อุตสาหกรรม "แฟชั่น" ยั่งยืน ลดใช้ทรัพยากร สู่เป้า "Net Zero"
กระแส "แฟชั่น" เสื้อผ้าที่มาไวไปไว กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างภาระให้กับโลก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งมหาศาล รวมถึงในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมาก
ข้อมูลจาก กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า สหราชอาณาจักร เป็นศูนย์กลาง Fast Fashion ในยุโรป ทุกๆ ปี ประชากรแต่ละคนซื้อเสื้อผ้าประมาณ 26.7 กิโลกรัม สัดส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ในเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2543 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในปี 2562 เส้นใยเหล่านี้ผลิตจากน้ำมัน เสื้อโพลีเอสเตอร์หนึ่งตัวมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 5.5 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 2.1 กิโลกรัม
หากความต้องการยังคงเติบโตต่อเนื่องปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมของเสื้อผ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,978 ล้านตันภายในปี 2593 นั่นหมายความว่าภายในปี 2593 อุตสาหกรรมนี้จะต้องใช้งบประมาณในการจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งถึง 2 องศาเซลเซียส ถึงร้อยละ 26 จากทั้งหมด
อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงประมาณ 1.2 พันล้านตันในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ของเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกัน นอกเหนือจากผลกระทบการผลิตสิ่งทอแล้ว ยังมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ คือ การซักเสื้อผ้าและวิธีการทิ้งเสื้อผ้า ซึ่งก็คือมีการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.3 พันล้านตันในทุกๆ ปี หรือเท่ากับร้อยละ 8 ของการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ทั่วโลก
บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด เป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านการค้าปลีกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 1 ใน 8 แบรนด์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ UNIQLO (ยูนิโคล่) และแบรนด์อื่นๆ ได้แก่ GU , Theory , PLST (Plus T) , Comptoir des Cotonniers , Princesse tam.tam , J Brand และ Helmut Lang จึงได้พัฒนา Life Wear ไปสู่อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 ตาม ความตกลงปารีส
“โยชิทาเกะ วาคากุวะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า เสื้อผ้าสำคัญเทียบเท่ากับอาหาร ที่อยู่อาศัย และแม้จะเป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้า แต่จะมุ่งแก้ปัญหาสังคมต่างๆ ทั่วโลก ทุกอย่างขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด LifeWear พยายามสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ในความคิดริเริ่ม 2 ด้าน คือ ดูแลตั้งแต่ซัพพลายเชนไปถึงการจำหน่าย ขณะเดียวกัน ต้องผลิตเสื้อผ้าที่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า และจัดเก็บเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน
ตั้งเป้าภายในปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้านค้าและสำนักงาน 90% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิต วัตถุดิบ ลง 20% เพิ่มสัดส่วนของวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ราว 50% ตระหนักถึงแนวคิด “ขยะเป็นศูนย์” (Zero Waste) ตั้งแต่ต้นกระบวนการด้วยการลดการใช้งาน การเปลี่ยนวัสดุ การนำมาใช้ใหม่ และการรีไซเคิลวัสดุในกระบวนการส่งมอบเสื้อผ้าให้แก่ลูกค้า สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593
ด้าน "ฮิโรยูกิ มะซึโมะโตะ" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ยูนิโคล่อยากเป็นแบรนด์ที่หนึ่งในด้านความยั่งยืนในไทย เนื่องจากอยู่ในอุตสาหกรรรมที่ใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมาก เสื้อ 1 ตัวใช้น้ำราว 2,700 ลิตร ยีนส์ 1 ตัว ใช้น้ำถึง 10,000 ลิตร หากใช้เสื้อผ้านานขึ้นถือว่าช่วยประหยัดน้ำให้โลก จากเดิมซื้อ 2 ตัวต่อหนึ่งปี เหลือ 1 ตัวต่อหนึ่งปี ก็ถือว่าช่วยลดการใช้น้ำได้
ทั้งนี้ ได้เปลี่ยนกระบวนการแต่งผิวยีนส์ด้วยเลเซอร์แทนกระดาษทราย ช่วยลดการใช้น้ำได้กว่า 99% รวมถึงพัฒนาเสื้อโปโลดรายเอ็กซ์ ผลิตจากขวดพลาสติก โดยอัตราส่วนของโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลอยู่ที่ 38-75% ต่อตัว และ กระเป๋าผลิตจากเส้นใยไนลอนรีไซเคิล 30% ต่อใบ มาจากเส้นใยที่ถูกทิ้งในกระบวนการผลิต นำมาขึ้นรูปเป็นเส้นใยและผลิตเป็นกระเป๋า
เลเซอร์แต่งผิวยีนส์ลดใช้น้ำ 99%
สำหรับ กรรมวิธีในการผลิตยีนส์โดยทั่วไปเดิมใช้กระดาษทรายแต่งผิวผ้ามาเป็นเวลานานเพื่อให้ผ้าเดนิมมีความวินเทจ โดยพนักงานที่มีความชำนาญจะต้องใช้มือขัดกางเกงยีนส์จนกระทั่งได้การเฟดสีที่สวยสมบูรณ์แบบ เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานอย่างมาก ยูนิโคล่ได้พัฒนากระบวนการขึ้นมาใหม่โดยใช้เลเซอร์เพื่อแต่งผิวผ้าเดนิมได้อย่างตรงจุด การใช้เลเซอร์ช่วยลดการใช้แรงงานลง พร้อมยกระดับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น
โดยได้ออกยีนส์รุ่นใหม่ BlueCycle ถือเป็นการพลิกโฉมในวงการอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถลดการใช้แรงงานและน้ำในกระบวนการแต่งผิวผ้า BlueCycle ช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการซักฟอกและแต่งผิวผ้ายีนส์ได้อย่างมากถึง 99% กระบวนการแต่งผิวผ้าด้วยเลเซอร์ที่นำมาใช้ทดแทนกระดาษทรายนั้นช่วยลดภาระให้กับพนักงานและยกระดับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
ลดคาร์บอน ขยะเป็นศูนย์
ขณะเดียวกัน ยูนิโคล่ ยังได้รณรงค์เรื่องการลดผลกระทบที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ในทุกกระบวนการด้านธุรกิจ ตั้งแต่การวางแผนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงขั้นตอนการผลิต การขนส่ง การวางจำหน่าย และการจัดการ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเริ่มชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากไฟฟ้า 100% ที่ร้านสาขา ผ่านการแลกใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้าชดเชยการปล่อยคาร์บอน 100% จากไฟฟ้าที่ร้านสาขาและสำนักงานภายในปี 2566 และตั้งเป้าเปลี่ยนระบบไฟเป็น LED 100% และลดแสงสว่างในร้านสาขาของยูนิโคล่ ร่วมมือกับ บริษัท รีแอค ReAcc เพื่อรับใบรับรองพลังงานหมุนเวียน 100% (I-REC)
นอกจากนี้ยังตั้งเป้าสู่ “ขยะเป็นศูนย์” (Zero Waste) สนับสนุนให้คนไทยบริจาคผลิตภัณฑ์ยูนิโคล่ที่ไม่ใช้ ผ่านโครงการ Re.UNIQLO โดยมีจุดรับภายในสาขา ในปี 2563 เปลี่ยนถุงชอปปิงพลาสติกเป็นถุงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเรียกเก็บเงินค่าถุงกระดาษเพื่อสนับสนุนการใช้ซ้ำของถุงชอปปิง พร้อมร่วมมือกับ บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP นำกล่องกระดาษมารีไซเคิลเป็นวัสดุอื่นๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์กระดาษ เพื่อสนับสนุนในการใช้งานภายในค่ายผู้ลี้ภัยของ UNHCR
ดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า SCGP มี ESG เป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้บริโภค ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสังคม บนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593
ภายใต้การดำเนินการของแบรนด์ SCGP Recycle จัดเก็บกล่องกระดาษเหลือใช้ นำมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเฟอร์นิเจอร์กระดาษที่แข็งแรงและสวยงาม ส่งมอบให้ค่ายผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี นำไปใช้ประโยชน์ใหม่ และอีกส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นกระดาษพิมพ์เขียน เพื่อใช้งานในยูนิโคล่ 32 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สามารถจัดเก็บกล่องกระดาษเหลือใช้ได้แล้วกว่า 97 ตัน พร้อมขยายผลความร่วมมือไปยังยูนิโคล่สาขาอื่นๆ ทั่วประเทศ
พลังงานหมุนเวียน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ
บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ร่วมมือกับ บริษัท รี แอค จำกัด (ReAcc) บริษัทย่อยของ ปตท.ซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificates (RECs) จาก ReAcc ตัวแทนให้บริการซื้อขายด้านพลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางก๊าซเรือนกระจก ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มให้แก่บริษัทที่ต้องการจัดหาพลังงานหมุนเวียนให้สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้าง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยพลังงานหมุนเวียนที่ยูนิโคล่ ซื้อไปทดแทนมาจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด และจะนำไปใช้ในร้านยูนิโคล่ทุกสาขาในประเทศไทย
ประสงค์ อินทรหนองไผ่ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เผยว่า พันธกิจหลักของ ReAcc คือ ให้บริการจัดหาพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ การซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) การซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Power Purchase Agreement (PPA) และการใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนกับรถยนต์ไฟฟ้า ความร่วมมือในครั้งนี้ ยูนิโคล่ ประเทศไทย เลือกซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนจาก ReAcc เพื่อใช้ทดแทนการใช้พลังงานสิ้นเปลืองในร้านยูนิโคล่ทุกสาขาในประเทศไทย จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจหันมาผลิตและใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเพิ่มศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืนของประเทศสู่เวทีโลกในอนาคตต่อไป