กินอุจจาระ-ปัสสาวะ "พระบิดา" รักษาโรค สะท้อนความรอบรู้ด้านสุขภาพคนไทย

กินอุจจาระ-ปัสสาวะ "พระบิดา" รักษาโรค สะท้อนความรอบรู้ด้านสุขภาพคนไทย

กินอุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ "พระบิดา"เพื่อป้องกัน รักษาโรค สะท้อน“ความ(ไม่)รอบรู้ด้านสุขภาพ”ชัดเจน สอดคล้องผลสำรวจปี 2562 คนไทย 19 % มีความรอบรู้ด้านสุขภาพต่ำ นำมาสู่การยกร่างแผนปฏิบัติการการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะและการป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะฉบับแรก

     จากการที่ กรมอนามัย ทำการสำรวจ ความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไปครั้งที่ 1 เมื่อปี 2562 พบว่า ภาพรวมคนไทยมี ความรอบรู้ด้านสุขภาพ 65 % จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 70 %โดยประชาชน 19 %  มีความรอบรู้ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจดูแลสุขภาพ ปัจจัยที่สัมพัน์กับการมีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ ประกอบด้วย  อายุ 60 ปีขึ้นไป ,อ่านไม่ได้,เขียนไม่คล่อง,ไม่ได้เรียนหนังสือ,ไม่มีบทบาทในชุมชน ไม่ได้รับข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต/ไลน์/เฟซบุ๊ก และมีปัญหาทางการได้ยิน 

     มิติระบบสุขภาพที่มีคะแนนเฉลี่ยความรอบรู้น้อยที่สุด 4 ลำดับ  คือ

ลำดับที่ 1 ผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ

ลำดับที่ 2 บริการสุขภาพ

ลำดับที่ 3 การป้องกันโรค  

ลำดับที่ 4 การส่งเสริมสุขภาพ

โดยทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ การเข้าถึง รองลงมา การทบทวน-ซักถาม

      ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 องค์การอนามัยโลก ได้ให้ความหมายของ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy คือ ความรู้และสมรรถนะของบุคคลที่เพิ่มพูนจากการดำรงชีวิต และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจตลอดช่วงวัย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการมีอยู่ของแหล่งทรัพยากรต่างๆ ที่เอื้อให้ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ ประเมินและใช้ประโยชน์จากข้อมูลและบริการ เพื่อส่งเสริมและดำรงรักษาสุขภาพและความเป็นอยู่ดีสำหรับตนเองและคนรอบข้าง  

      โดย ทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพ 5 ข้อ ส่วนที่คนตอบว่ายาก ยากมาก มากที่สุด คือ

1.การเข้าถึง  เรื่องการค้นหาข้อมูลที่เชื่อถือได้  เกี่ยวกับการบริการหรือผลิตภัณฑ์หรือเครื่องมือเกี่ยวกับสุขภาพที่ออกมาใหม่ 22.6 % 

2.การเข้าใจ เรื่องเข้าใจคำอธิบายของบริการหรือผลิตภัณฑ์ หรือเครื่องมือเกี่ยวกับสุขภาพที่ออกมาใหม่ 27.9 %  

3.การทบทวน-ซักถาม  เรื่องซักถามข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ จากอาสาสมัครสาธารณสุข 53.9%

4.การตัดสินใจ เรื่องปฏิบัติตามข้อมูลการเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างมั่นใจ 19.3 %

5.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เรื่องค้นคว้าตรวจสอบผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัถุอันตราย จากแหล่งที่เชื่อถือได้และรู้ว่าสามารถร้องเรียนได้ที่ใด 27.9 %

กินอุจจาระ-ปัสสาวะ \"พระบิดา\" รักษาโรค สะท้อนความรอบรู้ด้านสุขภาพคนไทย

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงต้องมีการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมให้คนไทยให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ผ่านการประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะและการป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ ปี 2566 – 2570 สำหรับใช้ดำเนินการ สร้างความรอบรู้ประชาชนไทยต่อไป โดยคณะกรรมการสร้างเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบหลักการเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2565
      “เป้าหมายเพื่อให้คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาวะ สามารถดูแลสุขภาพ มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ สามารถป้องกันและลดโรคที่สามารถป้องกันได้ เกิดเป็นสังคมบ่มเพาะจิตสำนึกการมีสุขภาพดีสูงขึ้น ผ่านกลไกการดำเนินการห่วงโซ่คุณภาพ ซึ่งหากประชาชนมีความตื่นตัว ตื่นรู้ และเข้าใจเรื่องสุขภาพ จะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง การเจ็บป่วยประชาชนลดลง “นายสาธิตกล่าว 

กินอุจจาระ-ปัสสาวะ \"พระบิดา\" รักษาโรค สะท้อนความรอบรู้ด้านสุขภาพคนไทย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในร่างแผนปฏิบัติการความรอบรู้ด้านสุขภาพสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะและการป้องกันปัจจัยเสี่ยง เพื่อขับเคลื่อน แผนปี 2566 – 2570 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพในการจัดการสุขภาวะของคนทุกกลุ่มวัย เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพและเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย โดยเฉพาะข้อมูลความรู้ ด้านสุขภาพ Application Digital Health literacy เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาเรื่องข้อมูลท่วมท้น โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ถูกต้อง เมื่อประชาชนเชื่อถือข้อมูลเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบทั้งด้านการเงิน สุขภาพ และจิตใจ สิ่งที่จะเป็นภูมิคุ้มกัน ได้มากที่สุด คือ การรู้จักเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ และนำมาปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อไป

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาภาคีเครือข่ายประชาชน องค์กร ชุมชนท้องถิ่น เป้าหมายเพื่อให้ชุมชน ภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน (พชอ.) มีศักยภาพในการป้องกัน และควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ มีการพัฒนาองค์กรต้นแบบรอบรู้  ด้านสุขภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ การศึกษา สังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เป้าหมาย เพื่อการพัฒนา 3 ระบบ ด้านสาธารณสุข ด้านศึกษา และด้านสังคม ให้เกิดการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและตอบโต้ความเสี่ยงด้านสุขภาพ มีการณรงค์สื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะ 4 เรื่องที่ต้องเร่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ ที่มักพบการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ซื้อต้องสูญเสียเงิน และยังส่งผลต่อสุขภาพหลังการใช้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับบริการสุขภาพ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เป้าหมายเพื่อพัฒนาศูนย์กลางการขับเคลื่อน ความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับชาติ และมีเครือข่ายที่ประสานงาน ทั้งระดับส่วนกลาง และระดับภูมิภาค ตลอดจน การขับเคลื่อนนโยบายรอบรู้ด้านสุขภาพสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย กลุ่มด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง โดยมีเป้าหมายให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึง เข้าใจ ซักถาม ตัดสินใจ ปรับใช้ และบอกต่อข้อมูลด้านสุขภาพ บริการสุขภาพ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ยา และการส่งเสริมสุขภาพได้
กินอุจจาระ-ปัสสาวะ \"พระบิดา\" รักษาโรค สะท้อนความรอบรู้ด้านสุขภาพคนไทย

      ขณะที่นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย  กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยกำหนดความรอบรู้ด้านสุขภาพ ประกอบด้วย

1.บุคลากรด้านสาธารณสุข  มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับความรอบรู้ด้านสุขภาวะ และคุณลักษณะพื้นฐานที่สำคัญเกี่ยวกับความรู้ด้านสุขภาพ

2.เครือข่ายและภาคีการพัฒนา มีองค์กรต้นแบบด้านสุขภาพ มาตรการและนโยบายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ชัดเจน และการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบุคลากรด้านสาธารณสุข

3.เครื่องมือและกลไกการทำงาน มีเทคโนโลยีการเฝ้าระวังและตอบโต้ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ถูกต้อง และการสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพที่มีความน่าเชื่อถือ

4.ประชาชน มีรากฐานองค์ความรู้และทักษะด้านสุขภาพที่ถูกต้อง การตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดี และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

5.สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะและการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ

โดยบุคลากรทุกภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้พื้นฐานมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะที่ดี กำลังคนด้านสุขภาพที่พร้อมพัฒนาอาสาสมัครให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ การบริหารจัดการด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาพ