120 วัน บังคับใช้ "คาร์ซีท" ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึง
รศ.นพ.อดิศักดิ์ เผย เด็กเสียชีวิตจาก "อุบัติเหตุรถยนต์" ปีละกว่า 140 ราย แนะรัฐ เตรียมพร้อม 120 วัน ก่อนบังคับใช้กฎหมาย "คาร์ซีท" มีมาตรการเพิ่มการเข้าถึง อาทิ คนละครึ่ง ตั๋วคืนเงิน ลดภาษีนำเข้า หนุนผลิตในประเทศ การยืมใช้
อุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้เด็กเสียชีวิตปีละกว่า 140 ราย เด็กส่วนใหญ่เสียชีวิตนอกรถยนต์เนื่องจากไม่มีระบบการป้องกัน ทั้งนี้ พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับล่าสุดที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน หรือในวันที่ 5 กันยายน นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กได้รับบาดเจ็บ หรือเป็นอันตรายหากเกิด อุบัติเหตุทางถนน หรือเป็นอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุทางถนน
ใจความสำคัญคือ ผู้ปกครองต้องจัดที่นั่งนิรภัย สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบหรือมีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร หรือต้องจัดหาที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก อายุไม่เกิน 6 ขวบหรือมีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร หรือหาวิธีป้องกันสำหรับเด็กที่โดยสารบนรถ
ทั้งนี้ เมื่อไปดูกฎหมายบังคับใช้ที่นั่งนิรภัย หรือ “คาร์ซีท” (Car Seat) พบว่ามีการบังคับใช้ในหลายประเทศ อาทิ “สหราชอาณาจักร” เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือความสูงน้อยกว่า 135 เซนติเมตร ต้องนั่งคาร์ซีท หรือ เบาะเสริม ( Booster Seat) หรือ “เยอรมนี” ต้องมีสายรัดนิรภัยสำหรับเด็กที่ได้รับอนุมัติตาม UN R44/R129 สำหรับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปีหรือส่วนสูงน้อยกว่า 150 เซนติเมตร และเด็กต้องใช้คาร์ซีทในแท็กซี่
เด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุกว่า 140 รายต่อปี
วันนี้ (10 พ.ค.65) รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวในงานแถลงข่าว ถึงเวลาคุ้มครองชีวิตเด็กๆ ... ถึงเวลาที่นั่งนิรภัย ! ประเด็น “120 วันบังคับใช้กฎหมายที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ใครต้องทำอะไร” ผ่านระบบ Zoom โดยระบุว่า ทางศูนย์วิจัยฯ ติดตามเรื่องนี้มากกว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2545 มีการพูดคุยนานมาก และมีเครือข่ายหลายภาคส่วนในการเข้ามามีส่วนร่วม จากข้อมูล พบว่า อุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้เด็กเสียชีวิตปีละกว่า 140 ราย เด็กส่วนใหญ่เสียชีวิตนอกรถยนต์เนื่องจากไม่มีระบบการป้องกัน
“เด็กต้องใช้ตั้งแต่แรกเกิด แต่มีหลายคนมองว่า เด็กแรกเกิด – 6 เดือน กระดูกยังอ่อนไม่จำเป็นต้องใช้ ขณะเดียวกัน การอุ้มเด็กนั่งตักในเบาะหน้า คือ จุดที่อันตรายที่สุดในรถ เพราะเวลาเกิดเหตุ การเคลื่อนที่ของรถยนต์เกินกว่าที่แม่จะกอดลูกไว้ได้ และการอุ้มเด็กนั่งตักจะทำให้เด็กใกล้ถุงลมนิรภัย หากเกิดการระเบิดแทนที่จะปลอดภัยกลับอันตราย”
นั่งเบาะหน้า เพิ่มโอกาสเสียชีวิต 2 เท่า
ทั้งนี้ เด็กที่อายุน้อยกว่า 13 ปี วิจัย พบว่า การนั่งเบาะหน้าข้างคนขับ มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่านั่งเบาะหลัง 2 เท่า ดังนั้น ควรนั่งเบาะหลังเสมอ การใช้ระบบยึดเหนี่ยวในรถเป็นมาตรการลดการบาดเจ็บ การตายที่สำคัญที่สุดจากการกระเด็นทะลุกระจกออกนอกรถ หรือลอยจากที่นั่งกระแทกโครงสร้างภายในรถหลังเกิดอุบัติเหตุ ขณะเดียวกัน การคาดเข็มขัดที่ไม่เหมาะสมมีความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บกระดูก ไขสันหลัง และช่องท้อง
เตรียมพร้อม 120 วัน บังคับใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ เวลา 120 วัน ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ไม่ใช่เพียงเวลาที่ประชาชนต้องเตรียมตัว แต่เป็นเวลาที่รัฐ ชุมชน องค์กร บริษัท หน่วยงานบริการสุขภาพเด็ก หน่วยงานบริการการศึกษาเด็กปฐมวัย ต้องเตรียมตัว ต้องมีมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงที่นั่งนิรภัย ได้แก่
- มาตรการให้ความรู้ประชาชน
- มาตรการสนับสนุนการซื้อ เช่น คนละครึ่ง ตั๋วคืนเงิน เป็นการลงทุนเพื่อลดการสูญเสีย
- มาตรการลดต้นทุนผู้ขาย เช่น ลดภาษีนำเข้า
- มาตรการสนับสนุนให้มีการผลิตในประเทศ
- มาตรการรองรับจุดบริการสุขภาพหรือจุดบริการ การศึกษาของภาครัฐเอง เช่น โครงการสนับสนุนการเดินทางปลอดภัยครั้งแรกของชีวิต จากโรงพยาบาลสู่บ้านของทารกแรกเกิด โครงการสนับสนุนการเดินทางปลอดภัยจากบ้านสู่โรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันโรค โครงการอนุบาลปลอดภัยเมื่อใช้รถ ในแบบการสนับสนุนที่นั่งนิรภัยเพื่อการยืมใช้
ขณะเดียวกัน “องค์กรภาครัฐ เอกชน บริษัท” ควรมีนโยบายความรับผิดชอบต่อครอบครัวโดยจัดตั้งโครงการครอบครัวปลอดภัยเมื่อใช้รถ ในแบบการสนับสนุนที่นั่งนิรภัยเพื่อการยืมใช้ อาจเป็นทั้งการลงทุนโดยองค์กร บริษัท หรือการระดมผลิตภัณฑ์มือสองที่ยังมีคุณภาพเพื่อจัดตั้งคลังที่นั่งนิรภัยเพื่อการยืมใช้
ด้าน “ชุมชน” ควรมีนโยบายโครงการครอบครัวปลอดภัยเมื่อใช้รถ ในแบบการสนับสนุนที่นั่งนิรภัย เพื่อการยืมใช้ อาจเป็นทั้งการลงทุนโดยชุมชนหรือการระดมผลิตภัณฑ์ มือสองที่ยังมีคุณภาพเพื่อจัดตั้งคลังที่นั่งนิรภัยเพื่อการยืมใช้
“ครอบครัว” ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับข้อมูลปรับเปลี่ยนทัศนคติ และร่วมกันจัดการความปลอดภัยสำหรับเด็กทุกครั้งที่คาดเข็มขัดนิรภัยให้กับตัวเอง
"เวลา 120 วัน ในเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นนโยบาย ดังนั้น ต้องดูมาตรการ รัฐบาลต้องเตรียมพร้อม ขณะที่ หน้าที่หน่วยงาน ชุมชน ที่มีเด็กเล็ก ให้เขาเตรียมตัว เพื่อครอบครัวจะได้สามารถใช้ได้ แนะนำให้จัดตั้งคลังที่นั่งนิรภัย แหล่งซื้อมือสองที่ตรวจสอบคุณภาพได้" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว