"อนุทิน"เปิดประเทศยกเลิก Test and Go 1 พ.ค. โควิด19ดีขึ้นพร้อมปรับอีก
“อนุทิน”ระบุจังหวัดนำร่องโควิด19สู่โรคประจำถิ่นเป็นตามเป้า เผยเปิดประเทศยกเลิก Test and Go 1 พ.ค.นี้ หากสถานการณ์ดีขึ้นพร้อมปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ
เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2565ที่ โรงแรมเชอราตัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการร่วมกิจกรรมการทบทวน การเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (นำร่อง) ว่า สำหรับประเทศไทยที่มีจังหวัดจะนำร่องเป็นโรคประจำถิ่น ก็เป็นตามนโยบายที่ตั้งเป้าไว้ แต่จะเกิดเมื่อไหร่ วันไหน ไม่สำคัญเท่ากับการบริหารสถานการณ์ให้ดีที่สุด ทุกวันนี้ก็เหมือนเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่นอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องขยายขอบข่าย จากการที่มียา สถานพยาบาล บุคลากรแพทย์พร้อม ซึ่งไทยโชคดีกว่าประเทศอื่นที่มี อสม.กว่าล้านคนเข้ามาช่วย
“วันที่ 1 พ.ค.2565 ก็ยกเลิกTest and go ขอให้ตรวจเพียง ATK 1 ครั้ง หากสถานการณ์ดีขึ้นก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผู้ป่วยหนักของไทยก็ลดลง จำนวนเตียงยังมีมากพอสมควร แต่ก็ไม่ได้อยากใช้ ขณะเดียวกันผู้เสียชีวิต ก็คาดว่ามีแนวโน้มลดลงด้วย ซึ่งจะมีแยกข้อมูลการเสียชีวิตจากโควิด เสียชีวิตเพราะโควิดเป็นอย่างไร”นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า คำว่า Endemic ไม่มีกฎเกณฑ์อะไร อยู่ที่พฤติกรรม ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้วก็ให้มารับเข็ม 4 เพราะตอนนี้ยังไม่มีรายงานผู้ที่รับเข็ม 4 ติดเชื้อเสียชีวิต ถ้าไม่ได้เป็นโรคอื่น ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิดทุกวัน จึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนถึงโรคโควิดที่เสียชีวิตโดยตรงเกิดกับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือ 97% ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็ม ตรงนี้เป็นการควบคุมโรคที่ควบคุมได้ ส่วนผู้สูญเสียไม่ได้เกิดจากโควิดโดยตรงเป็นจุดที่ต้องควบคุมสถานการณ์ให้ดีขึ้น
การประเมินสถานการณ์โควิดไทย ทำดีที่สุด ตั้งบนความไม่ประมาท การสื่อสารว่าโควิดขาลง คนก็อาจลดความเข้มงวดได้ ซึ่งหากจะลดก็ต้องมีความเข้าใจกับโรคให้มาก ว่าการติดเชื้อไม่มีอาการต้องรักษาที่บ้านได้(HI) ส่วนที่มีอาการก็เข้ารับรักษาในโรงพยาบาล(รพ.) เช่นเดียวกับโรคเมอร์ส ซาร์ส ที่แรกๆ รุนแรงแต่เมื่อคนมีภูมิต้านทาน โรคก็ลดความรุนแรงลง แต่ด้วยโควิดเกิดในยุคที่คนสัญจร และมีโซเซียลทำให้คนตื่นตระหนก แต่ก็ใช้ประสบการณ์ที่มีในการบริหารสถานการณ์ให้ดี
“ต้องทำให้เกิดความสมดุลในเวชภัณฑ์ทุกอย่าง อย่างการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กว่าร้อยล้านเม็ด รักษาผู้ติดเชื้อหายเป็น 2-3 ล้านราย แต่ก็ยังจำเป็นต้องมียาเรมดิซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ ยาแพกซ์โลวิดในมือ โดยมีกำหนดการใช้ในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ วัคซีนโควิดก็ต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในทุกแพลตฟอร์ม ไม่ได้อยู่เฉยแม้แต่วินาทีเดียว ทำให้เห็นผลวัคซีนที่ลดการเสียชีวิตได้”นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมศบค.เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565 มีการระบุว่า 12 จังหวัด ที่สถานการณ์โควิด19 อยู่ในระยะที่ 3 ของการดำเนินการสู่โรคประจำถิ่นจากที่มี่ 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การต่อสู้(Combatting) ระยะที่ 2 คงที่ทรงตัว (Plateau) ระยะที่ 3 ลดลง(Declining) และระยะที่ 4 Post pandemic ประกอบด้วย เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส