สธ.จ่อปรับลดเตือนภัยโควิด19อยู่ระดับ2 -เปิดสถานบันเทิง รอชงศบค.
สธ.เดินหน้าโควิด19สู่โรคประจำถิ่น เตรียมชงศบค.ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ปรับลดเตือนภัยเหลือระดับ 2 จ่อเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ แต่กลุ่ม608-รับวัคซีนไม่ครบควรงดและเลี่ยง ส่วนรักษาโควิดฟรีหลังเป็นโรคประจำถิ่น เข้าระบบตามสิทธิ
เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์โรคโควิ19สู่โรคประจำถิ่น(Endemic) โดยมีผู้บริหารภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
นายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข มาตรการทางเศรษฐกิจ และมาตรการทางสังคมและองค์กร ให้มีความสมดุลสอดคล้องกัน รวมถึงการสร้างความร่วมมือของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด 19 ที่เปลี่ยนมาเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไปได้อย่างปลอดภัย
นายอนุทินกล่าวต่อว่า จากแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น ที่มี 4 ระยะ คือ ระยะต่อสู้กับโรค (Combatting) ระยะโรคทรงตัว (Plateau) ระยะโรคลดลง (Declining) และ ระยะหลังการระบาด (Post pandemic) ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระยะทรงตัว
จึง ประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 4 มาเป็นระดับ 3 พร้อมดำเนินงานในแต่ละด้าน คือ 1.ด้านสาธารณสุข เดินหน้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่าร้อยละ 60 เน้นเฝ้าระวังการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อน และผู้ป่วยปอดอักเสบ และผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2.ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก เน้นดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง มีอาการรุนแรง และภาวะลองโควิด
3.ด้านกฎหมายและสังคม เตรียมการด้านกฎหมายของทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับการปรับตัวสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก ส่งเสริมมาตรการ Universal Prevention และมาตรการ COVID Free Setting
4.ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวิตร่วมกับโรคโควิด 19 อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ คาดว่าช่วงปลายเดือนพ.ค. – มิ.ย.นี้ สถานการณ์จะเข้าสู่ระยะโรคลดลง (Declining) และจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงจะประกาศลดระดับการเตือนภัยเป็นระดับ2
ผู้สื่อข่าวถามถึง ระบบการรักษาเมื่อโรคโควิด19เป็นโรคประจำถิ่น นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างดำเนินไปอยู่แล้ว คำว่า Endemic ไม่ใช่ประเทศไทยจะประกาศได้เลย แต่จะต้องสอดคล้องกับสากลด้วย เพราะตอนที่ประกาศเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกเป็นผู้ประกาศ แต่ในทางปฏิบัติก็จะต้องเตรียมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น แต่ตอนนี้ยังถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอยู่ก็จะสามารถใช้มาตรการต่างๆในการดูแลประชาชนได้
แต่เมื่อทุกอย่างมีความพร้อมแล้ว ความเข้าใจประชาชนดีแล้ว จะแปลสภาพเป็น Endemic หมายความว่าถ้าเกิดติดเชื้อ ก็จะดูว่ามีการติดเชื้อ เสียชีวิตแต่ละวันเป็นอย่างไร ได้รับวัคซีนเพียงพอหรือไม่ เมื่อเป็นโรคประจำถิ่นก็เหมือนไข้หวัดใหญ่มาใช้ตามสิทธิการรักษา ถ้าใครอยากจะรักษาเอง ก็คงต้องขอให้ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ยามาทำการขึ้ทะเบียนปลดจากการใช้ภาวะฉุกเฉินมาเป็นขุึ้นนทะเบียนทั่วไป ให้สามารถหาซื้อยาได้เอง ต้องเดินไปแนวทางนั้นอยู่แล้ว
ถามต่อว่าหากเป็นโรคประจำถิ่นแล้วจะยังคง UCEP Plusไว้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ต้องไปกังวลอะไรมาก เพราะว่า 30บาทรักษาทุกที่จะขยายการให้บริการไปได้ด้วย อย่ายึดติดกับภาพเก่าที่ว่า 30 บาทรักษาทุกโรคมีการต่อยอดหรือไม่ ก็มีการต่อยอดไปอย่างมาก มีสิทธิประโยชน์ต่างๆเพิ่มขึ้นมากมาย
“ภาคเอกชนก็สนับสนุนอย่างมาก ว่าการยกเลิกTest and Goเพิ่มโอกาสทำมาหากินได้คล่องขึ้น แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้ยกเลิกThailand Pass ด้วย ซึ่งสธ.ก็จะเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป” นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเสนอในการประชุมศบค. 20 พ.ค.นี้เลยหรือไม่และจะมีการเสนอผ่อนคลายมาตรการใดเพิ่มเติม นายอนุทิน กล่าวว่า จะดำเนินการแบบเป็นขั้นตอน จะมีการเสนอผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด ให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตสร้างรายได้ให้ได้มากที่สุด
ถามต่อว่าจะมีการเสนอให้เปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะเลยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็จะมีมาตรการต่างๆ เป็นลำดับ เรื่องนี้ยังไงก็ต้องถูกนำเสนอเข้าที่ประชุม ศบค. เป็นสเต็ปเร็ว แต่อยู่ในเงื่อนไขความร่วมมือของประชาชน ตระหนักรู้ให้ตัวเองห่างไกลการติดเชื้อ เมื่อมีความเสี่ยงก็ต้องแยกตัวเองไว้ก่อน
ถามถึงแนวโน้มที่จะลดระดับเตือนภัยโควิด19จากระดับ 3 เหลือระดับ 2 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ซึ่งก็จะพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ถ้าทำได้ก็จะลดลงเหลือระดับ 2 โดยสิ่งที่ห้ามก็จะห้ามเฉพาะส่วนที่แนะนำไว้ในระดับ2 โดยจะสอดคล้องกับมาตรการที่จะเสนอศบค.ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ การเตือนภัยโควิด19ในระดับ 2 ในคำแนะนำของสธ. คนทั่วไปจะสามารดำเนินกิจกรรม/กิจการได้เกือบทั้งหมด ยกเว้น กลุ่ม 608 โดยระบุว่า ไปสถานที่เสี่ยง กลุ่ม608(ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์) ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ งดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิด/แออัด ร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก กลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เลี่ยงร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มจำนวนมาก
เดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด กลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท และเดินทางเข้า-ออกประเทศ กลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศ เข้าประเทศ กักตัว