เร่งแก้วิกฤติเมือง‘อยู่ยาก-ลำบาก-เครียด’ดึงเทคโนโลยีสร้างสมดุลใหม่

เร่งแก้วิกฤติเมือง‘อยู่ยาก-ลำบาก-เครียด’ดึงเทคโนโลยีสร้างสมดุลใหม่

เปิดฉากทัศน์วิกฤติเมืองแห่งอนาคต พบแนวโน้มสำคัญ “อยู่ยาก-ลำบาก-เครียด” เป็นโจทย์ใหญ่และความท้าทายของทุกภาคส่วนจะรับมืออย่างไร?

ในงาน “Sustainability Expo 2022” หรือ “SX 2022” มหกรรมด้านความยั่งยืนใหญ่สุดในอาเซียน รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (RISC)ฉายมุมมองในเวที  “กลยุทธ์การรับมือเพื่อเมืองแห่งอนาคต” ว่า โลกอนาคตเผชิญความลำบากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียดสารพัดปัญหา ตั้งแต่น้ำมันแพง น้ำท่วม ไฟป่า ฝนตกผิดฤดู ความยากจน ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น ก่อเกิดความเครียด ความกดดัน ว่าจะรับมือกับวิกฤติเหล่านี้อย่างไร โลกจะสร้างสมดุลใหม่ได้อย่างไร

ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และชาญฉลาด แต่ยังเป็นการใช้ทรัพยากร!! ขณะที่ อนาคตทรัพยากรทุกอย่างจะค่อยๆ หายไป เชื่อว่า 70 ปีข้างหน้า แม้แต่ทองคำขาว หรือแพลทินัม ก็จะสูญหายไป

ฉากทัศน์ดังกล่าวที่เต็มไปด้วยมลภาวะที่ทำให้การอยู่อาศัยของมนุษย์กลายเป็นเรื่องที่ยากกว่าในปัจจุบันอย่างเทียบไม่ติด ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิทุกแห่งจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมากกว่า 1 เมตร ทำให้ผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานมากกว่า 200 ล้านคน มีผู้ที่ต้องประสบภัยพิบัติกว่า 400 ล้านคน จากการขาดแคลนน้ำและอาหาร จากภัยแล้งสุดขั้ว รวมถึงประเทศไทย ภาวะเหล่านี้เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ 
 

รศ.ดร.สิงห์ นำเสนอ “เมืองอนาคต” เราจะสร้างเมืองใหม่ ให้สอดรับกับ “อนาคตที่ไม่สวยงาม” ต้องทำอย่างไร?  เป็นที่มาของกรอบแนวคิดที่เรียกว่า   

Resilience Framework for Future Cities สำหรับประเทศไทย 

โดยอิงจากกรอบความคิดสำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาขึ้นให้มีความพร้อมรับมือ (resilience) กับความไม่แน่นอนของอนาคตที่จะมาถึง หรือ “Resilience Framework for Future Cities : กลยุทธ์การรับมือเพื่อเมืองแห่งอนาคตต้องสร้างสมดุลใหม่ ” เฟรมเวิร์คนี้ประกอบด้วยกลุ่มปัจจัยความไม่แน่นอน 3 ด้าน ได้แก่ Nature & Environment, Living & Infrastructure และ Society & Economy

ปัญหาในแต่ละกลุ่มประกอบไปด้วย กลุ่มธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Nature & Environment) อาทิ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาเรื่องน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก น้ำท่วม ภัยแล้ง กลุ่มที่สอง การใช้ชีวิตและโครงสร้างพื้นฐาน (Living & Infrastructure) เช่น อุบัติการณ์ไม่คาดฝัน ปัญหาสุขภาพ และการหยุดชะงักของบริการสาธารณูปโภค สุดท้าย กลุ่มสังคมและเศรษฐกิจ (Society & Economy) เช่น วิกฤติเศรษฐกิจและค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์ความไม่สงบ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และ ประเด็นทางสังคม
 

หากไล่ดูละกลุ่ม สิ่งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายใต้แรงกดดันมีไม่กี่ปัญหา เช่น มลพิษจากสิ่งแวดล้อม อุทกภัย น้ำกัดเซาะ ปัญหาขยะ เป็นการคัดเลือกปัญหาออกมา เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาเมืองในอนาคตเพื่อป้องกันและอยู่รอดจากปัญหาต่างๆ

"การสร้างเมืองในอนาคตของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องเตรียมการเฉพาะเจาะจง เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองการใช้ทรัพยากรที่เข้ามาสนับสนุน”

มองผ่านเลนส์ความยากลำบากและความเครียด จะพบว่า ปัญหาไม่ได้มีเยอะมากจนแก้ไขไม่ได้! ในฐานะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เราทำหน้าที่สร้างเมืองใหม่ 

“การวิเคราะห์ทุกโครงการจะทำให้เห็นถึงปัญหาที่เฉพาะเจาะจง แล้วเราจะพบโซลูชั่นได้ง่าย เช่น เมื่อพบว่ามีปัญหาน้ำแล้ง เราจะพบว่า ในโลกนี้มีผู้ที่เชี่ยวชาญ และวิธีแก้ปัญหามากมาย ทำให้เรารู้ว่าบางปัญหา ไม่ต้องพัฒนา แต่ซื้อมาใช้เลย หรือถ้าแพงไป ก็พัฒนาขึ้นใหม่ได้ หรือบางปัญหาไม่มีโซลูชั่น นั่นเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่”

ด้วย “เทคโนโลยี” ที่มีหลากหลาย เปิดช่องให้เห็นโซลูชั่น ที่ยังไม่มีคนพัฒนามาสร้าง “นวัตกรรมใหม่” เพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นทำให้มีโอกาสเติบโตไปได้พร้อมกัน

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงโลกร้อน หรือ การรับมือโลกในอนาคตนั้นมีรูปแบบมากมาย โดยหลักแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเทคโนโลยี Mitigation ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาหลังจากที่เกิดปัญหาแล้วเพื่อลดปัญหา สำหรับธุรกิจที่ต้องการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันมีกลุ่มเทคโนโลยี Adaptation จัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อรองรับโลกที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่ง 2 กลุ่มนี้สามารถทำได้พร้อมกัน

เร่งแก้วิกฤติเมือง‘อยู่ยาก-ลำบาก-เครียด’ดึงเทคโนโลยีสร้างสมดุลใหม่

“บางอย่างสามารถ Mitigation หรือ Adaptation ไปพร้อมกันได้ อย่าง เดอะ ฟอเรสเทียส์ โครงการเมืองระดับโลกแบบ 360 องศา ที่มีโจทย์แนวคิดสีเขียวที่แตกต่าง เชื่อมต่อไลฟ์สไตล์ผู้คนสู่ธรรมชาติมากขึ้นและสามารถแก้ปัญหาได้พร้อมๆ กัน”

ปัจจุบันจะเห็นว่า มีการปลูกพืชแนวตั้ง (Vertical Farming) ในระบบปิด มีการควบคุมแสง คาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิ ความชื้น และสารอาหาร เพื่อแก้ปัญหาฟู้ดซิเคียวริตี้ เป็นเทรนด์มาแรง หลายบริษัทเร่งลงทุนเรื่องนี้ หรือเทรนด์  Smart Grid คือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง ทำให้ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ ฉะนั้นเวลาที่พูดถึงเรื่องความยั่งยืนจะมาพร้อมกับคำว่าประสิทธิภาพเพื่อสร้าง “สมดุลใหม่” “Sustainability Expo 2022” หรือ “SX 2022” ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนรู้ของสังคมไทยที่รวมพลังกันเพื่อสร้างโลกนี้ให้ดีขึ้น เร็วขึ้น ให้ทันกับวิกฤติที่เกิดบ่อยขึ้น!!