"สเต็มเซลล์" ความหวังการรักษา รองรับความเจ็บป่วยในอนาคต

"สเต็มเซลล์" ความหวังการรักษา รองรับความเจ็บป่วยในอนาคต

การรักษาด้วย "สเต็มเซลล์" นับเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่ก้าวหน้าและยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง ว่ากันว่า สเต็มเซลล์ ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังของโลกอนาคต ทั่วโลกรวมถึงไทย มีการฝากเก็บสเต็มเซลล์ขณะที่ร่างกายแข็งแรง เพื่อรองรับการเจ็บป่วยในภายภาคหน้า

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้มีการรักษาใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในวิกฤติโรคระบาด รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย สเต็มเซลล์ เซลล์บำบัด ยีนส์บำบัด นับเป็นวิวัฒนาการการรักษาที่ได้รับความสนใจทั้งในต่างประเทศและในไทย มีการนำมารักษาโรคต่างๆ เช่น อาทิ โรคกระจกตา หรือ รักษามะเร็ง บางชนิด เป็นต้น รวมถึงเริ่มมีความนิยมในการเก็บสเต็มเซลล์ของตนเองไว้ในขณะที่ร่างกายยังแข็งแรงเพื่อใช้รักษาโรคในอนาคต

 

ศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช อธิบายความหมายของ เซลล์ต้นกำเนิดหรือ “สเต็มเซลล์” ว่า เป็นเซลล์ที่มีความสามารถในเจริญไปเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ได้หลายชนิด เซลล์ต้นกำเนิดมีคุณสมบัติที่สำคัญ 2 ประการคือ 1) สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้เป็นทวีคูณ โดยสามารถที่จะคงคุณลักษณะเดิมไว้ได้ในขณะที่เพิ่มจำนวน

 

และ 2) สามารถเจริญเป็นเซลล์ที่จำเพาะชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดได้เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสม ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวทำให้วงการแพทย์คาดหวังว่าจะสามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดชนิดต่างๆ มาใช้ในการรักษาโรคที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมหรือความเสียหายของอวัยวะ อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม โรคมอเตอร์นิวโรน โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคเบาหวาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคตับแข็ง โดยการใช้สารกระตุ้นเพื่อเหนี่ยวนำเซลล์ต้นกำเนิดให้พัฒนาไปเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ตามที่ต้องการ ในปัจจุบันมีการทำวิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ข้อมูลจากบทความเรื่อง “สเต็มเซลล์...เซลล์เพื่อประกันชีวิตอนาคตลูก” โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ยกตัวอย่างการรักษาโรคบางอย่างด้วยเสต็มเซลล์จนหายขาดได้ เช่น ในประเทศฝรั่งเศสสามารถรักษาโรคโลหิตจาง และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิดได้หายขาดแล้ว ในประเทศไทยมีการใช้เสต็มเซลล์จากไขกระดูกมารักษาโรคเลือดจางธาลัสซีเมียและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

 

รวมถึงมีความสำเร็จของการรักษาโรคต่างๆ ด้วยเสต็มเซลล์ จึงเชื่อกันว่าในอนาคต โรคที่รักษาหายยากหรือไม่หายขาด เช่น โรคตับ โรคเบาหวานแต่กำเนิด โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ อาจจะรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้เสต็มเซลล์ ซึ่งคงต้องรอเวลากันต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ในประเทศไทยเริ่มมีบริษัทเอกชนที่ให้บริการเก็บรักษาเสต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือ เพื่อเก็บไว้ให้ลูกน้อยซึ่งอาจต้องนำมาใช้รักษาโรคที่อาจจะมีเกิดขึ้นในอนาคต

 

ฝากสเต็มเซลล์เพื่ออนาคต

 

“นายแพทย์วีรพล เขมะรังสรรค์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด หนึ่งในสถาบันการฝากเก็บ คัดแยก เพาะเลี้ยง และวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดครบวงจร กล่าวในงานสัมภาษณ์กลุ่มย่อย ณ GlowFish Sathorn อาคารสาทรนครทาวเวอร์ โดยระบุว่า สเต็มเซลล์ ถือเป็นแม่พิมพ์ ต้นกำเนิดของเซลล์ทุกอย่าง เป็นเซลล์เดียวในร่างกายที่สามารถสร้างเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย แตกตัวได้อย่างไร้ขีดจำกัด จากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และการก้าวสู่สังคมสูงวัย แนวโน้มประชากรมีลูกน้อยลง อนาคตผู้สูงอายุจำเป็นต้องดูแลตัวเอง สังคมเริ่มตื่นตัวด้านสุขภาพมากขึ้น

 

\"สเต็มเซลล์\" ความหวังการรักษา รองรับความเจ็บป่วยในอนาคต

ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตกว่า 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้รวมกว่า 500 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 123 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่เพิ่มขึ้นเห็นได้ชัดจากยอดการฝากเก็บสเต็มเซลล์จากไขมัน ซึ่งช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าขึ้น 3 เท่า หรือครอบครัวละ 3-4 คน จากที่เดิมที่เฉลี่ยครอบครัวละ 1 คน

 

ทั้งนี้ การเก็บสเต็มเซลล์สามารถเก็บได้ทุกช่วงวัย ช่วงอายุ เพราะในอนาคตหากเซลล์เราอ่อนแอลงจะหาเซลล์ใหม่มาทดแทนได้ยาก การใช้สเต็มเซลล์ของตัวเองมาใช้กับตัวเองในอนาคต เพื่อต่อไปจะได้ไม่ต้องขอบริจาค ยกตัวอย่างหากเอาไตที่ได้รับบริจาคมา แม้จะเข้ากันได้แต่ก็ต้องทานยากดภูมิตลอดชีวิต ปัจจุบัน บริษัทมีการวิจัยพัฒนาสร้างกระจกตาสังเคราะห์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จากสเต็มเซลล์และคอลลาเจน และผ่านการทำงานวิจัยในสัตว์เรียบร้อยแล้วร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“ขณะนี้ มีผู้ที่สนใจเก็บสเต็มเซลล์กับบริษัทฯ อยู่ที่ราว 10,000 ราย ทั้งชาวไทยและต่างชาติ สามารถเก็บได้ตั้งแต่แรกเกิดโดยเก็บจากเนื้อเยื้อสายสะดือซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเก็บมากที่สุด และ เก็บจากไขมันราว 10-20 ซีซี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 50-60 ปี ซึ่งเริ่มมีเวลาดูแลตัวเอง ขณะที่คนอายุมากที่สุดที่เคยเก็บ คือ 92 ปี หรือเก็บได้ทุกส่วนของร่างกายเพียงแค่อาจจะเจ็บเท่านั้น"

 

"ทั้งนี้ หากจะเน้นเรื่องการเสริมสร้าง ซ่อมแซม ทุกอย่างเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ทั้งหมด ทำไมเราถึงแก่ เพราะหลังจากอายุ 25 ปี สเต็มเซลล์แบ่งตัวช้าลง จึงมีเซลล์ใหม่ๆ น้อยลงเรื่อยๆ ตามลำดับ เราจึงแก่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ อายุเพิ่มมากขึ้น ข้อเข่าเสื่อมเป็นปกติ ดังนั้น จึงมีการเก็บสเต็มเซลล์ในวันนี้เอาไว้ก่อน จัดเก็บครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต”

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเคสที่มากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องประกันคุณภาพสเต็มเซลล์ เพื่อป้องกัน ลดความผิดพลาดจากมนุษย์และลดการปนเปื้อนจากภายนอกได้ โดยเครื่องแยกจัดเก็บเซลล์จากเม็ดเลือดแดงอัตโนมัติ (AXP AutoXpress Platform) โดยการเลี้ยงสเต็มเซลล์ด้วยระบบออโตเมติกทั้งหมด ด้วยเครื่อง Quantum ระบบปิด ในอุณหภูมิ -196 องศา เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้อยู่ในระดับสูง โดยหากผู้ป่วยต้องการใช้สเต็มเซลล์ของตนเอง ทางบริษัทจะนำจัดส่งให้ยังโรงพยาบาลที่รักษาทั้งในและต่างประเทศ

 

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2565 เมดีซ กรุ๊ป ตั้งเป้ารุกขยายตลาดประเทศกลุ่มอาเซียน รวมถึงจีน ไต้หวัน และตะวันออกกลาง เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้ได้ถึง 100-200% ภายในสิ้นปี โดยเพิ่มงบลงทุนในส่วนของการวิจัยและพัฒนาและการจัดตั้งห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ ที่บริษัทเป็นเจ้าของเองในประเทศต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาคในอีก 6 ปีข้างหน้า เริ่มด้วยห้องแล็บในเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปี 2566 , เมืองเสินเจิ้น ประเทศจีน ในปี 2567 ในอินโดนีเซีย ปี 2568 เวียดนามในปี 2569 ไต้หวันในปี 2570

 

\"สเต็มเซลล์\" ความหวังการรักษา รองรับความเจ็บป่วยในอนาคต

 

สิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง

 

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ สเต็มเซลล์ ถือเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเริ่มในปี 2551 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากเป็นการรักษาต่อเนื่องหลังจากการให้เคมีบำบัด ต่อมาปี 2554 ได้เพิ่มการรักษาไปยังผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ทั้งยังขยายครอบคลุมกรณีที่ผู้บริจาคเม็ดโลหิตที่ไม่ใช่ญาติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2551-2562 มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายแล้ว จำนวน 489 ราย และในปีงบประมาณ 2563 ได้ขยายเป้าหมายเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยเป็น 110 ราย

 

ทั้งนี้ในปี 2563 ที่ผ่านมา กองทุนบัตรทอง ดูแลค่าใช้จ่ายผู้ป่วยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ให้แก่ ด.ญ.จินตนาการ บุญกล่อมจิตร หรือน้องจีน อายุ 7 ปี ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูกที่รับจาก ด.ช.ศิลา บุญกล่อมจิตร หรือ น้องจีโอ้ (น้องชาย) อายุ 5 ปี ขณะติดเชื้อ COVID-19 รายแรกของโลก

 

น.ส.ศศิวิมล พลลาภ คุณแม่น้องจีนเผยว่า น้องจีนป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่เกิด โดยในช่วงตั้งครรภ์ได้ฝากครรภ์ที่คลินิกพิเศษ โรงพยาบาลรามาธิบดีและรับทราบความเสี่ยงของน้องที่จะเป็นโรคนี้ โดยคุณหมอให้น้องกินยาโฟลิกและวิตามินรวมมาตลอด มีวิธีรักษาให้หายได้คือการปลูกถ่ายไขกระดูก จนกระทั่งตนเองตั้งครรภ์น้องจีโอ้ก็ได้มีการวางแผนนำสเต็มเซลล์จากไขกระดูกจากน้องจีโอ้มาปลูกถ่ายให้น้องจีน

 

ต่อมาในช่วงปลายปี 2562 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดีว่า น้องจีนได้คิวเข้ารับการรักษาในเดือนเมษายน 2563 โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดให้สิทธิการรักษาผู้ป่วยกับโรงพยาบาลที่ทำสเต็มเซลล์ปลูกถ่ายไขกระดูกได้เพียงปีละ 1 รายเท่านั้น

 

จากนั้นน้องจีนได้เข้าเตรียมความพร้อมรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในวันที่ 7 เมษายน และได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายในวันที่ 17 เมษายน และพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์อนุญาตให้น้องจีนกลับบ้านได้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ซึ่งการรักษาครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิบัตรทอง ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม