อึ้ง!สต็อกอสังหาฯพุ่ง1.2ล้านล้านไตรมาสแรก67ยอดขายติดลบ26%

อึ้ง!สต็อกอสังหาฯพุ่ง1.2ล้านล้านไตรมาสแรก67ยอดขายติดลบ26%

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยไตรมาสแรก67อสังหายอดขายติดลบ26% หลังอัตราดูดซับต่ำกว่าช่วงโควิดดันสต็อกเหลือขายพุ่ง 1.2ล้านล้าน คาด 40 เดือนระบายหมดืคาดการณ์ยอดขายทั้งปีติดลบ8.4%

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยว่า ไตรมาส 1 ปี 2567 ซัพพลายบ้านและคอนโดมิเนียม มีจำนวน 229,048 หน่วย เพิ่มขึ้น 11.9% มูลค่า 1,307,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.1%  เป็นผลมาจากยอดขายได้ใหม่ (พรีเซลและสร้างเสร็จพร้อมโอน)ในปี2566 ชะลอตัว โดยเฉพาะระดับราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท และในไตรมาส4/ 66 มีการเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่าเพิ่มขึ้น 45% แต่จำนวนหน่วยลดลง  จากภาวะดังกล่าวส่งผลให้ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีจำนวนหน่วยที่เกิดจากโครงการเปิดตัวใหม่มีจำนวนหน่วย"ลดลง "มีจำนวน 16,356 หน่วยลดลง 24.4% ขณะที่มีมูลค่าสูงถึง 119,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.3%

ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการเปิดตัวใหม่โครงการบ้านจัดสรร ที่เน้นโครงการบ้านเดี่ยวเป็นหลัก ซึ่งมีการเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มขึ้นถึง 85.1% และมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 157.7%  ขณะที่การเปิดตัวใหม่ในกลุ่มโครงการอาคารชุด"ลดลง" ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยจำนวนหน่วยลดลง -40.0% และมูลค่าลดลง -2.3%จากข้อมูลพบว่าโครงการใหม่ที่เปิดตัวไตรมาส 1 ปี 2567 ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโครงการที่อยู่ในระดับราคาแพง

ส่วนยอดขายได้ใหม่ พบว่า ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2566 โดยไตรมาส 1 ปี 2567 มียอดขายใหม่ จำนวน 15,619 หน่วย ลดลง 26.6% มูลค่า  90,069 ล้านบาท ลดลง 14.5%   แบ่งเป็น บ้านจัดสรรหน่วยขายได้ใหม่ ลดลง 16.1% และอาคารชุดหน่วยขายได้ใหม่ ลดลง 39%

ส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2567 มีจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้าง 213,429 หน่วย เพิ่มขึ้น 16.4% คิดเป็นมูลค่า 1,217,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5%

โดยหน่วยบ้านจัดสรรเหลือขาย เพิ่มขึ้น 12.8% และหน่วยอาคารชุดเหลือขาย เพิ่มขึ้น 22.3% ทั้งนี้เนื่องจากอัตราดูดซับลดลง ต่ำกว่าช่วงโควิด คาดว่าต้องใช้เวลา 40 เดือนถึงขายหมด ขณะที่อัตราดูดซับไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 3.5% หรือ ต้องใช้ระยะเวลาในการขายจนหมด 25 เดือน
 

เมื่อพิจารณาแยกตามประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า อัตราดูดซับประเภทโครงการบ้านจัดสรรอยู่ที่ 2.3% ขณะที่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 อัตราดูดซับอยู่ที่ 3.1% อัตราดูดซับที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดลดลงมาอยู่ที่ 2.2% ขณะที่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2566อัตราดูดซับอยู่ที่ 4.1% แสดงให้เห็นว่า ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยได้ชะลอตัวงแรงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

โดยเฉพาะยอดขายอาคารชุดซึ่งจำนวนหน่วยลดลง39% มูลค่าลดลง24.5% ขณะที่บ้านจัดสรร จำนวนหน่วยลดลง16.1% และมูลค่าลดล9.3%ส่วนใหญ่เป็นการชะลอตัวของกลุ่มบ้านจัดสรรราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 โครงการบ้านจัดสรรในกลุ่มราคาแพงยังคงมีอัตราการขายได้สูงทำให้อัตราการลดลงของมูลค่าน้อยกว่าจำนวนหน่วย

หลังจากที่ได้ผ่านไตรมาส 1 ปี 2567 ตัวเลขภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศและเครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นไปในทิศทางชะลอตัวลง ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า ภาพรวมทั้งปี 2567 จะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้ามาสู่ตลาด  103,930 หน่วย เพิ่มขึ้น 8% มูลค่ารวม 637,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% แบ่งเป็น 

โครงการบ้านจัดสรรจำนวน 51,369 หน่วย มูลค่า 420,635 ล้านบาท
โครงการอาคารชุด 52,561 หน่วย มูลค่า 217,271ล้านบาท
ด้านยอดขายได้ใหม่คาดว่า จะมีจำนวน 67,696 หน่วย ลดลง 8.4% มูลค่า 342,299 ล้านบาท ลดลง 11.2% แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 37,883 หน่วย มูลค่า 238,919 ล้านบาทและโครงการอาคารชุด 29,813 หน่วย มูลค่า 103,380 ล้านบาท

โดยอัตราดูดซับโดยรวมของตลาดจะลดลงมาอยู่ที่1.8% ทั้งประเภทโครงการบ้านจัดสรรและอาคารชุดส่งผลให้ที่อยู่อาศัยเหลือขายมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 246,280 หน่วย มูลค่า 1,393,395 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.3% และ 18.6% ตามลำดับแบ่งเป็น โครงการบ้านจัดสรร 139,984 หน่วย มูลค่าโครงการ 914,136 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด 106,296 หน่วย มูลค่าโครงการ 479,259 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามผลจากยอดขายได้ใหม่มีทิศทางปรับตัว"ลดลง"จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผนวกกับปัจจัยลบส่งผลต่อยอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 678,151 ล้านบาท หรือ ลดลง 0.03%และจะกระทบจำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ คาดว่า จะมีจำนวน 372,877 หน่วย มูลค่า 1,074,080 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 1.6% และ2.6% ตามลำดับ