โค้งสุดท้ายการลงทุนอสังหาฯ ยังคงไปต่อได้ ด้วยปัจจัยบวกเป็นแรงเสริม
"อนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ" กรรมการผู้จัดการ "พลัส พร็อพเพอร์ตี้" เผยแพร่บทความโค้งสุดท้ายการลงทุนอสังหาฯ ของปี 2565 ยังไปต่อได้ ด้วยปัจจัยบวกเป็นแรงเสริม แต่ต้องเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงที่รุมเร้าจากเศรษฐกิจฝืดเคืองทั่วโลก
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในโค้งสุดท้ายของปี 2565 นี้ แนวโน้มของตลาดภาคอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ว่า จะกลับมาฟื้นตัวด้วยหลายๆ ปัจจัยที่เป็นบวกอยู่ จากข้อมูลศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ในปีนี้ พบว่า มีสัดส่วนในตลาดที่เสนอขายอยู่ แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 119,483 หน่วย และโครงการอาคารชุด จำนวน 80,466 หน่วย จะเห็นว่า ความต้องของผู้บริโภคที่ต้องการที่อยู่อาศัยในแนบราบเพิ่มขึ้น โดยทำเลบ้านจัดสรรที่มียอดขายสูงสุด 5 อันดับแรก 1. โซนบางพลี-บางบ่อบางเสาธง 2. โซนลำลูกกาคลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ 3. โซนบางใหญ่-บางบัวทองบางกรวย-ไทรน้อย 4. โซนเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ 5. หลักสี่ดอนเมือง-สายไหม-บางเขน รวมถึงได้อานิสงส์จากรัฐฯ ในเรื่องการผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ช่วยลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง ซึ่งส่งผลและเสียงตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค
นอกจากโครงการบ้านแนวราบในกรุงเทพฯ จะมีแนวโน้มดีขึ้น สำหรับ ตลาดอสังหาฯ ในต่างจังหวัดก็ได้รับความสนใจจากผู้พัฒนาอสังหาฯ หลายรายเปิดโครงการใหม่ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ อาทิ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง และสงขลา โดยตลาดอสังหาฯ ในต่างจังหวัดที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ ภูเก็ต เนื่องจากมี Demand-Supply ของคนไทยและชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง กลุ่มตลาดคนไทย จะเป็นกลุ่มตลาดคนทำงานในภูเก็ต ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย ในระดับราคาไม่สูงมากคือ ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ส่วนกลุ่มตลาดต่างชาติ มักเป็นนักธุรกิจ หรือครอบครัว เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มองหาบ้านพักตากอากาศ หรือวิลล่าระดับลักชัวรี ที่ให้ความเป็นส่วนตัวสูง ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยพื้นที่ในภูเก็ตที่ได้รับความนิยมในกลุ่มต่างชาติภูเก็ต ได้แก่ โซนกมลา เทพกระษัตรี ราไวย์ รวมถึงโซนเชิงทะเลที่เป็นทำเลน่าจับตา ด้วยความสมบูรณ์โดยรอบยังมีมาก จึงได้รับความสนใจจากผู้พัฒนาอสังหาฯ ในการพัฒนาโครงการวิลล่าบริเวณนี้เพิ่มมากขึ้น สมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต คาดการณ์ว่า ตลาดในส่วนของชาวต่างชาติ กลุ่มลักชัวรีมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นจากปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 50% และมูลค่าการซื้อขายไม่น่าจะต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และในปีหน้าคาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท นับว่าเป็นโอกาสทองในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกช่องทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี นอกจากปัจจัยบวกแล้ว ตลาดอสังหาฯ ในประเทศไทยต้องเตรียมรับมือความเสี่ยงจากปัจจัยที่รุมเร้า จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองทั่วโลก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินต่างๆ สภาวะการจ้างงานถดถอย การฟื้นตัวของธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่นับว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นตัวหนุนเรื่องรายได้ของประชาชนเพิ่มเติม อาทิ นโยบายยกเลิกการลงทะเบียนไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่งผลบวกมากขึ้นพบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติออกมาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมีอัตราการท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงกรกฎาคม ปี 2565 ที่ผ่านมามากว่าปี 64 ในช่วงการระบาดของโควิดถึง 213% คิดเป็นอัตราการท่องเที่ยวกว่า 117 ล้านคน และคาดการณ์ว่า จากนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านเป็นอีกหนึ่งความหวังในการฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
จาก ข้อมูลศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่า การเปิดประเทศจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 69% เมื่อเทียบกับช่วงปี 64 โดยจะสร้างรายได้รวมปีนี้ไม่ต่ำกว่า 717 พันล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ส่งสัญญาณบวกไปถึง ตลาดอสังหาฯ ในประเทศไทย ด้วยปัจจัยการกลับมาของนักท่องเที่ยวทำให้เกิดรายได้ สร้างเม็ดเงินภายในประเทศแบบองค์รวม และยังส่งผลเห็นถึงโอกาสว่าไตรมาสสุดท้ายนี้ ความต้องการในด้านที่อยู่อาศัยในตลาดอสังหาฯ น่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง