‘อสังหาฯ ไทยผนึกญี่ปุ่น’ ร่วมทุนทะยานกว่า 2 แสนล้าน!

‘อสังหาฯ ไทยผนึกญี่ปุ่น’ ร่วมทุนทะยานกว่า 2 แสนล้าน!

10 กว่าปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอสังหาฯ ไทย และญี่ปุ่นร่วมทุนมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท เอฟเฟกต์!ปัญหาระดมทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศยากขึ้นจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยกู้โครงการ และหุ้นกู้ขายยากขึ้นส่งผลให้แนวโน้มการร่วมทุนเพิ่มขึ้น

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด ระบุว่า ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา การลงทุนร่วมกันของผู้ประกอบการไทย และญี่ปุ่นมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท! เฉพาะการร่วมทุนระหว่างยักษ์ใหญ่ “เอพี" กับ "มิตซูบิชิ เอสเตท” เกินกว่า 100,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้ง “อนันดาฯ" และ "มิตซุย ฟูโดซัง”  มีการลงทุนร่วมกันเกิน 100,000 ล้านบาทเช่นกัน

อีกรายที่มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการญี่ปุ่นมายาวนาน มีโครงการ และเงินลงทุนร่วมกันจำนวนมาก นั่นคือ “เสนาฯ" กับ "ฮันคิว ฮันชิน” ร่วมลงทุนกันไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ ยังมี “ออริจิ้น" กับ "โนมูระ เรียลเอสเตท” ร่วมกันพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่ารวมกว่า 40,000 ล้านบาท ทั้งมีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการญี่ปุ่นหลายราย เช่น เอสคอน เจแปน (ประเทศไทย), โตคิว แลนด์, โซเท็ตซึ เรียล เอสเตท และ CI:Z Limited Liability Partnership เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม โรงแรม และมิกซ์-ยูส ร่วมกัน

‘อสังหาฯ ไทยผนึกญี่ปุ่น’ ร่วมทุนทะยานกว่า 2 แสนล้าน!

สุรเชษฐ ขยายความต่อว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก อีกทั้งยังมีความผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนต่างๆ  ซึ่งผลต่อความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัย ที่จะต้องมีการขอสินเชื่อธนาคาร และเป็นการสร้างภาระหนี้สินในระยะยาว

“เมื่อไม่มั่นใจในสถานะทางการเงินของตนเอง หรือไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจระยะยาว ก็มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ยิ่งการขอสินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำได้ยาก เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการคัดกรองการปล่อยกู้ทั้งสินเชื่อโครงการ และสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียในอนาคต”

ปัจจุบัน ฝั่งของผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านหรือคอนโดมิเนียมเริ่มติดขัดในหลายปัญหา ที่ชัดเจน คือ “เงินลงทุนหมุนเวียน” ได้ผลกระทบจากรายได้ จากการขายโครงการที่อยู่อาศัย “ลดลง” ทำให้การขอสินเชื่อโครงการในภาวะเศรษฐกิจถดถอยยากขึ้น รวมทั้งการออกหุ้นกู้เพื่อนำเงินมาพัฒนาโครงการก็ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาได้เหมือนเดิม เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น!

ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ  รายกลาง และรายเล็กมองหา “ผู้ร่วมทุน” ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการ แม้ว่าการร่วมทุนนั้นอาจทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ลดลง! แต่ก็ใช้เงินลงทุนลดลงด้วยเช่นกัน

ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระหว่างผู้ประกอบการไทย และนักลงทุนต่างชาติ  ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมามีทั้งกลุ่มทุนสัญชาติญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี และประเทศอื่นๆ แต่ไม่มากนัก

“การลงทุนของดีเวลลอปเปอร์จากญี่ปุ่นเข้ามาในรูปแบบของการร่วมทุนไม่ใช่เข้ามาลงทุนด้วยตนเองเหมือนกับจีน ซึ่งที่ผ่านมามีการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยกับญี่ปุ่นจัดตั้งบริษัทให้ผู้ประกอบการไทยถือหุ้นในสัดส่วน 51% ของมูลค่าโครงการพร้อมทั้งบริหารภายใต้ความเชี่ยวชาญตลาดประเทศไทย"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์