"การผลิตครูไทย" ระบบปิดมีคุณภาพ ได้มาตรฐานกว่าระบบเปิด
“ครู”เป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการศึกษามาตั้งแต่ในอดีต เพราะเป็นต้นทางแห่งการพัฒนาคน ครูที่ดี ครูที่มีคุณภาพ จะสามารถบ่มเพาะอบรมศิษย์ให้เป็นคนดีของสังคมได้อย่างเหมาะสมครบถ้วน ซึ่งได้มีการกำหนดความสำคัญของการผลิตครูไว้ในกฎหมาย นโยบายและแผนระดับประเทศ
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (3) กำหนดให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนา ผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง
มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยกำหนดให้มีการเปลี่ยนโฉมบทบาทครูให้เป็นครูยุคใหม่
วันนี้ (25 เม.ย.2565) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)ได้จัดประชุมสัมมนา เรื่อง การประเมินระบบการผลิตครูในประเทศไทย โดยตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ แผนย่อยการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้กำหนดตัวชี้วัดในประเด็นสัดส่วนครูผ่านการทดสอบสมรรถนะราย สาขาในระดับสูงตามมาตรฐานนานาชาติ
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้กำหนดประเด็นการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของประเทศ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู
สถาบันผลิตครูมีหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะของวิชาชีพครู มีความศรัทธาต่อวิชาชีพ และมีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง มีความสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
- การผลิตครูระบบปิด-เปิดต่างมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน
โดยให้มีระบบการผลิตครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้มาตรฐานระดับสากล มีฐานข้อมูลความต้องการใช้ครู แผนการผลิตครู รวมถึงสัดส่วนการบรรจุครูที่มาจากระบบปิดเพิ่มขึ้น
ระบบการผลิตครูทั้งระบบปิดและระบบเปิด ต่างมีข้อดีข้อเสีย แตกต่างกัน การตัดสินใจเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการเพื่อให้ได้รูปแบบการผลิตครูที่มีประสิทธิภาพ และมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
สกศ.ซึ่งมีภารกิจหลักประการหนึ่งในการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของชาติ จึงเห็นควรที่จะดำเนินการประเมินระบบการผลิตครูของประเทศไทย เนื่องจากเป็นโครงการสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกระดับ อันจะส่งผลโดยตรงต่อการยกระดับการศึกษาของชาติ
สามารถสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิราทัศน์ รัตนมณีฉัตรและคณะเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิต เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ
- ระบบปิดมีคุณภาพ-ได้มาตรฐานกว่าระบบเปิด
ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ครู นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการศึกษาของประเทศ ครูที่ดีและมีคุณภาพจะสามารถพัฒนาคนให้เป็นคนดีของสังคมได้ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารสถาบันมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ครูที่ผลิตโดยรูปแบบปิดมีคุณภาพและได้มาตราฐานมากกว่าระบบเปิด
อีกทั้งได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้มีระบบฐานข้อมูลประเมินความต้องการครูแต่ละสาขา พัฒนาครูของครู (Teacher Educator) ให้มีความสร้างสรรค์และความรู้ลึกในสาขาวิชาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาโท
- การผลิตครู คือ ต้นทางการพัฒนาครูไทย
รัฐต้องดำเนินการคัดกรองและหามาตรการจูงใจคนเก่งเข้ามาเป็นครูเพื่อให้ได้ครูที่มีความรู้ความสามารถตามที่ต้องการ ผลิตครูวิชาชีพชั้นสูงเพื่อปฏิรูปและพัฒนาประเทศ
โดยลดระบบการผลิตครูแบบเปิดให้เหลือไม่เกินร้อยละ 20 และเพิ่มระบบปิดโครงการพิเศษให้ได้ร้อยละ 80 ของความต้องการ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาเป็นระบบปิดทั้งประเทศภายใน10 ปี
ขณะนี้ได้จัดทำ (ร่าง) รายงานการประเมินระบบการผลิตครูในประเทศไทย เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการประชุมสัมมนา จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องผลการศึกษาวิจัยแล้ว ยังเป็นเวทีที่ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยกันให้ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงระบบการผลิตครู เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของประเทศ
ต้นทางของการพัฒนาครู จำเป็นอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการผลิตครู โดยดำเนินการครอบคลุมทั้งประเด็นข้อมูลความต้องการใช้ครู ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนการผลิตครู การปรับปรุง หลักสูตรการผลิตครูให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด รวมถึงการดำเนินการคัดกรองและกำหนดมาตรการจูงใจให้คนเก่ง คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นครู
- ครูไทยมีปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
เมื่อมีการขาดแคลนครูในอดีต ทำให้เน้นการผลิตครูเชิงปริมาณ มีการผลิตครูภาคค่ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาคุณภาพครู จนถึงปัจจุบัน
พบว่า ปัญหาในการผลิตครูมีทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ปัญหาการผลิตครูเชิงปริมาณ พบว่า การผลิตครูมีจำนวนมากกว่าความต้องการใช้ครู
จากข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้จัดทำสรุปจำนวนข้าราชการครูและบุคลากรที่จะเกษียณอายุราชการทุกสังกัดและประเภทตำแหน่ง ในปี 2562 – 2566 รวม 106,449 ตำแหน่ง จำแนกเป็นปี 2562 จำนวน 24,994 ตำแหน่ง ปี 2563 จำนวน 23,695 ตำแหน่ง ปี 2564 จำนวน 21,208 ตำแหน่ง ปี 2565 จำนวน 19,458 ตำแหน่ง และปี 2566 มีจำนวน 17,094 ตำแหน่ง
ขณะที่ จากข้อมูลของที่ประชุมสภาคณบดี ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2562 จะมีบัณฑิตครูที่สำเร็จการศึกษาจำนวน 55,783 คน แบ่งเป็น หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต (ค.บ.) 5 ปี จำนวน 47,173 คน และ หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จำนวน 8,610 คน
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าตำแหน่งครูที่จะเกษียณอายุไม่สอดคล้องกับบัณฑิตครูที่จะจบการศึกษา อันเป็นผลมาจากการขาดข้อมูลความต้องการใช้ครู ทำให้สถาบันอุดมศึกษาทำการผลิตครูมากเกินความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการ
- นโยบายผลิตครูขาดความต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล
การจัดทำร่างยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูและนำเสนอในที่ประชุมสภาการศึกษา ในปี 2558 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 1 การปฏิรูประบบและรูปแบบการผลิตครู
โดยกำหนดให้มีการจัดทำแผนการผลิตครูที่สัมพันธ์กับแผนการใช้ครู แต่ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็ไม่ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ จึงทำให้ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนในเชิงคุณภาพ พบว่า นโยบายด้านการผลิตครูขาดความต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ไม่สามารถจูงใจ ให้คนเก่งเข้ามาเรียนครูได้ นอกจากนี้รัฐบาลลงทุนเพื่อการผลิตครูต่ำกว่าวิชาชีพอื่น รวมถึงวิกฤตการขาดแคลนคณาจารย์ของสถาบันฝึกหัดครู และการขาดเอกภาพเชิงนโยบายและมาตรฐานการผลิตครู ฯลฯ
- ต้องปรับรูปแบบการผลิต เน้นคุณภาพครู
ปัจจุบันรูปแบบการผลิตครูแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ
1) ระบบเปิด เป็นการผลิตครูปกติ เพื่อสนองความต้องการของสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ต้องเป็นไปตามแผนและเป้าหมายการผลิตครูของประเทศ
2) ระบบปิด เป็นการจำกัดจำนวนรับตามความต้องการใช้งานจริงของหน่วยงานผู้ใช้ครู เน้นความเป็นเลิศด้านคุณภาพครู
จากข้อมูลจำนวนข้าราชการครูที่จะเกษียณอายุราชการในอนาคต ทำให้มีผู้สนใจเรียนครูเป็นจำนวนมากเป็นเหตุให้สถาบันผลิตครูไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ และส่งผลให้มีบัณฑิตครูล้นงานจำนวนมาก จึงมีการเสนอให้ผลิตครูในระบบปิดเหมือนในอดีต เช่น โครงการ “คุรุทายาท” “เพชรในตม” “ครูพันธุ์ใหม่” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการผลิตครูทั้ง 2 ระบบ ต่างมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การตัดสินใจเลือกรูปแบบใด รูปแบบหนึ่ง จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการเพื่อให้ได้รูปแบบการผลิตครูที่มีประสิทธิภาพ และมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
สำหรับประเมินระบบการผลิตครูของประเทศไทย ทำให้ทราบว่าการพัฒนาการการผลิตครูในประเทศไทย มีปัญหาและอุปสรรค จำนวนมาก ซึ่งเมื่อประเมินระบบการผลิตครูและเปรียบเทียบรูปแบบการผลิตครูระหว่างระบบปิดและระบบเปิด ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ พบปัญหาเช่นเดียวกัน
- เปิดอคาเดมีครู หลอมจิตวิญญาณวิชาชีพเติมทักษะ Educator
ด้าน ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เสริมความเห็นว่า กลไกการผลิตและพัฒนาครูที่สำคัญต้องมีสถาบันผลิตและพัฒนาครู (Teacher Academy) เพื่อหล่อหลอมและคัดกรองคนที่จะเข้ามาเป็นครูที่มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู
รวมทั้งการฝึกปฏิบัติจริงมีทักษะใหม่ๆ สอดรับการเปลี่ยนผ่านยุคจักรวาลนฤมิต (Metaverse) เพื่อสามารถค้นหาตัวตนและทักษะเด่นของผู้เรียน อาทิเช่น SAM (Sport Art Music) นำไปสู่การสร้างพลังอำนาจแบบฉลาด (Soft Power) ดึงจุดเด่นของเด็กและนำมาพัฒนาต่อยอด สร้างให้เป็นพลเมืองคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ใครก็ทำได้แต่ต้องฝึกคนเป็นครูให้สามารถสร้างเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมให้ได้
ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ไปปรับแก้ (ร่าง) รายงานการประเมินระบบการผลิตครูในประเทศไทยให้ถูกต้องสมบูรณ์ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบการผลิตครู และเป็นแนวทางในการปรับปรุงแผนพัฒนาการศึกษาผลักดันเป็นนโยบายเพื่อยกระดับการศึกษาของชาติต่อไป