2 บอร์ดหลัก “กองทุนบัตรทอง”กำหนดทิศทางหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 5 ปี

2 บอร์ดหลัก “กองทุนบัตรทอง”กำหนดทิศทางหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 5 ปี

“2 บอร์ดหลักกองทุนบัตรทอง” ร่วมระดมสมองเพื่อกำหนดทิศทางหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะ 5 ปี “อนุทิน” ร่วมปาฐกถาพิเศษ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับความปกติใหม่” ย้ำผลงานบัตรทองร่วมสร้างรากฐานระบบสาธารณสุขประเทศ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

วันนี้ (12 พ.ค.2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม Board Relation & Empowering คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (บอร์ดควบคุมฯ)

พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับความปกติใหม่” (New Normal) โดยมีนายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ 

นายอนุทิน กล่าวว่า ช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ทุกประเทศต่างต้องเผชิญกับวิกฤตด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของโควิด –19 สำหรับประเทศไทยถือเป็นโอกาสที่ดี ทำให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพครั้งสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ทำให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ทุกหน่วยงาน ทุกระดับ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม มาร่วมกันแก้ปัญหา ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็ง

โดยประเทศไทยโชคดีที่มีระบบหลักประกันสุขภาพสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ที่พัฒนามาอย่างยาวนาน เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดย ได้รับการยืนยันจาก WHO ในผลการประเมิน “การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า” (Universal Health Preparedness Review) ว่า เรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วยหน้าที่ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการรักษาโควิด –19 ตามที่จำเป็น โดยไม่มีปัญหาอุปสรรคด้านภาระค่าใช้จ่าย

 

  • ทุกหน่วยงานร่วมปรับตัว ใช้เทคโนโลยีดูแลสุขภาพ

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้เกิดการปรับตัวใช้ชีวิตที่เรียกว่า “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” ทั้ง ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และหน่วยบริการสุขภาพ ต่างมีการปรับตัวไปสู่ New Normal สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการปรับตัวรองรับ New Normal เช่นกัน

อาทิ การพัฒนาหน่วยบริการและรูปแบบบริการใหม่ที่เพิ่มความสะดวกการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน เช่น บริการสุขภาพทางไกล Tele-medicine การส่งยาไปที่บ้าน หรือการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน การตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ และการเอกซเรย์นอกโรงพยาบาล เป็นต้น ที่ควรพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืน 

นอกจากนี้ยังได้ขยายบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อทำให้คนไทยแข็งแรงมีสุขภาพดี การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 เช่น การเพิ่มทางเลือกล้างไตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เป็นต้น ที่เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น อย่างการบูรณาการข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน การรับส่งข้อมูลที่มาจากการเชื่อมต่อหลายระบบ การจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นการเริ่มต้นการสร้างระบบ Digital Health Ecosystem ของประเทศ มีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เอื้อต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ เป็นต้น 

 

  • กำหนดทิศทางหลักประกันสุขภาพระยะเวลา 5 ปี 

นายอนุทิน กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกันของบอร์ด สปสช. ผลงานต่างๆ ข้างต้นนี้ ได้สร้างรากฐานมากมายให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ และจากที่ทำหน้าที่ประธานบอร์ด สปสช. ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของบอร์ด สปสช.ทุกคนที่มีเจตนารมณ์ที่ดีและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต่างทำเพื่อประชาชน

ทุกท่านมีความเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ทำงานอย่างเป็นเหตุเป็นผล จนเกิดประโยชน์มากมายที่นำมาสู่การดูแลสุขภาพประชาชน และทำให้ฝ่าวิกฤติท้าทายด้านสาธารณสุข

โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 มาได้ นอกจากนี้ยังทำให้ไทยได้รับการเสนอเป็น “ศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่” ซึ่งจะมีการหารือในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2565 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

“ผมขอขอบคุณบอร์ด สปสช. ทุกท่านที่สนับสนุนนโยบายต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข วันนี้บรรยากาศการทำงานต่างๆ เป็นไปด้วยดี ไอเดียสุขภาพหลายอย่างมาจากท่าน มาจาก สปสช. โดยผมใช้อำนาจบริหารในการผลักดัน ซึ่ง ในอดีต สปสช. และ สธ.อาจมีความขัดแย้งกัน แต่วันนี้ได้ทำงานเป็นเนื้อเดียวกันโดยมีประชาชนเป็นเป้าหมาย” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติขับเคลื่อนด้วยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้งจากฝ่ายผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบริหารระบบและดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ในวันนี้นับเป็นการประชุมที่มีความสำคัญเพราะเป็นการระดมความเห็นจากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ที่จะนำไปสู่การกำหนดกรอบประเด็นและทิศทางการพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการบริหารองค์กรในระยะ 5 ปี สู่การสร้างความยั่นยืนของระบบในอนาคต