เช็กอีกครั้ง "อาการลองโควิด"เกิดได้ทุกเพศทุกวัย ไม่มั่นใจรีบพบแพทย์
ปัจจุบันแม้ป้องกันอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ด้วยการใช้ชีวิต ต้องออกไปทำงาน ไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่ได้ Work from home เหมือนที่ผ่านมา อีกทั้ง “โอมิครอน” ติดเชื้อได้ง่าย ถึงจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบหรือพึ่งติดโควิด-19 ก็ยังสามารถกลับมาติดซ้ำได้อีก
หลายๆ คนที่ติดโควิด-19 และรักษาจนหาย กลับมีอาการที่ตามหลังหายป่วยโควิด หรือที่เรียกกันว่า "อาการลองโควิด (Long COVID) " ทว่าด้วยอาการที่มีหลากหลาย ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าจริงๆ แล้ว อาการลองโควิด มีลักษณะอย่างไรบ้าง กลุ่มไหนเสี่ยงภาวะลองโควิด และหากเป็นต้องรักษาอย่างไร “กรุงเทพธุรกิจ” มีคำตอบให้ค่ะ...
รู้จัก “ลองโควิด” Long COVID คืออะไร?
อาการที่ตามมาหลังหายป่วยจากโควิด-19 หรือ “อาการลองโควิด” Long COVID อาจเรียกอีกอย่างว่า Post Covid-19 Syndrome คือ ภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ เชื้อโควิดหายจากร่างกายไปแล้ว แต่บางอาการกลับไม่หายไปด้วย
อาการลองโควิดจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน เป็นอาการที่ไม่มีลักษณะตายตัว สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม
ทั้งนี้ อาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง
ข้อมูลของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (National Health Service: NHS) รายงานว่า Long Covid เป็นอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์ มักพบในผู้ป่วยอายุระหว่าง 35-49 ปี และอายุระหว่าง 50-69 ปี ร้อยละ 20 ผู้ป่วยจะเข้าข่ายนี้ หลังจากรับเชื้อไปแล้ว 5 สัปดาห์
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังภาวะลองโควิด
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็น ภาวะ Long COVID มีดังนี้
- ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน เพศหญิงมีความเสี่ยงกว่าเพศชาย
นอกจากนั้น สำหรับสาเหตุที่เกิดอาการลองโควิด ทางเพจเฟซบุ๊ก Social Marketing Thaihealth by สสส. ออกมาระบุว่า ทีมนักวิจัยคาดการณ์ความเป็นไปได้ 4 สาเหตุ ดังนี้
1.มีเชื้อไวรัสหลงเหลือในอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื่อง
2.การอักเสบในหลายอวัยวะ ทำให้อวัยวะผิดปกติแบบถาวรส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว
3.ผลกระทบจากการรักษาและนอนโรงพยาบาลในระยะเวลานาน
4. ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ภายหลังการติดเชื้อ
เช็กอาการเข้าข่ายลองโควิด ที่ควรรู้
อาการที่พบบ่อยหลังการติดเชื้อโควิด-19 มีดังนี้
- เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย
- ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ กล้ามเนื้อไม่มีแรง
- ไอเรื้อรัง
- การรับรสและได้กลิ่นผิดปกติ
- รู้สึกเหมือนมีไข้ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ
- นอนไม่หลับ
- ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ
- มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด
- ใจสั่น แน่นหน้าอก
- ท้องเสีย ท้องอืด
แนวทางการป้องกันอาการลองโควิด
หากใครพึ่งหายจากโควิด-19 ขอแนะนำให้หมั่นสังเกตและประเมินร่างกายตัวเองอยู่เสมอหลังจากหายป่วย หากพบอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจประเมินสภาพร่างกาย รับการรักษาและวางแผน การฟื้นฟูร่างกายที่เหมาะสม เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นระยะยาวและส่งผลกระทบต่อชีวิต ประจำวัน
ที่สำคัญ หากปล่อยไว้นานก็อาจเป็นอันตรายได้ ผู้ที่หายจากโควิด-19 นอกจากการหมั่นสังเกตความผิดปกติแล้ว การตรวจร่างกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยให้รู้ทันความผิดปกติที่เกิดขึ้นและสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม
สำหรับผู้ป่วยที่เข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย เมื่อทราบว่ามีอาการ Long covid หรือยังไม่มั่นใจว่าจะเกิดอาการแทรกซ้อนหรือไม่ สามารถลดผลกระทบและความเสี่ยงการเกิดได้ง่ายๆ ขณะอยู่ในช่วงที่พักฟื้นรักษาตัวอยู่ที่บ้าน 3 วิธี ได้แก่
1.กินอาหารประเภทโปรตีน
กลุ่มอาการโปรตีนอย่างเช่น เนื้อสัตว์ ถั่ว ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอในร่างกายให้กลับเป็นเหมือนเดิม
2.ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
การออกกำลังกายเบาๆ เน้นเคลื่อนไหวช้าๆ ช่วยอย่างมากในการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมามีสมรรถภาพเช่นเดิมอีกครั้ง แต่ต้องระวังไม่ให้ออกแรงมากเกินไปในช่วงที่ยังไม่แข็งแรง
3.ลดอาหารเสียสุขภาพ
ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท Junk Food เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารรสจัด อาหารแช่แข็ง รวมถึงเครื่องดื่มมึนเมาอย่างแอลกอฮอล์ที่เป็นส่วนสำคัญในการขัดขวางขั้นตอนผลิตภูมิต้านทานในร่างกาย
แนะ 5 ตำรับสมุนไพร บรรเทาอาการลองโควิด
ขณะที่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบว่า 5 ตำรับสมุนไพร ช่วยบรรเทาอาการลองโควิด แต่ต้องใช้อย่างพอดี ให้ตรงกับอาการที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลข้างเคียงในระยะยาว
ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้แนะนำสมุนไพรไทย ที่ช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากภาวะลองโควิด (Long COVID) ได้แก่
1.ยาหอมนวโกฐ ตามตำราโบราณบันทึกไว้ว่า ช่วยแก้ลมปลายไข้ มีอาการอ่อนเพลีย คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด หลังหายป่วยจากโควิด การนำยามาใช้ควรเป็นยาผง ที่ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าแบบอื่น
2.ยาประสะจันทน์แดง ใช้กับผู้ป่วยที่มีไข้ต่ำ โดยเฉพาะคนไข้ที่มีภาวะหิวน้ำบ่อย ยานี้สามารถช่วยให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น
3.ยาธาตุบรรจบ บรรเทาอาการลองโควิด ในผู้ป่วยที่ยังมีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูก หรือผู้ป่วยที่หายแล้ว แต่ยังมีอาการท้องเสียตามมา ยานี้จะช่วยฟื้นฟูธาตุ ให้คนไข้กลับมามีระบบขับถ่ายที่เป็นปกติ
4.ยาปราบชมพูทวีป ใช้ในคนไข้ที่มีภาวะทางเดินหายใจ ไอเรื้อรัง หายใจไม่อิ่ม ถ้าให้ดีควรออกกำลังกายร่วมกับท่าฤาษีดัดตน ช่วยให้การหายใจกลับมาเป็นปกติเร็วขึ้น ยาตำรับนี้ มีการทดลองใช้ในคนไข้ที่มีอาการปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบว่า ได้ผลดี
5.ยาหอมเทพจิตร ช่วยบรรเทาในคนไข้ที่มีความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ ถ้ามีไข้ร่วมกับการนอนไม่หลับขั้นรุนแรง ต้องใช้ยาตำรับกัญชา เช่น ยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 ใช้หยอดใต้ลิ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการรวบรวมข้อมูลคนไข้พบว่า ให้ผลออกฤทธิ์ได้ดี แต่ถ้ามีภาวะนอนไม่หลับร่วมกับอาการเบื่ออาหาร จะต้องใช้สมุนไพรตำรับศุขไสยาศน์
ลองโควิด เกิดได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ติดโควิดดีที่สุด
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะลองโควิด ว่า ลองโควิดเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่การติดเชื้อได้จบสิ้น (เชื้อไม่พบแล้ว) พร้อมเผย
8 ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับภาวะลองโควิด
1. อาการของลองโควิด ไม่ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการที่เป็นตอนแรก
2. เกิดได้ทุกอายุ ได้ทุกเพศ
3. เกิดอาการได้ตั้งแต่หัวจดเท้า หลายระบบหรืออวัยวะพร้อมกัน
4. อาการที่มีขณะติดเชื้อไม่สงบ แม้ว่าการติดเชื้อจบไปแล้ว และทอดยาวนานกว่k 3 เดือนต่อไปอีก หรืออาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการใหม่
5. กลุ่มอาการเป็นลักษณะที่เรารู้จักกันดีมานานแล้วในรูปของ Chronic fatique syndrome หรือ Myalgia encephalomyelitis แต่โควิดเกิดได้รุนแรงและยาวนานกว่าไวรัสตัวอื่น ๆ มาก
6. กลุ่มอาการทางสมองและจิตอารมณ์พบได้ 30% หรือมากกว่า และส่งผลทำให้เฉื่อยชา คิดช้า ความจำสั้น สมองเสื่อมและอารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะคนที่เป็นอยู่แล้วหรือกำลังจะเป็น โรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน
7. หลักในการบำบัดต้องพิสูจน์ให้แน่ชัดว่ายังมีการอักเสบอยู่ในร่างกายและในสมองหรือไม่ และถ้ามีต้องทำการยับยั้งโดยคำนึงถึงผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาด้วย
8. จากปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเครื่องเตือนใจว่า ไม่ควรปล่อยตัวให้ติด เพราะอาจเคราะห์ร้ายระยะยาว
ดังนั้น การป้องกันตนเองเป็นสิ่งสำคัญ และการไม่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นสิ่งดีที่สุด ขอให้ประชาชนทุกคนดูแลตนเอง และคนรอบข้าง
อ้างอิง: รพ.รามคำแหง ,เพจเฟซบุ๊ก Social Marketing Thaihealth by สสส. และ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร