อสังหาฯกลาง-เล็กเนื้อหอม!ญี่ปุ่นขนเงินร่วมทุนสเกล100-300ล้าน
เอฟเฟกต์! สังคมสูงอายุของญี่ปุ่น หนุนกลุ่มทุนญี่ปุ่นขนเงินลงทุนต่างประเทศมากขึ้น หนึ่งในนั้นเมืองไทยจ่อชอปปิง อสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางและรายเล็กนอกตลาดหลักทรัพย์ หวัง “ร่วมทุน” เล็งเห็นศักยภาพของเรียลดีมานด์ตลาดบ้านสเกล100-300ล้านนำร่อง
สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายที่บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในรูปแบบของการร่วมทุน (Joint Venture) เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีความคุ้นเคยประเทศไทย ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบอสังหาฯ ไทยที่ต้องการเงินทุนเข้ามาช่วยในการพัฒนาโครงการ ท่ามกลางความเข้มงวดของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อโครงการ โดยทาง เทอร์ร่าฯ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่บริษัทญี่ปุ่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนถึงความเป็นได้ในการลงทุนของโครงการนั้นๆ
โดยแนวโน้มความสนใจในการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาครั้งนี้ “ไม่ได้” โฟกัสบริษัทมหาชน แต่ต้องการลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ดำเนินธุรกิจในระยะยาวตามสไตล์ญี่ปุ่น ที่พร้อมให้เงินทุน หรือ โนว์ฮาว คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปีหน้า โดยเทอร์ร่าฯนำเสนอข้อมูลงานวิจัยมาใช้ประกอบเพื่อตอบสนองความสนใจการลงทุนของกลุ่มทุนญี่ปุ่น ซึ่งยังคงอยู่ในธุรกิจซื้อมาขายไป เพราะประเทศไทยยังคงมี “เรียลดีมานด์” ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบในทำเลกรุงเทพฯ และปริมณฑล
“ถือเป็นโอกาสที่ดีของดีเวลลอปเปอร์ไทยที่ทำธุรกิจตนเองเพราะกลุ่มทุนญี่ปุ่นพร้อมที่เข้ามาชอปปิง ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทมหาชนก็สนใจจะร่วมทุน เพราะมองเห็นศักยภาพของเรียลดีมานด์ในตลาดบ้านโครงการขนาดกลางและเล็กไม่ต้องการลงทุนในสเกล 100-1,000 ไร่ เหมือนสมัยก่อน”
สำหรับเงื่อนไขหลัก คือ ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องมีแบรนด์เป็นที่รู้จัก พัฒนาโครงการมาแล้วหลายโครงการ กรอบความคิดหลัก (Core Value) ขององค์กรสามารถเข้ากับกรอบความคิดของกลุ่มทุนญี่ปุ่น มีพอร์ตในตลาดอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป และให้ความสำคัญโลเคชันที่คุ้นเคยมากกว่า ไม่เน้นต้องปิดโครงการเร็ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอสังหาฯ ไทยต้องมีแนวทางการทำงานแบบมือาชีพ มีเทคโนโลยีเข้ามารองรับการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ การใช้พรีแฟบ (PREFAB) เพื่อลดปัญหาการออกแบบและการควบคุมงานก่อสร้าง เป็นต้น
ปัจจุบันมีกลุ่มทุนญี่ปุ่นจำนวน 2 ราย ที่อยู่ระหว่างการปรึกษาข้อมูลและให้ความสนใจลงทุนโครงการในระดับ 100-300 ล้านบาทต่อโครงการก่อน ส่วนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศ ยังคงมีความสนใจลงทุนโครงการคอนโดมิเนียม แต่ต้องการข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น เพื่อความมั่นใจการลงทุน
“จากแนวโน้มความต้องการร่วมทุนของบริษัทญี่ปุ่นที่สนใจเข้ามาลงทุนนอกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ทางเทอร์ร่าฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและทำงานวิจัยได้ขยายบริการส่วนนี้เพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ บริษัทได้มองเห็น “โอกาส” ที่เปิดให้บริการรับบริหารงานปล่อยเช่าอาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีกและคอมมูนิตี้มอลล์ เนื่องจากมองเห็นการฟื้นตัวของดีมานด์อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก และคอมมูนิตี้มอลล์ กระเตื้องขึ้น โดยได้ ศศิธร ชุติพงษ์เลิศรังษี ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในการดูแลธุรกิจปล่อยเช่า ทำเลพระราม9 เข้ามาดูแล “Terra Agent” บริการใหม่ของเทอร์ร่า
ล่าสุดบริษัทได้ดูแลบริหารงานปล่อยเช่าให้กับอาคาร “Enter Terminal” อาคารสำนักงานเกรดเอ ของ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ EnCo ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท.บนพื้นที่กว่า 15,000 ตร.ม. ทำเลศักยภาพสูง ติดถนนวิภาวดี-รังสิต ตรงข้ามกับสนามบินดอนเมือง ซึ่งมีอัตราการเช่าแล้ว 30-40% หลังจากที่ได้เข้าไปให้บริการรองรับดีมานด์โซนนอกเมือง ประกอบกับโซนแจ้งวัฒนะเป็นฮับของศูนย์ราชการต่างๆ รวมถึงบริษัทไอทีจำนวนมากทำให้ปล่อยเช่าได้ง่าย
ขณะเดียวกันศูนย์การค้าขนาดเล็กในชุมชน หรือ คอมมูนิตี้มอลล์ ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง หลังโควิด-19 ทำให้เจ้าของคอมมูนิตี้มอลล์ ต้องการคนเข้ามาช่วยบริหารการปล่อยเช่า เป็นโอกาสที่ทางเทอร์ร่าฯ จะเข้าไปให้บริการกลุ่มลูกค้าดังกล่าว