“โควิด-19” ดันบริการกระจายยาโต 3 เท่า สินค้า-ยา “โควิด” ความต้องการสูง
"ร้านขายยา" ถือเป็นหนึ่งจุดบริการสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ รวมถึง ยารักษาโควิด-19 ส่งผลให้แพลตฟอร์มบริหารจัดการเภสัชกรรม อย่าง "อรินแคร์" มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า
ตั้งแต่ช่วงการระบาด โควิด-19 ร้านขายยา กลายเป็นช่องทางสำคัญในการกระจายอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 หรือยาต่างๆ ให้ถึงมือประชาชน ขณะที่ ร้านยาบางแห่งประสบปัญหาเข้าถึงยาและสินค้าที่จำเป็น รวมถึงมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้แพลตฟอร์มบริหารจัดการเภสัชกรรม อย่าง อรินแคร์ มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า โดยอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับโควิดและยาสำหรับ Home Isolation มีความต้องการสูงขึ้น
อรินแคร์ (Arincare) ในฐานะสตาร์ทอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์สำหรับเภสัชกรและร้านขายยา สัญชาติไทยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริหารจัดการเภสัชกรรมครบวงจร จากที่ผ่านมา ได้เปิดตัวระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Prescription ไปเมื่อปี 2562 เพื่อเชื่อมโยงแพทย์ คนไข้ และเภสัชกรชุมชนเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรกในประเทศไทยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สามารถรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องรอคิวนาน
“ธีระ กนกกาญจนรัตน์” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรินแคร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากเดิมที่อรินแคร์ทำเรื่องระบบช่วยบริหารคลังยา เชื่อมพาร์ทเนอร์หลายรายที่เป็นบริษัทยาและการขนส่ง เช่น SCG Express เพื่อให้ร้านยาร้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล มีโอกาสเข้าถึงเวชภัณฑ์เหล่านี้ได้
ด้วยการจับมือกับผู้ค้าส่งรายใหญ่ทั่วประเทศเพื่อให้ร้านยาสั่งออเดอร์ที่ต้องการได้โดยตรง พาร์ทเนอร์มีหน้าที่รับและส่งให้ทันปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทยา และผู้ค้าส่งชั้นนำกว่า 50 ราย ครอบคลุมกลุ่มยาและเวชภัณฑ์ราว 4,000 รายการ เครือข่ายพันธมิตรกับร้านยาชุมชนเข้าร่วม 3,000 ร้านทั่วประเทศ เพิ่มจากก่อนโควิดซึ่งมีอยู่ราว 2,300 ร้าน
สินค้าได้รับความนิยมช่วงโควิด-19
"การส่งสินค้าให้ร้านยาช่วงโควิดโตขึ้น 3 เท่า เนื่องจากมีการสั่งมากขึ้นจากรายเดิม และมีรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย รายได้ช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ยอดการเติบโตเกินครึ่งปี 2564 ไปแล้ว คาดว่าปีนี้น่าจะโต 4 เท่า มูลค่ารวมธุรกิจร้านยาปัจจุบัน คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 กว่าล้านบาท หากรวมสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาด้วย เช่น วิตามิน หน้ากากอนามัย ATK ประมาณการณ์ว่าอยู่ที่ราว 80,000 กว่าล้านบาท”
สินค้าที่ได้รับความนิยม ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา คือ สินค้าที่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น ATK สินค้าที่เรียกว่าเป็น Hot Item คือ ยาที่เกี่ยวกับ Home Isolation อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา หรือ ไตรมาส 3 ปี 2564 คนไทยเริ่มปรับตัวรับมือได้ สินค้าที่เริ่มกลับมา คือ ยาที่รักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไป ในช่วงหลังโควิด-19 “ธีระ” มองว่า ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น สมุนไพร เสริมสุขภาพเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันระยะยาวมีสมุนไพรหลายสูตรออกมาสามารถสร้างเสริมสุขภาพได้
เพิ่มบริการเทเลเมดิซีน-ประกันสุขภาพ
หลังโควิด-19 ต้องการขยายเครือข่ายร้านขายยา เภสัชกร ให้คนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ทั้งในส่วนของ เทเลเมดิซีน และประกันสุขภาพ เมื่อร้านยากลายเป็นเซ็นเตอร์ เป็นจุดบริการประชาชนให้เข้าถึงได้มากขึ้น ส่งผลให้มีพาร์ทเนอร์ อาทิ การแพทย์ทางไกล ประกันสุขภาพ ให้ความสนใจเข้ามาทำงานกับอรินแคร์มากขึ้น
ล่าสุด ร่วมกับ LINE Thailand เชื่อมต่อพันธมิตรบริษัทยาและผู้ค้าส่งเวชภัณฑ์ชั้นนำทั่วประเทศ ยกระดับ Supply Chain ลดช่องว่างการเข้าถึงยาและสินค้ายุคโควิด มุ่งช่วยให้เภสัชกรและร้านขายยาชุมชน ดูแลผู้ป่วยได้รวดเร็วในราคาที่ประหยัดกว่า พร้อมพัฒนา MedCare MINI APP “ระบบปรึกษาเภสัชกรออนไลน์” (Telepharmacy) บนไลน์แพลตฟอร์ม ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมากกว่า 60 พื้นที่ทั่วไทย ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับร้านยาชุมชนหลายแสนบาทต่อเดือน โดยหลังจากเปิดตัวได้ 3 เดือน เชื่อมโยงผู้ป่วยได้รับบริการจากเภสัชกรชุมชนมากกว่า 10,000 ครั้ง
ปรึกษาเภสัชกรผ่าน Telepharmacy
ในอนาคตคนไข้ไม่จำเป็นต้องไปที่ร้านยา แต่สามารถปรึกษาเภสัชกรผ่านระบบ Telepharmacy ได้ ไม่ว่าจะเป็นการโทรคุย หรือ แชท ตามที่คนไข้สะดวก เพื่อให้ผู้ป่วยรับบริการจากเภสัชกรได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน หากยาที่ให้จัดส่งที่บ้าน จะต้องเป็นยาที่ร้านยาสามารถจัดส่งได้ตามกฎหมาย เช่น ยาโรคทั่วไปที่ไม่รุนแรงมาก หากเป็นยาอันตราย อาจต้องไปรับเองหรือไปที่โรงพยาบาล ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น
"จากนี้ต่อไปจะมีพาร์ทเนอร์อีกหลายราย จากตอนแรกเป็นระบบโลจิสติกส์อย่าง SCG Express ถัดมา มีโอกาสได้คุยกับ LINE และต่อไปจะเห็นประกัน เทเลเมดิซีน อย่างไรก็ดี ยังคง มองหาโอกาสและการสนับสนุนหรือความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ตลอด Supply chain ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง หรือการบริการอื่น ๆ เพื่อร่วมสร้างคุณค่าให้กับสังคมและคนไทยทุกคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งๆขึ้นไป"
ผู้ป่วยโควิดสามารถใช้บริการ “MedCare” MINI App เภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) “บนแพลตฟอร์ม LINE ได้ที่ http://www.medcare.asia ร้านขายยาและเภสัชกรสามารถติดต่อเพื่อทดลองใช้ระบบและสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ต่างๆได้ที่ https://www.arincare.com
ปี 65 อุตสาหกรรมยาขยายตัว 3-5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน แต่อุตสาหกรรมยาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของธุรกิจ Healthcare ซึ่งมีแนวโน้มเติบโต สะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดของผู้บริโภคกว่า 30-40% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับยา มูลค่าการนำเข้ายาของไทยในปี 64 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 13.0% จากปี 63 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการนำเข้ายาเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19
แม้สถานการณ์การระบาดจะมีสัญญาณดีขึ้น จนอาจทำให้ความต้องการยาดังกล่าวปรับตัวลดลง แต่ในทางกลับกันก็อาจทำให้คนไข้ไทยกลุ่มเดิมที่รักษาโรคทั่วไป และคนไข้ต่างชาติบางกลุ่มทยอยกลับมาใช้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีนี้ ปัจจัยข้างต้นจะยังหนุนให้มูลค่าตลาดยาในประเทศปี 65 อยู่ที่ 2.33-2.38 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 3.0-5.0% เมื่อเทียบกับปี 64 ที่ขยายตัว 2.5%
การจำหน่ายยาผ่านช่องทางโรงพยาบาลรัฐ น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพิงสวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ร้านค้าขายยารายย่อยต้องเผชิญการแข่งขันจากการเติบโตของร้านขายยาแฟรนไชส์และการขยายจุดจำหน่ายยาของห้างค้าปลีก เม็ดเงินค่าใช้จ่ายสำหรับยาต้นตำรับ (Original Drugs) ต่อยาชื่อสามัญ (Generic Drugs) มีสัดส่วนประมาณ 45:55 ของค่าใช้จ่ายยาในประเทศทั้งหมด
การเติบโตของตลาดยาในประเทศน่าจะเป็นโอกาสของผู้ผลิต/นำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมูลค่าตลาดยากว่า 70% ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ หากไทยต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่คุณภาพและมาตรฐานของการผลิต การสร้างความเชื่อมั่นหรือการยอมรับให้กับผู้ใช้ ตลอดจนการทำการตลาดให้หันมาใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากยาชื่อสามัญที่ไทยพอจะมีศักยภาพในการผลิตได้ ในขณะที่ยาต้นตำรับ อาจยังต้องพึ่งพาการนำเข้า เนื่องจากต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาที่ใช้ระยะเวลานานและเงินลงทุนสูง