บ้านหรูติดหล่ม!รีเจกต์เรตพุ่งฉุดยอดไตรมาส2ร่วง!แห่อัดโปรฯระบายสต็อก
2-3ปี ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหาฯแห่กันพัฒนาบ้านหรูเพื่อเจาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงในทุกระดับราคาโดยเฉพาะบ้านระดับราคา 10-20 ล้านบาทล่าสุดซัพพลายล้นตลาดแถมเจอปัญหารีเจกต์เรตลามขึ้นมาฉุดยอดไตรมาส2ร่วงแห่อัดโปรฯระบายสต็อก
ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้ยากลำบากและท้าทาย โดยเฉพาะตลาดแนวราบ เนื่องจาก ปัจจัยแรก ซัพพลายแนวราบสูงมาก ปัจจัยที่สอง ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ปัจจัยที่สามยอดการปฏิเสธสินเชื่อสูง ซึ่งเอสซีฯ ต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อให้สามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้
อย่างไรก็ดี เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อบ้านและคอนโดมิเนียม เพราะดีเวลลอปเปอร์ทุกคนอยากลดสต็อก เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์ใน 2-3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในภาวะยากลำบากหรือไม่ จึงจัดโปรโมชั่นออกมาอย่างมากเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย
เมื่อการแข่งขันสูงขึ้นบริษัทต้องปรับตัวด้วยการจัดกิจกรรมที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้นจากเดิมรอลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมโครงการที่เซลส์แกลลอรีของโครงการ ก็ต้องวิ่งมาหาลูกค้าตามศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าต่างๆ มากขึ้น สะท้อนเห็นการทำงานที่ต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ณัฎฐกิตติ์ ศิริรัตน์ หัวหน้าสายงานการตลาด กล่าวเสริมว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังตลาดแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น โดยบริษัทพยายามทำราคาสินค้าตอบโจทย์กำลังซื้อของลูกค้าเท่าที่จะทำได้ภายใต้ต้นทุนการพัฒนาโครงการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทไม่มีปัญหาเรื่องการจอง โดยลูกค้าจองมาก แต่ติดปัญหา “กู้ไม่ผ่าน” ทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น 12% จากเดิมอยู่ที่ 7-8% ลามจากกลุ่มกลาง-ล่างมาถึงกลุ่มบ้านราคา 10 ล้านบาท ขณะที่กลุ่ม 5-10 ล้านบาท ยอดการปฏิเสธสินเชื่อเท่าเดิม ส่งผลให้เฉลี่ยยอดการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น
"จริงๆ ไม่ใช่ว่าลูกค้ากู้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าลูกค้ากู้ไม่ได้อย่างที่ลูกค้าคาดหวังมากกว่า เช่น กู้ซื้อบ้าน 70 ล้านบาท แต่ได้วงเงินกู้ไม่เยอะอย่างที่อยากได้ กลายเป็นว่าลูกค้าไม่พร้อมที่จะวางเงิน สมมติกู้ได้ 50 ล้านบาท ต้องเติมเงินเพิ่มอีก 20 ล้านบาท ก็มองว่าอาจไม่ใช่จังหวะที่จะซื้อ ทำให้ครึ่งปีหลังต้องรุกทำการตลาดหนักหน่วงขึ้นจากการทำอีเวนต์พร้อมกับเปิดโครงการใหม่เร็วขึ้น"
ทางด้าน นฑา กิตติอักษร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ตลาดอสังหาฯ ระดับลักชัวรีการแข่งขันรุนแรง แต่ยังคงไปต่อได้ หากสามารถพัฒนาโครงการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สิ่งสำคัญที่สุด หนีไม่พ้น เรื่องโลเคชั่น
ล่าสุดเปิดตัว 2 โครงการ ได้แก่ มิลฟอร์ด ลาดพร้าว จำนวน 84 ยูนิต ราคา 18-30ล้านบาท และ มิลฟอร์ด โฮม สตูดิโอ ลาดพร้าว ทาวน์โฮม จำนวน 3 ยูนิต ราคายูนิตละ 30 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 1,700 ล้านบาท
“สิ่งที่สร้างความแตกต่างของเมเจอร์ฯ คือ การทำตลาดนิชมาร์เก็ต เน้นคุณภาพ ในระดับราคาที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย”
สอดคล้อง ณัฎฐา คหาปนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปี 2567 ยังเต็มไปด้วยความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแนวโน้มความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลง ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัว ส่วนหนึ่งเพราะได้รับแรงกดดันจากการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินสูง 60% เช่นเดียวกับอัตราการขอสินเชื่อใหม่ที่ปรับตัวลดลง
แม้กระทั่งโครงการแนวราบได้รับผลกระทบจากการปฏิเสธสินเชื่อเช่นเดียวกันกับคอนโดมิเนียม รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง เป็นตัวกดดันทำให้การกู้ยากมากขึ้น และในภาวะปัจจุบันธนาคารยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อซึ่งน่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งต้นทุนการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง การควบคุมต้นทุน จะเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้
“ปัจจุบันบ้านแนวราบบางโครงการ ยอดขายอืดไม่ต่างจากโครงการคอนโดมิเนียม ในปีนี้แบรนด์ใหญ่ๆ ต่างก็พยายามปรับตัวและระบายสต็อกของตัวเอง”