"อาการลองโควิด" แบบไหน ที่ต้องรีบไปพบแพทย์
เช็คตัวเองหลังป่วยโควิด-19 มีอาการ "ลองโควิด" หรือไม่ แล้ว "อาการลองโควิด" แบบไหนที่อันตราย และต้องรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ
หลัง "หายป่วยโควิด-19" พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมาก ที่ยังมีอาการป่วยต่อเนื่องแม้จะตรวจไม่พบเชื้อโควิดแล้วก็ตาม โดยอาการเหล่านี้คือ อาการ "ลองโควิด" (Long COVID) ที่อาจมีผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวหลังป่วยอย่างน้อย 2 เดือน
- อาการลองโควิดเป็นแบบไหน ?
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบอาการลองโควิดในผู้ป่วยโควิดคนไทยมากกว่า 200 อาการ โดยพบได้ในทุกระบบของร่างกาย แบ่งอาการที่พบบ่อยได้ 3 กลุ่ม คือ
1. อ่อนเพลีย
2. หายใจไม่เต็มอิ่ม ทำกิจกรรมปกติได้ลดลง เหนื่อยง่ายขึ้น
3. ภาวะสมองเสื่อม เช่น ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อในสิ่งที่จะทำความจำลดลง มีปัญหาการนอนหลับ ความสามารถในการควบคุม ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมลดลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เช็ค! อาการ "Long COVID" เป็นอย่างไร รุนแรงมากไหม กระทบระบบใดในร่างกายบ้าง ?
- ฟื้นฟูร่างกายหลังหายจาก "โควิด-19" สังเกตอาการ "ลองโควิด"
- "Long Covid" ต้องใช้เวลารักษานานแค่ไหน?
นอกจากพบอาการอื่นๆ อีก เช่น
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดอุดตันในอวัยวะต่างๆ
- ปวดหู หรือมีเสียงในหู
- ปวดท้อง ท้องเสีย กินอาหารได้น้อยลง
- ชา ปวดกล้ามเนื้อ และข้อ
- ไม่ได้กลิ่น รับรสได้ไม่ดี
- ผื่นตามตัวผมร่วง
- รอบประจำเดือนมาไม่ปกติ ฯลฯ
- มีอาการลองโควิดแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังป่วยโควิดส่วนใหญ่หายได้เอง อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่าเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น ชา หรือแขนขาอ่อนแรง เหนื่อยจนไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้ โดยเป็นอาการผิดปกติหลังจากติดเชื้อโควิดเกินกว่า 2 เดือน เสี่ยงเป็นลองโควิด และควรไปพบแพทย์ พบได้ทั้งแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลที่เคยรักษาโควิด-19
-----------------------------------
อ้างอิง: ศูนย์ข้อมูลโควิด-19
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์