3 สายพันธุ์โควิด19 ต้องเพ่งเล็ง ในไทยเจอ 1 สายพันธุ์
กรมวิทย์เผย โควิด19โอมิครอน BA.2 ครองไทย เพ่งเล็ง 3 สายพันธุ์ เจอในไทย 1 สายพันธุ์ 1 คน ส่วน “โควิดไฮบริด” ยังไม่พบในไทย
เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 ประเด็น “การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด19ในประเทศไทย” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด19ในประเทศไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-6 พ.ค.2565 พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100 % โดยเป็น
- สายพันธุ์ย่อย BA.1 จำนวน 2.4 %
- สายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 97.6 %
ทั้งนี้ ในส่วนลูกของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ข้อมูลระหว่าง 17 ม.ค.-29 เม.ย.2565 ที่ไทยเจอมากที่สุด คือ BA.2.9 , BA.2.10 และBA.2.12 ซึ่งพันธุ์ย่อยของพันธุ์ย่อยยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชอะไร
สำหรับสายพันธุ์ไฮบริดหรือลูกผสม ที่ไวรัส 1 ตัวมี 2 สายพันธุ์อยู่ด้วยกัน ซึ่งข้อมูลจาก GISAID ฐานข้อมูลโควิด19โลก ไม่มีรายงานตัวอย่างจากประเทศไทย แปลว่าข้อมูลของประเทศไทยยังไม่ถูกจัดชั้นเป็นลูกผสม หรือ ยังไม่พบโควิดไฮบริดในประเทศไทย ที่เคยมีรายงานสงสัยจะบพเป็น XJ และXE ก็ไม่ใช่หลังมีการตรวจสอบโดย GISAIDแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการใช้เครื่องอัตโนมัติตรวจสอบชั้นต้น ในประเทศไทยพบตัวอย่างที่เข้าได้กับ XM 8 ตัวอย่าง XN 3 ตัวอย่างและXE 1 ตัวอย่าง แต่จะต้องมีการตรวจสอบโดยGISAIDเพื่อยืนยันอีกครั้ง
นพ.ศุภกิจ กล่าอีกว่า ขณะนี้ทั่วโลกจับตาเป็นพิเศษและเพ่งเล็งโควิด19 ใน 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งของ สไปก์โปรตีนที่ L452R และF486V โดย L452R เหมือนที่เกิดในสายพันธุ์ เดลตา แต่จะสรุปว่าจะรุนแรงเท่ากับเดลตา ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป จะต้องดูข้อมูลต่อไป โดยในช่วงปลายเดือนก.พ. 2565 องค์การอนามัยโลกระบุสายพันธุ์นี้ว่าต้องจับตามอง ซึ่งมีการระบาดในบอตสวานา แอฟริกาใต้ เยอรมัน เดนมาร์ก โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำให้คนนอนรพ.มากขึ้นหรือไม่ ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงให้จับตามอง โดยในประเทศไทยเจอสายพันธุ์ BA.5 จำนวน 1 ราย สัญชาติบราซิล ส่งตัวอย่างตรวจเมื่อ 12 เม.ย.2565 ส่วนBA.4 ยังไม่มีรายงาน
และสายพันธุ์ BA.2.12.1 ที่เป็นปัญหาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีข้อสังเกตว่า ทำให้คนป่วยนอนรพ.มากขึ้น แต่ยังไม่พบในไทย เพียงแต่ประเทศไทยเจอBA.2.12 จำนวน 2 ราย สัญชาติอินเดีย 1 ราย เมื่อ ม.ค.2565 และสัญชาติแคนาดา เมื่อเม.ย.2565 จึงต้องตามดูว่า เมื่อมีแม่มาก็อาจมีลูก มีหลานตามมาได้ แต่ขอให้มั่นใจว่าการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจสอบได้ และจะเพ่งเล็งมาที่ BA.4 และ BA.5 และ BA.2.12.1 มีน้ำยากระจายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ทั่วประเทศตรวจได้
“ผู้ที่เคยติดเชื้อ BA.1 พบว่าภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากพอ แต่ในผู้ติดเชื้อที่เคยฉีดวัคซีนสามารถป้องกันเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่า ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19ในไทยที่ใช้กันอยู่ยังสามารถป้องกันโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆได้อยู่”นพ.ศุภกิจกล่าว