สภามหาวิทยาลัยทักษิณ แต่งตั้ง “ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์" นั่งอธิการบดีคนใหม่
สภามหาวิทยาลัยทักษิณ มีมติเลือก “รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์” ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่ พร้อมนำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ว่าที่อธิการบดีคนใหม่ ประกาศเปิดพื้นที่ความรู้ ร่วมสร้างหมุดหมายใหม่ พลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม
เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 สภามหาวิทยาลัยทักษิณ มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง "รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์" ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยจากนี้ จะเสนอให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พิจารณาเพื่อนำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมสภาฯยังมีมติแต่งตั้งให้ตนรักษาแทนอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป
รศ.ดร. ณฐพงศ์ เปิดเผยว่าในการนำมาเสนอวิสัยทัศน์แก่สภามหาวิทยาลัยนั้น ตนได้นำเสนอเรื่อง “The University of Glocalization” ซึ่งต้องการทำให้มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นพื้นที่ของการเชื่อมต่อความรู้ การสานพลังระหว่างท้องถิ่น และความเป็นสากล หรือโลกาภิวัฒน์
ดังนั้น แนวทางในการบริหารงานของตนจะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทักษิณ ไปสู่มหาวิทยาลัยที่มีจุดยืนที่เข้มแข็งเพื่อท้องถิ่นและเพื่อสังคม ตามปณิธาน “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม” ที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมสังคม และเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม
- 6 หมุดขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ภาพอนาคต
รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวต่อว่า การบริหารงานของมหาวิทยาลัยเพื่อขับเคลื่อนและมุ่งสู่ภาพอนาคตของมหาวิทยาลัยในเชิงยุทธศาสตร์ ได้กำหนดไว้ 6 หมุดหมาย(Milestones) คือ
1) การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
2) สร้างผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3) การบริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน
4) พัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
5) พัฒนามหาวิทยาลัยสู่มาตรฐานระดับนานาชาติบนฐานท้องถิ่น
6.) มีบริหารจัดการที่เป็นระบบเลิศ
- เปิดพื้นที่ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมชุมชนทุกมิติ
รศ.ดร. ณฐพงศ์ กล่าวต่อว่ามหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านที่สำคัญ จากสถานการณ์ภายใน-ภายนอก และถูกคาดหวังจากสังคม จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยทักษิณเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืนจากฐานราก
โดยให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากชุมชนทุกมิติ จัดการเรียนรู้ที่หลากหลายในแพลตฟอร์มใหม่ๆ การแก้ไขปัญหาสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ (Lost Generation) การวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมการเชื่อมโยงกับสังคมบนฐานภูมิปัญญา เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม และการสร้างภาคีความร่วมมือที่หลากหลายทุกระดับ
ทั้งนี้ รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน และ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ รวมทั้งบทบาทในฐานะนักวิชาการทำงานร่วมกับชุมชนในหลายมิติมาอย่างยาวนาน