เรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการพัฒนาจากมุมมองผู้นำประเทศจีน

เรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการพัฒนาจากมุมมองผู้นำประเทศจีน

ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล

รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน

การขจัดความยากจนนำพาประชาชนจีนเข้าสู่สังคมพูนสุข และการต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จนทำให้สังคมจีนคืนสู่สภาพปกติได้ภายในระยะเวลาอันสั้นนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนอย่างเป็นรูปธรรม หลายคนอยากทราบว่าสาเหตุที่แท้จริงของความสำเร็จนั้นคืออะไร วันนี้จึงขอใช้หนังสือเรื่อง “สี จิ้น ผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ เล่มที่ 3” และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี (ฉบับที่ 14) มาช่วยถอดรหัสแนวคิด ยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาของประเทศจีน

หนังสือเรื่อง “สี จิ้น ผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ” นั้น เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับหลักคิดเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศจีน ซึ่งได้อธิบายถึงแนวความคิดในการพัฒนาประเทศชาติและและเจตนารมณ์ของชาวจีนที่มีต่อการพัฒนาประเทศ โดยหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายถึงเป้าหมายของการพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะมีความต้องการเป็นพิเศษในการอธิบายให้ทั่วโลกได้เข้าใจว่า อะไรคือสังคมนิยมที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของประเทศจีน อะไรคือความฝันของประเทศจีนและอะไรคือสังคมพูนสุข

หนังสือเรื่อง “สี จิ้น ผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ” เล่มที่ 3 ซึ่งได้ตีพิมพ์สู่สาธารณชนแล้วนั้น ยังเป็นการเปิดช่องทางที่สำคัญในการช่วยให้ประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงและเข้าใจประเทศจีน ด้วยมุมมองในสายตาของผู้นำสูงสุดของประเทศจีน อันจะเกิดความเข้าใจในประเด็นหลักคิดการพัฒนาประเทศชาติและประสบการณ์ในการบริหารการปกครองของประเทศจีน รวมถึงกระบวนการของการพัฒนาประเทศและผลสำเร็จที่เกิดขึ้น อันช่วยส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงสอดประสานทั้ง 5 ด้านระหว่างสองประเทศอย่างแน่นแฟ้น นำไปสู่การร่วมมือกันในเชิงหยั่งลึกในอีกระดับขั้น ซึ่งรวมถึงประเด็นการขจัดความยากจนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ฯลฯ ขณะเดียวกัน หนังสือเรื่อง “สี จิ้น ผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ” เล่มที่ 3 นี้ ยังได้สะท้อนให้ทั่วโลกได้มองเห็นถึงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวจีนที่มุ่งสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตอันดีงาม ความเพียรพยายามเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่มีความสงบสุข มีเสถียรภาพและมั่งคั่งแข็งแกร่ง จึงเชื่อมั่นว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างไทย-จีนในทุกภาคส่วนทุกวงการและทุกมิติ เพื่อสร้างคุณูปการในการสร้างสรรค์ประชาคมร่วมชะตากรรมแห่งมวลมนุษยชาติสู่ความสำเร็จ ปัจจุบันนี้ หนังสือเรื่อง “สี จิ้น ผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ” เล่มที่ 3 ฉบับภาษาอังกฤษและภาษาจีนได้วางขายในร้านหนังสือ Asia Books ทุกสาขาแล้ว

ในขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศจีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี ค.ศ. 2021-2025) ซึ่งได้กำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศจีนใน 5 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน มากด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพ แผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 นี้ ยังจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ตามแนวทางความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งก่อให้เกิดความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันทั้ง 5 ด้าน อันประกอบด้วยการเชื่อมโยงด้านนโยบายภาครัฐ เชื่อมสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน เชื่อมโยงการค้า เชื่อมโยงภาคการเงินและเชื่อมใจประชาชน อันเป็นการส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนสามารถพัฒนาไปสู่ลักษณะที่เกื้อกูลผลประโยชน์และร่วมสร้างร่วมแบ่งปันซึ่งกันและกัน

 

เรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการพัฒนาจากมุมมองผู้นำประเทศจีน

‘สี จิ้น ผิง’ ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศเป็นหนังสือเชิงยุทธศาสต์

วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี

อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

หนังสือเรื่อง “สี จิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ” ซึ่งมีการแปลเป็นไทยแล้วในเล่มที่ 1 เป็นหนังสือที่มีแนวคิดเชิงยุทธศาสต์ เนื่องจากได้บ่งบอกถึงเป้าหมายทั้งของประเทศชาติและเป้าหมายของมวลชน ซึ่งเป้าหมายของประเทศนั้น ไม่ใช่เป้าหมายของรัฐบาลหากแต่ต้องเป็นเป้าหมายของมวลชน ซึ่งรัฐบาลของประเทศจีนได้บ่งบอกว่าเจตนารมณ์ของคนจีนเป็นอย่างไร? โดยเฉพาะในบทที่บอกถึงความสำคัญของสังคมนิยมในอัตลักษณ์แบบจีนนั้นคืออย่างไร? บอกว่าความฝันของจีนที่จะไปสู่สังคมอยู่ดีมีสุขนั้นเป็นอย่างไร? หรือที่เรียกว่า“เสี่ยวคัง” จึงเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ของชาวจีนอย่างชัดเจนขึ้นมาก

ชุดหนังสือของท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนั้น ปัจจุบันมีการตีพิมพ์ออกมาแล้ว 3 เล่ม แต่ละเล่มมีการแบ่งบทที่แตกต่างกัน อย่างเช่นเล่มแรกมี 18 บท เล่มที่สองมี 17 บทและเล่มที่สามมี 19 บท แต่ทั้งหมดนั้นอยู่ในกรอบของการที่บอกให้เห็นได้ว่า นี่คือหนึ่งในประตูของความเปิดกว้างของจีน เปิดกว้างทางใจที่จะให้รู้ว่า ความคิดเพื่อการที่จะเป็นประชาคมร่วมกันหรือประชาคมที่มีโชคชะตาร่วมกันของมวลมนุษยชาตินั้นจะต้องเปิดใจเข้าหากันว่าคิดอย่างไรแล้วจะทำอย่างไร ฉะนั้นการที่คิดว่าจะทำอย่างไรและประกาศออกมาสู่หนังสือ 3 เล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศการใช้ธรรมาภิบาลในแนวทาง การประกาศปฏิรูปซึ่งมีทั้งการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปแม้กระทั่งภายในพรรค นี่คือเป็นความจริงใจที่ได้บอกและที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ ได้บอกถึงเครื่องมือที่จะนำไปใช้คืออะไรบ้าง เครื่องมือที่สำคัญที่สุดอาจจะเรียกว่าเป็นขุนพลหรือผู้นำที่จะนำให้ประเทศจีนนั้นไปสู่การพัฒนา เมื่อก่อนต้องบอกว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่ยากจน และบทบาทที่จีนสามารถพลิกฟื้นภายใน 5 ปีสำหรับคนยากจนถึง 60 ล้านคน ก็เป็นที่ประจักษ์กับประชาชนทั่วโลกโดยผ่านหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ โดยเฉพาะเล่มที่ 3

ส่วนที่สำคัญที่สุดอีกด้านหนึ่งของหนังสือคือความเปิดเผยจริงใจต่อแนวทางการพัฒนากองทัพ ทุกประเทศต้องมีกองทัพ เพราะเป็นจุดยืนของความอยู่รอดความเป็นความตายของประเทศชาติ ก็เลยต้องชื่นชมตรงนี้ แล้วก็มักจะกล่าวเสมอว่า จีนได้ประกาศว่าจะมีสภาพแวดล้อมในเชิงระบบนิเวศและวัฒนธรรมอย่างไร นี่ก็คือการอยู่ร่วมกันแบบคนกับธรรมชาติ การพัฒนาภูมิประเทศให้อยู่ได้อย่างเหมาะสมกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นฟ้า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือลมฟ้าอากาศจะมาอย่างไร จนท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เห็นว่าจำเป็นจะต้องศึกษาก็คือ หนังสือแต่ละเล่มได้มีการพัฒนาแนวคิดที่ทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะไปสู่ new normal (ฐานวิถีใหม่) การเข้าไปสู่ในโลกที่มีพลวัตอย่างสูง จะต้องเตรียมตัวและปรับตัวให้ยืดหยุ่นอย่างไร ซึ่งอาจจะรวมถึงว่า พร้อมที่จะสปริงไปสู่ข้างหน้าอย่างไร? หนังสือนี้มีลักษณะเป็นแผนที่มีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะสปริงไปสู่ทิศทางข้างหน้าอย่างมั่นคง

 

เรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการพัฒนาจากมุมมองผู้นำประเทศจีน

ประสบการณ์ของจีนที่ทำให้ 1,400 ล้านคนอยู่อย่างมีความสุข

ธนกร ศิวะโมกข์ลัคณา กรรมการสมาคมมิตรภาพไทย-จีน

หนังสือเรื่อง “ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ” ของท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเล่มที่ 3 เป็นการต่อเนื่องที่มาจากทางเล่มที่ 1 กับเล่มที่ 2 หลังจากที่เล่มที่ 1 และเล่มที่ 2 ได้ตีพิมพ์ออกสู่สายตาชาวโลกแล้ว ผู้อ่านทั่วโลกนี้รู้สึกว่าจริงๆ แล้วได้รับประสบการณ์หรือว่าเป็นองค์ความรู้ในแบบฉบับคนโลกตะวันออก ซึ่งมีการบริหารสไตล์ที่ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ไม่อยากจะบอกว่ายุคนี้จะต้องเป็นยุคของประเทศจีนหรือยุคของตะวันออก แต่ควรจะเป็นการผสมผสานในสิ่งที่เป็นการบริหารที่ดีที่สุดสำหรับทุกๆ ประเทศ ประเทศไหนไปรอดที่สุดเอาเป็นว่าประเทศนั้นดีที่สุด

ซึ่งในเล่มที่ 3 นี้มีการพูดถึงการที่ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ได้ลงลึกเข้าถึงประชาชนอย่างไรบ้าง อย่างเช่นท่าน สี จิ้น ผิง ได้ไปเยี่ยมเยียนการพัฒนาพื้นที่การเกษตรตามเขตมณฑลชั้นในที่เป็นถิ่นทุรกันดารของประเทศ ซึ่งไม่ใช่หัวเมืองใหญ่อย่างนครเซี่ยงไฮ้หรือกวางเจาที่เรารู้ อย่างเช่นท่านเดินทางไปที่ “สานเป่ย” (พื้นที่ภาคเหนือของมณฑลส่านซี) อันเป็นพื้นที่ด้อยพัฒนาหรือมีข้อจำกัดต่างๆ ในการพัฒนา ท่านก็ได้มองว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ประชากรกว่า 1,400 ล้านคนมีกินมีใช้ในระดับที่เท่าเทียมกัน ฉะนั้นจึงได้นำเอาความรู้ในการบริหารประเทศทั้งของตัวเองและก็ของผู้นำประเทศทุกๆ ท่านก่อนหน้านี้ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน อย่างเช่นการพัฒนาภาคการเกษตรซึ่งมีความสำคัญ และการพัฒนาภาคโลจิสติกส์ก็สำคัญยิ่งกว่านั้น เพราะท่านสี จิ้นผิงมองว่า ถ้ามีการพัฒนาภาคโลจิสติกส์หรือเส้นทางคมนาคมขนส่งนั้น จะนำมาซึ่งโอกาสในการนำพืชผลทางการเกษตรจากมณฑลชั้นในไปสู่หัวเมืองใหญ่ตามแนวชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศ แล้วก็สามารถส่งออกไปจำหน่ายสู่ทั่วโลกได้ นี่คือสิ่งสำคัญ

หนังสือเล่มนี้ยังมีการพูดถึงว่าการเจริญเติบโตของประเทศจีนและก้าวขึ้นสู่เวทีโลกนั้น จะเกิดขึ้นอย่างสันติ ประเทศจีนไม่ต้องการเป็นที่หนึ่งของโลกทางด้านการทหาร อยากจะให้ทุกๆ คนเข้าใจว่า ท่านประธานาธิบดี สี จิ้น ผิงมีความประสงค์หรือคาดหวังอยากให้ประชาชนชาวจีนกับประชาชนทั่วโลกมีโชคชะตาที่ผูกมัดเข้าด้วยกัน ก็คือเราจะจับมือแล้วไปด้วยกันแบบสันติภาพ นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งมีการพูดถึงแนวความคิดของผู้บริหารในยุคนี้ว่าท่านได้บริหารอย่างไรที่ทำให้ประชากร 1,400 ล้านคนสามารถมีกินมีใช้ อยู่อย่างมีความสุขแล้วก็สุขกายสบายใจ สำหรับประเทศไทยนั้น เราเล็กกว่าจีน เราควรจะมองว่าผู้บริหารของประเทศจีนได้ทำอย่างไร ซึ่งประคับประคองให้ประเทศยักษ์ใหญ่สามารถอยู่รอดได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยเรารอดได้อยู่แล้ว เราศึกษาสิ่งดีๆ ของต่างประเทศมา ซึ่งก็มีการนำเสนออยู่ในหนังสือเรื่องยุทธศาสตร์การบริหารประเทศของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เล่มที่ 3 นี้ด้วย

 

เรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการพัฒนาจากมุมมองผู้นำประเทศจีน

แผน 14 ชี้นำเส้นทางการพัฒนาของประเทศจีน

พลเอก สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 ระหว่างปี 2021 ถึง 2025 มีประเด็นสำคัญอะไรบ้างและประเทศไทยมีโอกาสอย่างไรบ้างที่จะร่วมมือกับประเทศจีนใน 5 ปีข้างหน้าขอพูดถึงประเด็นสำคัญก่อน ซึ่งต้องชี้แจงก่อนว่าแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ของประเทศจีนนั้น เป็นข้อเสนอของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เพื่อให้เกิดความร่วมมือและระดมสรรพกำลังทั้งพรรค ประชาชนทั้งชาติและชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยทั้งหมดในประเทศ เพื่อเอาชนะความเสี่ยงทั้งมวลและเผชิญความท้าทายทั้งสิ้นที่จะเกิดขึ้น อันเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่สำหรับแผนพัฒนาฯ แห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 นี้ และประกาศแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้โดยประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง เมื่อ วันที่ 29 ตุลาคม 2020

สาระและประเด็นสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือสิ่งที่ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ได้เรียกว่า “5 แห่งความสัมพันธ์” และอีกส่วนหนึ่งคือ “5 แห่งประเด็นสำคัญ” โดย “5 แห่งความสัมพันธ์” ประกอบด้วย 1ความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างความสำเร็จในอดีตกับการค้นหานวัตกรรมใหม่ในอนาคต 2.ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับการตลาด 3.ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดประเทศกับการพึ่งพาตนเอง 4.ความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนากับความมั่นคงปลอดภัย และ 5.ความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์กับยุทธวิธี หรือจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์และวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายนั้น ว่ามีแนวทางและวิธีการอย่างไร รวมถึงว่าจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่หรือจะสร้างเครื่องมือขึ้นมาใหม่เพื่อไปสู่ความสำเร็จในแนวทางเป้าหมายต่างๆ นั้นอย่างไร

ในส่วนความสัมพันธ์แรก ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างความสำเร็จในอดีตกับการค้นหานวัตกรรมใหม่ในอนาคต ขอขยายความว่า หมายถึงจะสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาคงไว้ซึ่งรวมถึงการที่จะเสริมสร้างความสำเร็จที่มีมาตั้งแต่ในอดีตนั้น ให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้อย่างไร? พร้อมด้วยการค้นหาสิ่งใหม่ๆ ตลาดใหม่ๆ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ ที่เรียกว่านวัตกรรมได้อย่างไร? ซึ่งจำเป็นต้องมีความสมดุล และส่วนความสัมพันธ์ที่ 2 คือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับการตลาด หมายถึงความสัมพันธ์ในเชิงของการวางแผนจากส่วนกลางส่วนหนึ่ง กับการปฏิบัติแบบแยกกันของภาคธุรกิจกับภาคตลาดซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่ง และยังรวมถึงการควบคุมจากส่วนกลางและการปฏิบัติ

อย่างแยกกันในส่วนท้องถิ่น มีความหมายรวมถึงความสัมพันธ์และความสมดุลของสองอย่างนี้

ส่วนความสัมพันธ์ที่ 3 คือระหว่างการเปิดประเทศกับการพึ่งพาตนเอง ก็คือความสัมพันธ์ในเชิงที่ว่าจะเปิดมากเท่าไหร่ โดยที่เราเองก็ยังคงสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่เป็นการพึ่งพาแต่ต่างชาติเสียจนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้อีก ยกตัวอย่าง คือการสร้างอุปสงค์ภายในประเทศ เนื่องจากหลายๆ ประเทศมีการพึ่งพิงการส่งออกมากจนกระทั่งเมื่อมีปัญหาในระดับโลก ก็ไม่สามารถคงอยู่ต่อไปได้ ทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจนเสียหายไป ฯลฯ ส่วนความสัมพันธ์ที่ 4 ระหว่างการพัฒนากับความมั่นคงปลอดภัย หมายถึงเมื่อเราจะพัฒนาไปแล้ว สิ่งหนึ่งในการพัฒนาคือการอำนวยความสะดวกให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากร ทำให้ทุกส่วนได้มีโอกาสเปิดพื้นที่ในการพัฒนาอย่างเต็มที่ แต่จะต้องให้สมดุลกับความมั่นคงปลอดภัยทั้งในสภาพแวดล้อมและในกฎระเบียบ ที่ไม่ใช่เป็นการพัฒนาแบบฝ่ายหนึ่งได้แต่อีกฝ่ายหนึ่งเสีย อันเป็นการอำนวยความสะดวกมากจนไม่เกิดความปลอดภัย ซึ่งก็คือการพัฒนาแบบไม่สมดุล

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์กับยุทธวิธีนั้น มีทั้งยุทธศาสตร์ระดับชาติ ระดับมณฑลและระดับเมือง ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เหมือนกับเส้นทางเข้าเมือง สามารถเดินทางเข้าเมืองหนึ่งได้จากหลายทิศทาง ดังนั้นหนึ่งเป้าหมายจึงมีหลายวิธีการและหลากหลายเครื่องมือ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น

ส่วนประเด็นที่ 2 ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องพูดถึงก็คือ ประเทศไทยมีโอกาสหรือแสวงโอกาสอย่างไรที่จะร่วมมือกับประเทศจีนในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งก็บังเอิญตรงกับประเด็นสำคัญอีก 5 ประเด็นของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 นี้ ประกอบด้วย 1. การพัฒนาอย่างมีคุณภาพในระดับสูง บนฐานทางวิทยาศาสตร์และเงื่อนไขของประชาชาติหรือประชาชนจีน หมายถึงการพัฒนาที่ต้องอยู่บนรากฐานของวิทยาศาสตร์ มีวิทยาศาสตร์รองรับ และต้องเข้ากับบริบทของประชาสังคม หรือแปลความได้ว่าการพัฒนาในฝั่งอุปทาน (Supply Side) ที่มุ่นเน้นการพัฒนาที่พิจารณาคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ ดังนั้น ประเทศไทยสามารถแสวงหาโอกาสจากประเด็นนี้ได้อย่างมากและสำคัญมาก นั่นคือคุณภาพแห่งความร่วมมือ หมายถึงความร่วมมือต่างๆ ต้องเน้นไปที่ประเด็นของคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณของ MOU ต่างๆ ที่จะเซ็นร่วมกันมากขึ้น แต่ที่ได้เซ็นไปแล้ว จะมาพัฒนาในเชิงคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างไร เพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร นี่คือประเด็นสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 และโอกาสของประเทศไทย

ประเด็นสำคัญที่ 2 ของแผนพัฒนาฯ คือรูปแบบใหม่ของการพัฒนา หมายถึงจีนจะให้ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจภายในประเทศกับการตลาดในต่างประเทศ จะต้องเป็นลักษณะที่ส่งเสริมหรือเป็นพลังขับเคลื่อนซึ่งกันและกัน เศรษฐกิจในประเทศจีนก็ต้องเสริมพลังขับเคลื่อนให้กับตลาดต่างประเทศ และตลาดต่างประเทศก็ต้องมาช่วยเสริมเศรษฐกิจและการผลิตภายในประเทศจีนเช่นเดียวกัน ซึ่งประเด็นนี้แสดงถึงการที่ประเทศจีนมุ่งรับมือปัญหาที่บางประเทศมีการต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์ หรือยึดถือในลัทธิเอกภาคีนิยมที่มุ่งแต่จะแสวงผลประโยชน์โดยตนเองเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นลัทธิที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในบางประเทศ ประเทศไทยก็ควรจะต้องแสวงโอกาสที่ประเทศจีนจะให้ภาคเศรษฐกิจหรือภาคการผลิตในประเทศจีน มาช่วยส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศอย่างไร ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในตลาดต่างประเทศของจีนด้วย รวมถึงพิจารณาว่าจะร่วมมือการพัฒนาในภาคการผลิตของประเทศจีนในแง่ไหนที่จีนมีความต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน

ประเด็นสำคัญที่ 3 ของแผนพัฒนาฯ คือการยกระดับความร่วมมือกับตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างศักยภาพใหม่ในการแข่งขัน ซึ่งคำว่า “ตลาดต่างประเทศ” กับ “การผลิตภายใน” นั้น ในความหมายของประเทศจีน ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า ประเทศจีนนั้นมีขนาดใหญ่มาก บางมณฑลถึงกับใหญ่กว่าประเทศไทย แม้ประเทศไทยจะเข้าใจคำว่า Locality หรือเข้าใจลักษณะพื้นฐานของแต่ละมณฑลอย่างดี เราก็สามารถใช้มณฑลเหล่านั้นเป็นคู่ค้าคู่ดำเนินการ ไม่จำเป็นต้องทำการติดต่อทุกอย่างผ่านรัฐบาลกลางเสมอไป ถ้าหากเราเข้าใจเรื่องภูมิสังคมและภูมิวัฒนธรรมของแต่ละมณฑล ก็จะทำให้เราได้รับประโยชน์จากการสร้างความสัมพันธ์กับตลาดในมณฑลนั้น หรือการผลิตของมณฑลนั้นเชื่อมโยงเข้ากับการตลาดและการผลิตของประเทศไทย ฯลฯ

ประเด็นสำคัญที่ 4 คือเป้าหมายของการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ ถูกกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน คือการต้องรักษาความมั่นคงหรือเสถียรภาพในการพัฒนาระยะยาว หรือในภาษาไทยก็คือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “ความยั่งยืน” ซึ่งจีนเคยตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี ค.ศ. 2025 โดยมีรายได้มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าในปี 2035 จากปัจจุบัน ซึ่งจะเน้นประสิทธิภาพและคุณภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สำหรับประเด็นนี้ จะเห็นว่าไทยกับจีนมีเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตรงกัน ซึ่งก็คือเน้นความยั่งยืน หากแต่ความยั่งยืนของแต่ละประเทศนั้น ตั้งอยู่บนบริบทเงื่อนไขทางภูมิสังคมและภูมิวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ความเหมือนคือต้องการความยั่งยืน ความต่างคือองค์ประกอบที่จะทำให้ไปสู่เป้าหมายการพัฒนานั้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบจีนไปทุกอย่าง หรือทำแบบ “ช้างขี้ขี้ตามช้าง” แต่สุดท้ายแล้ว ประเทศไทยจะพ้นจากกับดักประเทศมีรายได้ปานกลางได้อย่างไร เราสามารถศึกษาได้จากประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาลกลางหรือนโยบายของรัฐหรือภาคปฏิบัติในระดับมณฑลหรือระดับเมืองต่อไปได้

ประเด็นสำคัญที่ 5 คือความมั่งคั่งร่วมกัน จีนกำหนดว่าจะต้องมีความมั่งคั่งร่วมกันของชาวจีนทุกคน เป็นประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ ความเข้าใจประเด็นนี้อาจยุ่งยากเล็กน้อยในการแสวงหาความร่วมมือ เพราะมีระบอบประเทศที่แตกต่างกัน ไทยอาจมองว่าประเทศจีนซึ่งเป็นสังคมนิยมหรือสังคมคอมมิวนิสต์มีข้อจำกัดมาก แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ คำว่าความมั่งคั่งนั้นเกือบจะเป็นการกำหนดแบบนามธรรม ประเทศไทยก็มีความมั่งคั่งทางทรัพยากร ความมั่งคั่งในวัฒนธรรม แต่สิ่งที่สำคัญคือ คนไทยก็ควรจะมีความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมกันตามอัตภาพอย่างไร? นี่คือสิ่งที่ไทยสามารถแสวงความร่วมมือได้กับจีน เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกัน และคำว่า “สังคมนิยมใหม่” มีความหมายอย่างไร ประชาชนมีความสุขอย่างไร ยังไม่จำเป็นต้องพูดถึงระบอบการปกครอง แต่หมายถึงกฎกติกาแห่งการอยู่ร่วมกันในสังคม ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรร่วมกันและพัฒนาร่วมกันอย่างไร? โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศจีนแล้ว นี่คืออีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถแสวงความร่วมมือกับจีนได้

การเข้าใจแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 ของประเทศจีนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียนรู้บริบทของสังคมประเทศจีน รวมถึงแนวติดยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศจีน แนะนำให้อ่านชุดหนังสือ สี จิ้น ผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ ซึ่งเป็นหนังสือของประสบการณ์การบริหารประเทศของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง จะให้เข้าใจว่าประเทศจีนคิดจะเดินไปทิศทางใด และโอกาสที่เราจะร่วมมือกับจีนเป็นอย่างไร