มหากาพย์‘แอชตัน อโศก’ เผือกร้อนอนันดาสู่วงการอสังหาฯ

มหากาพย์‘แอชตัน อโศก’ เผือกร้อนอนันดาสู่วงการอสังหาฯ

จับตาแนวทางและบทสรุปประเด็นคอนโดมิเนียมหรู "แอชตัน อโศก" มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาทโดยศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีวันนี้ (20 ก.ย.) เวลา 09.30 น. ซึ่งไม่เพียงเป็นเผือกร้อน!ของอนันดาและลูกบ้านเท่านั้น แต่ยังจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการพัฒนาโครงการอสังหาฯจากนี้อีกด้วย

โดยศาลปกครองสูงสุด จะนั่งพิจารณาคดีนี้เป็นครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อส. 67/2564 ระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ผู้ร้องสอด)

ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

แน่นอนว่า การตัดสินคดีของศาลปกครองสูงสุดในประเด็นของโครงการแอชตัน อโศกนั้น เป็นที่สนใจและจับตามองจากทุกฝ่ายทั้งบุคคลทั่วไปและผู้ที่เกี่ยวข้อง

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า กรณี แอชตัน อโศก มีผลกระทบในหลายๆ ด้าน ดังนั้น การตัดสินคดีของศาลปกครองสูงสุด จึงเป็นที่สนใจและจับตามองของผู้คนโดยทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะกับคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

“คนที่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมก็กังวลว่าโครงการที่ตนเองซื้อและพักอาศัยอยู่ปัจจุบันจะมีปัญหาในทำนองเดียวกันนี้หรือไม่ เพราะอาจไม่สามารถสังเกตหรือรับรู้ได้ตั้งแต่วันแรกที่ซื้อ  แม้ว่าผู้ประกอบการเจ้าของโครงการอาจแจ้งรายละเอียดแล้วก็ตาม แต่ผู้ซื้อที่อยู่ในห้วงของความอยากได้อาจไม่ได้พิจารณารอบคอบนัก ซึ่งไม่ได้หมายถึงโครงการนี้เพียงโครงการเดียว แต่หมายความถึงโดยทั่วไปของการซื้ออะไรก็ตาม”
 

ทั้งนี้ แนวทางในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดนั้น คงไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ ณ วันนี้ อีกทั้งรูปแบบคดีก็ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ที่มีคดีความฟ้องร้องเกี่ยวกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของทางเข้า-ออกมีขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง หรือฟ้องร้องบริษัทที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการพัฒนาโครงการจนมีผลให้บางขั้นตอนนั้นไม่ถูกต้องไป

“คดีความรูปแบบนี้ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น ทิศทางของคำพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาในรูปแบบใดคงตอบยาก ซึ่งในมุมมองของลูกบ้านหรือคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก็หวังว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจในผู้ซื้อที่มีจำนวนหลายร้อยคน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อที่พวกเขาจะยังคงมีที่พักอาศัยต่อไป”

อย่างไรก็ตาม แนวทางของคำตอบจากศาลปกครองสูงสุดจะกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทใดก็ตามที่ต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการและเอกชนจำนวนมาก และมีหลายขั้นตอนในการทำงาน

แม้ว่าการทำงานของคนที่เกี่ยวข้องในการทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์จะเน้นที่การเริ่มต้นของกระบวนการว่าต้อง “ถูกต้อง” มาโดยตลอดก็ตาม แต่ก็อาจจะมีการผิดพลาดเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบเมื่อโครงการแล้วเสร็จ

"ณ เวลานี้ อาจจะยังไม่มีใครคาดเดาได้ แต่หลายๆ คนคาดเดาว่าจะออกมาในทิศทางที่ไม่มีการประนีประนอม หากเป็นไปในรูปแบบนั้น เรื่องนี้ก็คงยังไม่จบ ต้องมีขั้นตอนหรือการฟ้องร้องรวมไปถึงคดีความในส่วนอื่นๆ ตามมาอีกแน่นอน เพราะผู้ซื้อหรือผู้อาศัยในโครงการคงไม่ยอมเสียเงินหรือเสียบ้านเสียยูนิตคอนโดมิเนียมที่ซื้อไว้แน่นอน ซึ่งการหาผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ก็คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร และคงต้องจับตามองต่อไป ว่าจะมีเรื่องในรูปแบบนี้เกิดขึ้นกับโครงการใดอีกหรือไม่ในอนาคต”

ในเชิงธุรกิจ เรื่องของ “แอชตัน อโศก” กระทบค่อนข้างมากต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในแบรนด์ของอนันดาฯ หากคำพิพากษาออกมาแบบเลวร้ายต่อโครงการ ความเชื่อมั่นในแบรนด์อาจกระทบมากกว่าเดิมก็เป็นไปได้เช่นกัน แม้ว่าโครงการจะบอกว่าพวกเขาทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของหน่วยงานราชการแล้วก็ตาม!

สำหรับ "แอชตัน อโศก" คอนโดมิเนียมหรู 51 ชั้น พัฒนาขึ้นโดย อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ และ มิตซุย ฟูโดซัง จากญี่ปุ่น เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2557 ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นสูงถึง 210,000 บาทต่อตารางเมตร และก่อนรีเซลราคาก็ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเป็นทำเลทองบนถนนเศรษฐกิจหลักเชื่อมโครงข่ายคมนาคมทั้งรถไฟฟ้าบนดิน (บีทีเอส) และรถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที) สู่ใจกลางกรุงเทพฯ 

หลังจากเปิดตัวขายหมด 100% ภายในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นบิ๊กโปรเจคที่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้ออยู่อาศัยและนักลงทุน อยากได้ไว้ครอบครอง

ทว่า หลังจากเริ่มก่อสร้างได้ไม่นาน ในปี 2559 เริ่มมีการฟ้องร้องและร้องเรียนทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ

นำโดย “ศรีสุวรรณ จรรยา” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและตัวแทนชุมชนรวม 16 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 5 แห่ง เหตุร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ โดยอนุญาตให้มีการก่อสร้างคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษไม่ชอบด้วยกฎหมาย !!

ที่มีประเด็นที่ฟ้องร้องทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหลังจากศาลพิจารณารวมถึงตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ แล้วไม่พบว่าโครงการทำผิด “แอชตัน อโศก” จึงดำเนินการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จในปี 2560 

 หลังจากสร้างเสร็จ “ลูกบ้าน” จะโอนแต่กลับติดปัญหาโอนไม่ได้ !!! เนื่องจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือยื่นต่อ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เกี่ยวกับการอนุญาตให้ อนันดาใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยไม่ผ่านอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ทำให้ต้องเลื่อนการโอนออกไป

แต่แล้วปัญหานี้ก็จบลง เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกใบรับรองการก่อสร้างให้โครงการ “ลูกบ้าน” จึงเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ในปี 2561 มีลูกบ้านทยอยย้ายเข้าอยู่ไปแล้วกว่า 83% ของโครงการ

กระทั่งวันที่ 30 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ได้มีผลการตัดสินจากศาลปกครองชั้นกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างของโครงการ!!

เนื่องจากที่ดินโดยรอบอาคารของโครงการในส่วนที่ติดกับถนนสาธารณะนั้นไม่เพียงพอตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ระบุไว้ว่า ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ตาม พ.ร.บ. กำหนดไว้ว่าจะต้องมีระยะจากอาคารห่างจากถนนสาธารณะมากกว่า 12 เมตร ติดทางสาธารณะที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า 18 เมตร

สร้างกระแสความหวั่นวิตกให้กับลูกบ้านแอชตัน อโศกกว่า 1,000 ชีวิต ทั้งเรื่องที่พักอาศัย การรีไฟแนนซ์ และการต่อสู้คดีความในระยะยาว 3-5 ปี ออกมาเรียกร้องให้ อนันดาฯ  เยียวยา ซึ่ง “ชานนท์ เรืองกฤตยา" ซีอีโอ อนันดาฯ  พร้อมทีมผู้บริหารและ ฝ่ายกฏหมาย ได้มีการชี้แจงว่า ทุกกระบวนการทำตามกฏหมาย พร้อมทั้งมีการช่วยเหลือลูกบ้านการรีไฟแนนซ์ ...แต่หลังจากนั้นก็เงียบไป