เร่งพัฒนาแรงงานเขตพื้นที่พิเศษ เสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยว ตั้งเป้า 12,480 คน
รมว.สุชาติ ขานรับนโยบายนายก เร่งพัฒนาแรงงานเขตพื้นที่พิเศษ เสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยว ตั้งเป้า 12,480 คน ช่วยพัฒนาฐานเศรษฐกิจในประเทศ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วย
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด -19
โดยเฉพาะการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ตะวันตก และภาคใต้) เพื่อให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตพร้อมเพรียงกันทุกภาค
ช่วยพัฒนาฐานเศรษฐกิจในประเทศ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วย การเตรียมความพร้อมด้านทักษะของแรงงานจึงสำคัญเพื่อรองรับการเจริญเติบโตตามเส้นทางการคมนาคม
- พัฒนาทักษะแรงงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานนั้น ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนา และยกระดับทักษะฝีมือด้านการท่องเที่ยว ด้านดิจิทัล และ ภาษาต่างประเทศให้กับกำลังแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ และกำลังแรงงานทั่วไป ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจให้มีจำนวนเพียงพอรองรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ
สอดคล้องกับความต้องการของภาคท่องเที่ยวและบริการ เช่น หลักสูตรด้านภาษา หลักสูตรบาริสต้ามืออาชีพ หลักสูตรการท่องเที่ยววิถีไทยในชุมชนยุค Thailand 4.0 หลักสูตรการพัฒนาบุคลิกภาพสำหรับงานบริการ
หลักสูตรการสร้างการบริการที่ประทับใจ และหลักสูตรเทคนิคการเป็นผู้นำท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตด้านการท่องเที่ยว
- ตั้งเป้าพัฒนาแรงงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ12,480 คน
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายดำเนินการทั้งสิ้น 12,480 คน ได้แก่โครงการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 7,200 คน
โครงการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว มีเป้าหมายดำเนินการ จำนวน 4,600 คน อีกโครงการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว คือ โครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับการท่องเที่ยวและบริการให้มีมูลค่าสูง กลุ่มนี้มีเป้าหมายอีก 680 คน
ดำเนินการแล้วทั้ง 3 โครงการ รวม 9,921 คน โดยหลักสูตรที่จัดฝึกอบรมจะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานทั่วไปและแรงงานในสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว และบริการให้มีความพร้อม สามารถพัฒนาทักษะให้เป็นแรงงานฝีมือในยุค 4.0
“ผู้สนใจเข้าฝึกอบรมสามารถสมัครฝึกอบรมกับหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 อีกช่องทางหนึ่ง” นายประทีป กล่าว