สำรวจ "ค่าครองชีพไทย" ผ่าน "ดัชนีบิกแมค" เทียบราคาเบอร์เกอร์ "แมคโดนัลด์"
ชวนทำความรู้จัก “ดัชนีบิกแมค” (Big Mac Index) เครื่องมือชี้สถานะ “ค่าครองชีพ” และคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศต่างๆ ผ่านราคา “บิกแมค” เบอร์เกอร์เมนูหลักของแมคโดนัลด์ ที่มีขายอยู่ในกว่า 3 หมื่นสาขาทั่วโลก
ประเด็น “ของแพง ค่าแรงไม่ขึ้น” ยังคงเป็นเรื่องหลักในสังคมไทยตอนนี้ เมื่ออะไรๆ ก็แพงจน “ค่าครองชีพ” เพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้กลับเพิ่มขึ้นไม่ทัน
ขณะที่ข้อเสนอการ “ขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ” เป็น 492 บาททั่วประเทศ ยังเป็นได้แค่ฝัน เพราะฝั่งผู้ประกอบการร้องค้านแทบจะทันที เนื่องจากจะกระทบต้นทุนการผลิตอย่างหนักและกะทันหันเกินไป
เมื่อราคาสินค้ามีแต่ขึ้นกับขึ้น แต่ “ค่าแรงขั้นต่ำ” กลับย่ำอยู่กับที่ แน่นอนว่า ย่อมส่งผลต่อ “คุณภาพชีวิต” โดยตรง
อย่างไรก็ตาม การวัดคุณภาพชีวิตว่าดีหรือไม่นั้น อาจจะเห็นภาพได้ง่ายขึ้นจากการนำไปเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ความแตกต่างของแต่ละประเทศก็ทำให้เกิดความยากในการเปรียบเทียบ ทำให้ “ดัชนีบิกแมค” หรือ "Big Mac Index" จึงเป็นดัชนีที่น่าสนใจและถูกหยิบมาใช้ประเมินคุณภาพชีวิตของผู้คน
- “ดัชนีบิกแมค” คืออะไร?
"ดัชนีบิกแมค" หรือ Big Mac Index คือ ดัชนีอ้างอิงจากทฤษฎีความเสมอภาคด้านอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity : PPP) ที่คิดค้นโดย The Economist นิตยสารด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ในปีค.ศ.1986
ทฤษฎีความเสมอภาคด้านอำนาจซื้อ หรือ “ทฤษฎี PPP” มุ่งอธิบายการเบี่ยงเบนของค่าเงินแต่ละสกุล หรือสะท้อนความสมดุลระยะยาวของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลหนึ่งกับเงินอีกสกุล และมีข้อสมมติที่สำคัญว่า ขณะที่มีการเคลื่อนย้ายทุนได้อย่างเสรี สินค้าจำพวกเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดก็ตาม เมื่อนำเทียบด้วยสกุลเงินเดียวกันแล้ว ราคาสินค้าจะต้องเท่ากัน
อย่างไรก็ตาม การใช้ทฤษฎีดังกล่าวมีความยุ่งยากตรงการเทียบกลุ่มสินค้าที่มีความคล้ายกันระหว่างประเทศนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เพราะแต่ละประเทศอาจไม่ได้มีหรือใช้สินค้าชนิดเดียวกัน และแม้กระทั่งจะมีสินค้าชนิดเดียวกัน ก็อาจมีความแตกต่างกันในลักษณะบางประการ จนไม่สามารถนำมาใช้วัดได้
ดัชนีบิกแมคจึงถูกคิดค้นขึ้นมา เนื่องจากแมคโดนัลด์กระจายสาขาอยู่ใน 122 ประเทศ จาก 195 ประเทศทั่วโลก และสินค้ายังมีความคล้ายกันในแทบทุกพื้นที่ ฉะนั้น บิกแมคจึงมีความเป็น “สินค้าสากล” สามารถใช้เป็นตัวแทนของสินค้าจำพวกเดียวกันตามหลัก PPP ได้
การใช้งานดัชนีบิกแมคสามารถอธิบายได้ดังนี้ โดยสมมติให้คู่ประเทศที่ต้องการเทียบ ยกตัวอย่าง สหรัฐ และ ญี่ปุ่น หลังจากนั้นนำเอาราคาบิกแมคของทั้งสองประเทศมาเทียบกัน
เช่น ในเดือนม.ค. 65 ราคาบิกแมคของสหรัฐและญี่ปุ่นอยู่ที่ 5.81 ดอลลาร์ และ 390 เยน เมื่อนำมาเทียบกัน พบว่า อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์และเยนควรอยู่ที่ระดับ 67.13 (390/5.81) แต่ความเป็นจริง อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินทั้งสองนั้นอยู่ที่ระดับ 115.22 เยนต่อดอลลาร์
นั่นบ่งชี้ว่า “เงินเยน” อ่อนค่ากว่าที่ควรจะเป็น (Undervalued) ราว 41.7% อย่างไรก็ตาม ทางนิตยสาร The Economist ได้ชี้แจงไว้ว่า ดัชนีไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อวัดผลทางค่าเงินต่างๆ อย่างละเอียด เพียงแค่ต้องการอธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น
- “Big Mac Index” ใช้วัดคุณภาพชีวิตได้อย่างไร?
แม้ว่าดัชนีบิกแมคจะถูกคิดค้นเพื่อวัดการเบี่ยงเบนของค่าเงินตามทฤษฎี PPP แต่ทั้งนี้ยังสามารถบอกถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนในแต่ละประเทศได้
จากตัวอย่างก่อนหน้า การที่ผลลัพธ์ของอัตราแลกเปลี่ยนตามดัชนีบิกแมคต่ำกว่าความเป็นจริง แปลได้อีกความหมายว่า คนญี่ปุ่นซื้อบิ๊กแมคได้ในราคาที่ถูกกว่าคนอเมริกัน จากการวัดด้วยสกุลเงินเดียวกัน
เมื่อคนอเมริกันจ่ายเงินซื้อบิกแมคด้วยราคา 5.81 ดอลลาร์ หากนำเงินจำนวนเดียวกันไปแลกเป็นเงินเยน จะได้ราว 669.43 เยน ซึ่งสามารถซื้อบิ๊กแมคในญี่ปุ่นได้เกือบ 2 ชิ้น (บิ๊กแมค 1 ชิ้นในญี่ปุ่นมีราคา 3.38 ดอลลาร์)
แม้ว่าคนญี่ปุ่นซื้อบิกแมคได้ถูกกว่าคนอเมริกัน แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ประชากรในญี่ปุ่นหรือสหรัฐ ใครมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศที่มีรายได้สูง ก็จะมีค่าครองชีพสูงที่สูงตามไปด้วย
ดังนั้น “ระดับรายได้” และ “อำนาจซื้อ” ของคนในแต่ละประเทศ จึงมีความสำคัญต่อการพิจารณา และต่อยอดเป็นการพัฒนารูปแบบของดัชนี โดยเพิ่มตัวแปรอย่าง ความแตกต่างของรายได้ประชากรต่อหัว (GDP per capita) เข้ามาร่วมคำนวณ เพื่อการแปลผลที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
กลับมาที่ตัวอย่างเดิม เมื่อนำรายได้ต่อหัวของแต่ละประเทศมาคิดแล้ว พบว่า ญี่ปุ่นควรมีราคาบิกแมคถูกกว่าสหรัฐ 16.3% แต่ความเป็นจริงคือถูกกว่าราว 41.7% บ่งบอกว่า เงินเยนอ่อนค่ากว่าที่ควรจะเป็น 30.4% หรือในอีกทางหนึ่งคือ แม้ประชากรทั้งสองประเทศจะมีอำนาจซื้อที่เท่ากัน แต่ราคาบิกแมคที่ญี่ปุ่นก็ยังถูกกว่าที่สหรัฐ 30.4%
ถึงกระนั้น การวัดสถานะค่าครองชีพก็ยังไม่ได้ให้ผลที่แม่นยำมากนัก เพราะยังมีข้อจำกัดอื่น อาทิ ในหลายประเทศ บิกแมคไม่ใช่ตัวแทนค่าครองชีพที่ดี ทั้งตัวดัชนียังมุ่งอธิบายผลด้านอัตราแลกเปลี่ยนระยะยาวเป็นสำคัญ ทำให้ผู้ใช้ดัชนีนี้ต้องพิจารณาข้อมูลอื่นๆ ประกอบด้วยเสมอ
- สำรวจคุณภาพชีวิตและสถานะ "ค่าครองชีพ" ของคนไทยผ่าน "ดัชนีบิกแมค"
เมื่อเทียบราคาบิกแมคระหว่างไทยและสหรัฐ ณ เดือนม.ค. 65 พบว่า ราคาบิกแมคในไทยถูกกว่าในสหรัฐราว 33.8% โดยราคาขายบิกแมคในสหรัฐและไทย เท่ากับ 5.81 และ 128 บาท ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำรายได้ต่อหัวประชากรของทั้งสองประเทศเข้ามาคิดด้วยกลับพบว่า บิกแมคในไทยควรมีราคาถูกกว่าในสหรัฐที่ 39.3% หรือพูดง่ายๆ ว่า จากระดับรายได้ต่อหัวของไทย ราคาบิกแมคควรเท่ากับ 117 บาท
ผลลัพธ์ข้างต้นชี้ว่า ราคาบิกแมคในไทยสูงเกินไป หากเทียบกับรายได้ต่อหัวของคนไทยในปัจจุบัน เพราะการซื้อบิกแมค 1 ชิ้น คนไทยต้องใช้เงินในสัดส่วนของรายได้ที่มากกว่าคนอเมริกัน และเมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร จีน และญี่ปุ่น พบว่า คนไทยต้องใช้สัดส่วนของรายได้ที่สูงกว่าคนในประเทศดังกล่าวเช่นกัน
สรุปคือ ค่าครองชีพไทย สูงกว่าประเทศเศรษฐกิจชั้นนำในหลายประเทศ สวนทางกับรายได้ต่อหัวของประชากรที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าทุกประเทศที่กล่าวถึง
อย่างไรก็ตาม บิกแมคไม่ใช่ตัวแทนค่าครองชีพที่ดีในไทย เพราะแมคโดนัลด์นับเป็นร้านอาหารแบรนด์ดังจากต่างประเทศ ทำให้บิกแมคในไทยไม่ใช่อาหารข้างทาง หรือถูกวางให้เข้าถึงง่ายอย่างในสหรัฐหรือประเทศตะวันตก ราคาบิกแมคจึงมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าที่ควรจะเป็นได้
ด้วยเหตุนี้ ดัชนีบิกแมคจึงอาจใช้ประเมินคุณภาพชีวิตของคนไทยได้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น
----------------------------------------------------
อ้างอิง