรายได้โดยเฉพาะจากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการที่สร้างเสร็จแล้ว และมีการจัดโปรโมชั่นในเรื่องของราคาออกมาสร้างความน่าสนใจ ยอมลดกำไรลงบ้าง และมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ปี2566 น่าจะเป็นปีที่มีโครงการเปิดขายใหม่ทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม"ลดลง"ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ โดยถ้าพิจารณาจากตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี2566 บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่"ลดลง" ในขณะที่ฝั่งของกำลังซื้อก็"ลดลง"เช่นกัน  ส่งผลให้มีบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมเหลือขายเพิ่มขึ้น!

 ผู้ประกอบการจึงพยายามเร่งปิดการขายยูนิตเหลือขายให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องของการขอสินเชื่อธนาคารเป็นปัจจัยสำคัญ แม้ว่าทางผู้ประกอบการจะพยายามช่วยเหลือผู้ซื้อในทุกทางแล้วก็ตาม

แต่ด้วยความเข้มงวดของสถาบันการเงินจึงยังมีกลุ่มของผู้ขอสินเชื่อธนาคารที่ไม่ได้รับสินเชื่อเป็นสัดส่วนที่ไม่ต่ำกว่า 40 – 50% บางโครงการอาจจะมากกว่า 50% ไปค่อนข้างมาก ดังนั้น การลดการเปิดขายโครงการใหม่ลงก็เป็นทางออกที่ดีในสถานการณ์แบบนี้ จึงมีผลให้รายได้พวกเขาจากการเปิดขายโครงการใหม่ลดลง กำไรก็ลดลงบ้างเพราะอาจจะมีการลดราคาขายลง