รับวัคซีน3เข็ม เสียชีวิตจากโควิด19 สอบสวนโรคละเอียดทุกราย
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบ 2 เรื่อง รับทราบ 3 เรื่อง เพิ่มมาตรการสอบสวนโรคคนรับวัคซีน3เข็มเสียชีวิตจากโควิด19ทุกราย เร่งกำจัดไวรัสตับอักเสบ
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาและหารือใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.รับทราบความก้าวหน้าแผนดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด19สู่โรคประจำถิ่น และเตรียมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะ Post pandemic
ซึ่งหลังจาก 1 พ.ค. 2565 ที่มีการยกเลิกการเข้าประเทศระบบTest and Go ไม่ต้องกักตัวและไม่ต้องตรวจหาเชื้อRT-PCR ทำให้มีคนเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นหลายหมื่นคน แต่ติดเชื้อไม่เกิน 10 คนต่อวัน เป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจะมีการผ่อนคลายต่างๆมากขึ้น เช่น ยกเลิกการลงทะเบียนผ่านระบบThailand Pass เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่ภาพรวมประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด19 แล้วกว่า 134 ล้านโดส เป็นเข็มที่ 1 กว่า 81 % เข็มที่ 2 กว่า 74 % และเข็ม 3 กระตุ้นกว่า 38 % ซึ่งจะมีการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้เพิ่มมากขึ้น
“ที่ประชุมยังเพิ่มมาตรการ หากเสียชีวิตจากโควิด19 และเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็มแล้ว จะต้องสอบสวนโรคอย่างละเอียดทุกราย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม3แล้วมีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 7 % ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีโรคร่วมที่เป็นกลุ่ม608 ส่วนผู้ที่รับวัคซีน 4 เข็มแล้ว ยังไม่มีอัตราการเสียชีวิตและผู้ที่มีอาการหนักยังวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ฉะนั้น ขอให้กลุ่ม608 ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนเข็ม 4ทันทีหลังเข็ม 3แล้ว 3 เดือน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันตลอดเวลา เพราะผู้เสียชีวิตและใส่ท่อช่วยหายใจขณะนี้มากกว่า 95 %เป็นกลุ่มนี้และไม่ได้วัคซีน 100% ส่วนบุคคลทั่วไปให้รับเข็ม 4 หลังเข็ม 3แล้ว 4 เดือน ”นายอนุทินกล่าว
2.เห็นชอบยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 - 2573 และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 – 2567 โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี นับเป็นปัญหาทางการแพทย์สาธารณสุขระดับโลก องค์การอนามัยโลกคาดประมาณว่าใน พ.ศ. 2562 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี 296 ล้านคน ขณะที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี 58 ล้านคน สำหรับประเทศไทย พบว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ประมาณ 2.2 ล้านคน
และมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี 3.6 แสนคน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งใน พ.ศ. 2563 ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งตับมากกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ โดยพบมากในเพศชาย จึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา กำหนดทิศทาง และนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อปิดช่องว่างและพัฒนารูปแบบ การดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้ได้ภายใน พ.ศ. 2573
3. เห็นชอบการดำเนินการป้องกันและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางแสวงบุญ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ปี 2565 โดยราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประกาศรับผู้แสวงบุญมุสลิมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 1 ล้านคน ร่วมประกอบพิธีฮัจย์ ประจำปี พ.ศ. 2565 (ฮ.ศ.1443) โดยได้จัดสรรโควตาให้กับชาวไทยมุสลิม จำนวน 5,885 คน ภายใต้เงื่อนไขตามที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียกำหนด คร.จึงได้จัดโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ปี 2565 ในวันจันทร์ที่ 30 พ.ค. 2565 ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพมหานคร กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการให้บริการ
ดังนี้ 1.ตรวจสุขภาพก่อนการเดินทาง 2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ให้กับชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศ ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ 3.ออกเอกสารรับรองการให้วัคซีนหรือยาป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ (เล่มเหลือง) โดยยกเว้นค่าใช้จ่าย ในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ให้กับชาวไทยมุสลิมที่เข้าร่วมโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ และ 4.สนับสนุนกระเป๋ายาและเวชภัณฑ์
4.รับทราบ การทบทวนการเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health and Preparedness Review : UHPR) ทั้งนี้ ประเทศไทยจะนำเสนอประสบการณ์รับมือโควิด 19 ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก หรือ WHA ให้ประเทศสมาชิกได้เรียนรู้ ปลายเดือนพ.ค.
และ5.รับทราบการพัฒนาบุคลากรด้านการตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะเรือ และการออกเอกสารรับรอง Ship Sanitation Certificate : SSC ภายหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้น การเดินทางระหว่างประเทศทางเรือกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมที่มีชาวต่างชาติมาเยือนทางเรือ การตรวจสุขาภิบาลเรือและออกเอกสารรับรองสุขาภิบาลจึงมีความสำคัญ ภายใต้มาตรฐานของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทางน้ำ ให้มีศักยภาพประเมินความเสี่ยง ทางด้านสาธารณสุขและสุขาภิบาลในเรือ ให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล