สถานการณ์ "โควิด-19" ทั่วโลก เป็นอย่างไร หลังเผชิญ "โอมิครอน"
ส่อง "สถานการณ์โควิด-19" ทั่วโลก หลังสายพันธุ์ "โอมิครอน" ระบาด ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อทั่วโลกเคยพุ่งสูงกว่าล้านราย ขณะเดียวกัน เดลตา ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์ที่ก่อผลกระทบรุนแรง เหลือเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าว อัพเดทสถานการณ์ COVID-19 ในต่างประเทศและในประเทศไทย โดยระบุว่า ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO พบว่า ปัจจุบัน การแบ่งสายพันธุ์ โควิด-19 คือ สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงทั่วโลกเหลือเพียง 2 สายพันธุ์ คือ เดลตา และ โอมิครอน ซึ่งเดลตากำลังถูกถดแทนด้วยโอมิครอน ขณะที่ สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อย BA.1-5 และ สายพันธุ์ที่มีจุดกลายพันธุ์ผสม ที่เราจับตา คือ XE เนื่องจากมีแนวโน้มกระจายเร็วกว่า BA.2 10% แต่ความรุนแรงไม่ได้รุนแรงขึ้น
หลังจากที่ โอมิครอน ระบาดทั่วโลกโดยมีการประกาศสายพันธุ์โอมิครอนราว วันที่ 24 พ.ย. 64 การติดเชื้อเคยเพิ่มขึ้นสูงต่อวันมากว่าล้านราย ขณะเดียวกัน ล่าสุดสถานการณ์โควิด-19 โอมิครอน เริ่มลดลงเป็นหลักแสน และคงจะถอยลงไปเรื่อยๆ
ข้อมูล ในวันที่ 23 เม.ย. 65 ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้วกว่า 11,544,346,261 โดส ฉีดวันละ 13,169,053 โดส (ประชากร 7,942,370,530 ราย) เฉลี่ยประชากร 100 คน ได้รับวัคซีน 147 โดส แปลว่าทั่วโลกเวลานี้ ยังมีคนหลายประเทศ ที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีนครบ 2 โดส ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่องค์การอนามัยโลกพยายามให้คนเหล่านั้นได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น
"สหรัฐอเมริกา" อยู่ในช่วงขาลง
สำหรับสหรัฐอเมริกา ตัวเลขลดลง เคยขึ้นไปเป็นแสนราย เสียชีวิต 2-3 พันคนต่อวัน ตอนนี้โอมิครอนขาลงทำให้ติดเชื้อหลักหมื่น อัตราการเสียชีวิต 3 หลัก บางวันลงมาเหลือ 2 หลัก หากดูการติดเชื้อพบว่าโอมิครอนก่อเรื่องมากที่สุด แต่ไม่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต เพราะมีสายพันธุ์อื่นที่มีคนเสียชีวิตมากกว่า
ตอนนี้ สหรัฐอเมริกา มีการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 571,681,114 โดส ฉีดวันละ 525,565 โดส (ประมาณ 334,548,250 คน) 76.7% ของประชากรได้รับ 1 โดส 65.4% ได้ 2 โดส และ 29.7% ได้รับฉีดเข็มกระตุ้น (เข็ม 3 -4) เฉลี่ย 170.5 โดสต่อประชากร 100 คน มีประชากรติดโควิดราว 25%
"สหราชอาณาจักร" กลับมาตั้งการ์ดอีกครั้ง
สหราชอาณาจักร มีการระบาดมากในช่วง "เดลตา" มีการทดสอบระบบหลายอย่าง ลองเปิด ฟรีดอมเดย์ ในวันที่ 19 ก.ค. 64 และต้องกลับมาป้องกันหลังจากมีการระบาด "โอมิครอน" ขณะนี้ การติดเชื้อต่อวันราว 2-3 หมื่นราย เสียชีวิตเลข 3 หลัก ฉีดวัคซีนแล้ว 141,874,281 โดส ฉีดวันละ 31,140 โดส (ประชากร 68,536,549 คน) 79.1% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 74.0% ได้ 2 โดส และ 58.3% ได้รับฉีดกระตุ้น เฉลี่ย 211.5 โดสต่อประชากร 100 คน
"เยอรมัน" ติดเชื้อ เสียชีวิตเริ่มลด
เยอรมัน ก่อนหน้านี้ดูเหมือนคุมได้ดี แต่พอเจอโอมิครอน มีการผิดพลาด มีการลดมาตรการลงแต่สุดท้ายเจอโอมิครอน ติดเชื้อบางวัน 2-3 แสนราย อัตราการเสียชีวิตขณะนี้ยังไม่อยู่ในขาลงชัดเจนแต่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ การติดเชื้อและเสียชีวิตเริ่มลดลงแต่ยังไม่ดีนัก
ฉีดวัคซีนแล้ว 172,624,102 โดส ฉีดวันละ 19,973 โดส (ประชากร 84,270,460 คน) 76.6% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 76.1% ได้ 2 โดส และ 59.2% ได้รับฉีดกระตุ้น เฉลี่ย 207.6 โดสต่อประชากร 100 คน มีรายงานการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ บอกว่าการฉีดวัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอ อาจช่วยลดความรุนแรง แต่ต้องมีเข็มที่ 3
"ฝรั่งเศส" ฉีดเข็มกระตุ้น 57% เสียชีวิตเริ่มลด
ฝรั่งเศส พยายามเปิดประเทศโดยการยกเลิกมาตรการต่างๆ แต่พอโอมิครอนเข้ามาก่อเรื่อง ฉีดวัคซีนแล้ว 155,294,157 โดส ฉีดวันละ 15,590 โดส (ประชากร 65,535,246 คน) 84.2% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 80.6% ได้ 2 โดส และ 57.0% ได้รับฉีดกระตุ้น เฉลี่ย 238.5 โดสต่อประชากร 100 คน ตัวเลขดีกว่าบางประเทศ ขณะเดียวกันเกือบ 60% ได้รับเข็มกระตุ้น จะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตดูเหมือนจะลดลงแต่ไม่ต่อเนื่อง ค่อนข้างคงที่ในระยะ 2-3 สัปดาห์
"อิตาลี" ติดเชื้อเพิ่ม เสียชีวิตไม่สูง
อิตาลี โอมิครอนเข้าก่อเรื่องทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่การเสียชีวิตโอมิครอน เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นไม่ได้สูงกว่า อิตาลี ตอนนี้ มีการติดเชื้อวันหนึ่งเป็นหมื่นๆ บางวันทะลุหลักแสน ถือว่าค่อนข้างเยอะ ขณะที่ ฉีดวัคซีนแล้ว 136,541,527 โดส ฉีดวันละ 30,077 โดส (ประชากร 60,302,008 คน) 85.1% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 80.3% ได้ 2 โดส และ 66.0% ได้รับฉีดกระตุ้น เฉลี่ย 228.9 โดสต่อประชากร 100 คน
"ญี่ปุ่น" เร่งฉีดวัคซีน ป้องกันสูงวัยเสียชีวิต
ญี่ปุ่น มีผู้สูงวัยเยอะ สิ่งที่คนญี่ปุ่นกลัวมาก คือ โควิด-19 ทำให้อัตราการเสียชีวิตผู้สูงวัยมากขึ้น ก่อนหน้านี้มีการติดเชื้อหลักแสน แต่ตอนนี้ดีขึ้นติดเชื้อราว 5 หมื่นกว่าคน มีการระดมฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก ฉีดวัคซีนแล้ว 267,390,282 โดส ฉีดวันละ 540,972 โดส (ประชากร 125,782,869 คน) 81.9% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 80.5% ได้ 2 โดส และ 50.2% ได้รับฉีดกระตุ้นเฉลี่ย 212.5 โดสต่อประชากร 100 คน
"การฉีดวัคซีนสำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว ตอนนี้อัตราเสียชีวิตลดลงค่อนข้างดี เชื่อว่ารัฐบาลเน้นหนักเรื่องการฉีดวัคซีนเพราะมีการฉีดกว่าวันละครึ่งล้านโดส และเร่งปูพรมฉีดเพราะไม่อยากให้ผู้สูงอายุต้องเสียชีวิต" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
"เกาหลีใต้" อยู่ในช่วงติดตามสถานการณ์
เกาหลีใต้ หากนึกย้อนหลังก่อนหน้านี้ ได้รับการยกย่องว่าควบคุมโควิดได้ดีโดยเฉพาะในปีแรก แต่หลังจากการเข้ามาของโอมิครอน สถานการณ์เปลี่ยนไป การติดเชื้อต่อวันเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นมีการเพิ่มขึ้นสูงมาก ช่วงที่มีการติดเชื้อสูงสุดราว 2-3 แสนรายต่อวัน เสียชีวิตราว 400-500 รายต่อวัน ตอนนี้เริ่มลดลง ฉีดวัคซีนแล้ว 122,618,596 โดส ฉีดวันละ 11,801 โดส (ประชากร 51,348,905 คน) 86.9% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 86.0% ได้ 2 โดส และ 63.8% ได้รับฉีดกระตุ้น เฉลี่ย 236.8 โดสต่อประชากร 100 คน อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ยังอยู่ในช่วงที่ต้องติดตามสถานการณ์ แต่เชื่อว่าตัวเลขจะลดลง
"เวียดนาม" สถานการณ์เริ่มดีกว่าไทย
เวียดนาม มีการติดเชื้อใกล้เคียงไทยและแซงเราไป มีการติดเชื้อช่วงโอมิครอนพุ่งสูงแต่ตอนนี้สถานการณ์ดีกว่าประเทศไทย การติดเชื้อราว 1 หมื่นราย และการเสียชีวิตลดลงเหลือเพียงเลข 1-2 หลัก ฉีดวัคซีนแล้ว 208,224,568 โดส ฉีดวันละ 408,729 โดส (ประชากร 98,949,505 คน) 82.3% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 79.8% ได้ 2 โดส และ 46.7% ได้รับฉีดกระตุ้น เฉลี่ย 213.8 โดสต่อประชากร 100 คน
"มาเลเซีย" เสียชีวิตเหลือ 1-2 หลัก
มาเลเซีย เป็นประเทศที่คู่ขนานของไทยตลอด การเกิดขึ้นของโอมิครอน เกิดขึ้นในขณะที่เดลตาในมาเลเซียยังไม่สิ้นสุด แต่พอเสริมด้วยโอมิครอนทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่าวันละ 3 หมื่นราย แต่ตัวเลขขณะนี้ค่อยๆ ลดลง การเสียชีวิตในมาเลเซีย เริ่มเหลือตัวเลข 1-2 หลัก คล้ายๆ เวียดนาม ฉีดวัคซีนแล้ว 69,872,350 โดส ฉีดวันละ 52,284 โดส (ประชากร 33,135,217 คน) 84.0% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 80.2% ได้ 2 โดส และ 48.6% ได้รับฉีดกระตุ้นเฉลี่ย 212.1 โดสต่อประชากร 100 คน
"สิงคโปร์" ติดเชื้อ เสียชีวิต เริ่มลด
สิงคโปร์ เป็นอีกประเทศ ที่ตอนหลังเริ่มมีการตรวจ RT-PCR น้อยลง มีการติดเชื้อ 2,000 -3,000 รายต่อวัน การติดเชื้อลดลง รวมถึงอัตราการเสียชีวิต ฉีดวัคซีนแล้ว 13,932,269 โดส ฉีดวันละ 5,126 โดส (ประชากร 5,934,761 คน) 88.1% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 87.5% ได้ 2 โดส และ 69.4% ได้รับฉีดกระตุ้นเฉลี่ย 245.0 โดสต่อประชากร 100 คน
"ออสเตรเลีย" ติดเชื้อ 4-5 หมื่นราย เสียชีวิตต่ำ
ออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้อยู่ในอันดับต้นๆ ของการควบคุมโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ทันทีที่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามามีการควบคุมรวดเร็วและเด็ดขาด จนกระทั่งมาเจอโอมิครอน ตอนนี้มีการติดเชื้อ 4-5 หมื่นรายต่อวัน การเสียชีวิตเป็นเลข 2 หลัก ฉีดวัคซีนแล้ว 57,375,662 โดส ฉีดวันละ 39,714 โดส (ประชากร 26,047,230 คน) 86.6% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 83.6% ได้ 2 โดส และ 51.8% ได้รับฉีดกระตุ้นเฉลี่ย 223.3 โดสต่อประชากร 100 คน
"ไทย" ตัวเลขปอดอักเสบเริ่มนิ่ง แต่วางใจไม่ได้
ประเทศไทย ฉีดวัคซีนแล้ว 132,564,621 โดส ฉีดวันละ 284,911 โดส (ประชากร 70,117,572 คน) 80.7% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 73.3% ได้ 2 โดส และ 36.6% ได้รับฉีดกระตุ้น เฉลี่ย 189.0 โดสต่อประชากร 100 คน ขณะที่ ข้อมูลล่าสุด 25 เม.ย. 2565 ฉีดวัคซีนแล้ว 132,633,387 โดส เข็มที่ 1 สะสม 56,155,863 ราย 80.7% เข็มที่ 2 สะสม 51,009,258 ราย 73.3% และ เข็มที่ 3 สะสม 25,468,266 ราย 36.6%
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมียุทธศาสตร์การจัดการวิกฤติ โควิด-19 ด้วย “ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ” ทำอย่างไรให้ติดเชื้อน้อยลง “ยุทธศาสตร์ปลายน้ำ” ทำอย่างไรให้ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการกลับบ้าน อัตราการหาย และ “ยุทธศาสตร์กลางน้ำ” คือ การฉีดวัคซีน ที่จะมีผลทำให้การเสียชีวิตลดลง ขณะเดียวกันจะช่วยลดการแพร่ระบาดในสังคมได้ด้วย
“อย่างไรก็ตาม มาตรการวัคซีนมีความสำคัญ แต่อาจไม่เพียงพอ หากใช้แค่มาตรการวัคซีนอย่างเดียว ต้องใช้มาตรการอื่นๆ มาร่วมด้วย หากจะเอาวัคซีนเป็นตัวตั้งในการสู้กับโอมิครอน เข็มกระตุ้นเป็นสำคัญ และจะต้องตั้งเป้าหมายตัวเลขการฉีดเข็มกระตุ้นไม่น่าจะน้อยกว่า 50% หากจะเข้าสู่โหมดผ่อนผันมากขึ้น”
ณ วันนี้ประเทศต่างๆ มีการรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 กว่า 80% ขณะที่ประเทศที่คุมการติดเชื้อและเสียชีวิตค่อนข้างดี มักจะเป็นประเทศที่มีการฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 50% ขณะที่ไทย ได้รับเข็มกระตุ้นเพียง 1 ใน 3 คือ ราว 36% ยังห่างไกลจากตัวเลข 50% ช่วงเวลานี้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หากต้องการให้อัตราการเสียชีวิตเหลือเลข 2 หลัก เพราะตอนนี้เป็น 3 หลักอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในข้อมูลที่บ่งบอกว่าการเสียชีวิตลดลงหรือไม่ คือ จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ
"ข้อดีคือ 3-4 วันเริ่มเห็นตัวเลขที่ไม่ค่อยขึ้น ค่อนข้างนิ่ง หวังว่าหากนิ่งแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ น่าจะเริ่มเห็นอัตราการเสียชีวิตลดลง เป็นเป้าหมายใหญ่ที่เราอยากจะให้เกิดขึ้น"
“เราสู้รบมือกันมาตลอด 2 ปี เชื่อว่าประเทศไทยกำลังไปในทิศทางที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ เราเข้าใกล้สถานการณ์ที่ใกล้ปกติในอีกไม่นานนี้ แต่ว่าทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือ อย่าให้ทุกอย่างย้อนกลับไป เชื่อว่าเมื่อเรามาถูกทางแล้ว 3 ฝ่ายช่วยผสานเต็มที่ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่กำหนดมาตรการและนโนบาย (รอบคอบ ชัดเจน) ฝ่ายที่ดำเนินการตามมาตรการและนโยบาย (มุ่งมั่น รับผิดชอบ) และ ฝ่ายที่ได้รับผลจากมาตรการและนโยบาย คือ สังคม (ร่วมมือ วินัย) เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว