เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ "เศรษฐกิจสีเขียว" ฟื้นเกษตรกรรม "คลองบางมด”

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ "เศรษฐกิจสีเขียว" ฟื้นเกษตรกรรม "คลองบางมด”

ชุมชนริมคลองบางมด "เขตทุ่งครุ" แต่เดิมเศรษฐกิจชุมชน คือ "การเกษตร" โดยเฉพาะส้มบางมดที่มีชื่อเสียง แต่การเติบโตของเมือง เหตุน้ำท่วม น้ำเสีย น้ำเค็ม ทำให้การเกษตรแย่ลง "ส้มบางมด" ซึ่งเคยเป็นเศรษฐกิจของพื้นที่มีน้อยลง ปัจจุบันเหลือเพียง 10 สวนเท่านั้น

ข้อมูลของ “กรุงเทพมหานคร” ระบุว่า พื้นที่สีเขียวจำนวน 3,064 ไร่ ของเขตทุ่งครุนั้น เป็น “พื้นที่เกษตรกรรม” เพียง 400 กว่าไร่ ขณะที่อีกกว่า 60 % เป็น “พื้นที่ว่างเปล่า” ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ถูกทิ้งร้างหลังเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 เพราะสภาพดินมีความเค็มจนไม่สามารถทำสวนผลไม้ได้เหมือนเดิม

 

การฟื้นฟูให้สวนส้มกลับมา ต้องแก้ปัญหาน้ำเค็มซึ่งต้องใช้เวลานาน ดังนั้น การทำให้เกษตรกรทุ่งครุที่เหลืออยู่ สามารถมีรายได้จากการเพาะปลูก รวมถึงรายได้จากกิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดจากฐานทุนทรัพยากรของตนเองอย่างเพียงพอ จึงเป็นแนวทางที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวของเขตทุ่งครุให้คงอยู่ต่อไป

 

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ \"เศรษฐกิจสีเขียว\" ฟื้นเกษตรกรรม \"คลองบางมด”

 

ปี 2563 กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคยรวมตัวกันทำงานด้านพัฒนาสังคมในพื้นที่คลองบางมด ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่กว่า 2 ไร่เศษ ริมคลองบางมด จากที่เคยปลูกส้มแล้วถูกทิ้งร้าง ให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยในชื่อ “เซฟติสท์ ฟาร์ม (SAFETist Farm)” 

 

ผ่านความร่วมมือและสนับสนุนจาก “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีด้วยเครือข่ายคลังสมองของพื้นที่และแผนผังภูมินิเวศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน” (โครงการ Green Thonburi) โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และทีมวิจัย

 

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ \"เศรษฐกิจสีเขียว\" ฟื้นเกษตรกรรม \"คลองบางมด”

สร้างต้นแบบของ “โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)” ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ชุมชนริมคลองบางมด เขตทุ่งครุ ที่สามารถสร้างธุรกิจจากฐานทุนด้านการเกษตรที่เลี้ยงตัวเองได้ พร้อมทั้งเป็นผู้ผลิต “อาหารปลอดภัย” และเป็น “อาหารของคนเมือง” ให้กับคนในพื้นที่โดยรอบไปพร้อมกัน

 

วิไลวรรณ ประทุมวงศ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง SAFETist Farm กล่าวว่า จากการทำงานด้านพัฒนาสังคมในพื้นที่คลองบางมด มานานกว่า 10 ปี จึงต้องการมีพื้นที่สำหรับผลิตอาหารที่ปลอดภัยไว้รับประทานเอง และได้มีโอกาสเช่าสวนส้มบางมดร้างแปลงนี้พัฒนาเป็นฟาร์มกสิกรรมขึ้นเมื่อปี 2563 โดยนำความรู้ต่างๆ มาช่วยกันพลิกฟื้นสภาพพื้นที่ที่เป็นดินเค็ม ให้มาเป็นแปลงเกษตรปลอดสาร 

 

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ \"เศรษฐกิจสีเขียว\" ฟื้นเกษตรกรรม \"คลองบางมด”

 

จนสามารถปลูกผักปลอดภัยไร้สารเคมี นำมาแบ่งปันให้กับสมาชิกภายในกลุ่มไว้รับประทานกันได้ และเมื่อโครงการ Green Thonburi เลือกฟาร์มแห่งนี้เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจสีเขียวในพื้นที่ทุ่งครุ จึงใช้ความรู้ที่ได้จากการปลูกเพื่อบริโภคมาต่อยอดเป็นการสร้างรายได้ ภายใต้ชื่อ “ครอบครัวตะกร้าผัก” เมื่อเดือน ก.ย. 2564

 

โดยการนำผักและผลิตผลที่เก็บได้ภายในฟาร์มมาจัดเป็นชุดตะกร้าผักสดและจัดส่งถึงหน้าบ้านครอบครัวที่สมัครเป็นสมาชิกครอบครัวตะกร้าผักโดยตรง ค่าสมาชิกมีให้เลือก 3 ราคาต่อเดือน ตั้งแต่ 500 บาท รับชุดผัก 1.6-3.3 กก. 1,000 บาท รับชุดผัก 3.6-7.3 กก. และ 1,800 บาท รับชุดผัก 6.6-13.3 กก. จัดส่งผักหลากหลายตามฤดูกาล ระยะทางไม่เกิน 30 กิโลเมตร ค่าจัดส่งตั้งแต่ 80 – 200 บาทต่อเดือน โดยไม่ต้องผ่านคนกลางสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ปัจจุบัน มีสมาชิกครอบครัวตะกร้าผัก 30 กว่าครอบครัว

 

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ \"เศรษฐกิจสีเขียว\" ฟื้นเกษตรกรรม \"คลองบางมด”

ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี กล่าวว่า เป้าหมาย คือ การนำเศรษฐกิจสีเขียวกลับคืนสู่ชุมชนเกษตรทุ่งครุและชุมชนริมคลองบางมดอีกครั้ง อาจยังไม่ใช่ในรูปแบบเดิมที่เป็นสวนส้ม แต่เป็นการนำรูปแบบหลายอย่างเข้ามารวมกัน ทั้งเรื่องของการเกษตร การท่องเที่ยว และอื่นๆ เพื่อสร้างโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะส่งผลดี ทั้งกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

 

ขณะเดียวกัน การจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร ถือเป็นความสำคัญเร่งด่วนที่ควรเร่งดำเนินการ สำนักการระบายน้ำ กทม. ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมการดูแลคูคลองเป็นหลัก แต่ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบการเกษตร ที่จะมาดูแลคุณภาพ ปริมาณ และความต่อเนื่องของสายน้ำที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวในเมืองเพื่อสามารถคงไว้ซึ่งความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของภาคเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร

 

รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาการท่องเที่ยวท้องถิ่น (Local Tourism) สร้างผลกระทบในหลากมิติทั้งต่อเศรฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ข้อเสนอเกี่ยวกับ “นโยบายการพัฒนาพื้นที่และแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน” จะเน้นให้เกิดความสอดคล้องกับการอนุรักษ์และสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวของชุมชน ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ ระยะถอยร่นจากแนวคลอง การสร้างกำแพงริมคลองเปิดโล่ง และระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพของโครงการพัฒนาและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน

 

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ \"เศรษฐกิจสีเขียว\" ฟื้นเกษตรกรรม \"คลองบางมด”

 

ก้าวต่อไปเซฟติสท์ ฟาร์ม 

 

สำหรับ ก้าวต่อไปของเซฟติสท์ ฟาร์ม คือ การขยายสมาชิกเป็น 100 ครอบครัวในสิ้นปีนี้ พร้อมกับการเชิญชวนคนในชุมชนและพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ที่สนใจจะปลูกผักขาย ได้เข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนเทคนิคการปลูกผักในพื้นที่ดินเค็ม และน้ำกร่อย เพื่อขยายเครือข่ายปลูกผักให้สามารถมีผลผลิตที่หลากหลายและเพียงพอตลอดปี

 

ปัจจุบันเซฟติสท์ ฟาร์มมีทั้งผัก ไข่ไก่ ไข่เป็ด สมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เช่น สบู่ น้ำยาล้างจาน ฯลฯ แล้ว เซฟติสท์ ฟาร์ม ยังใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้นิเวศวิถีริมคลอง และเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้กับคนในชุมชนและเกษตรกรที่สนใจ เช่น การอบรมอาชีพปลูกผักให้กับผู้มีอาชีพขายของเก่า ชุมชนใต้สะพาน (ประชาอุทิศ 76), จัดอบรมการทำสินค้าอุปโภคจากน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศเชิงเกษตรสำหรับครอบครัวหรือกลุ่มคนเมืองที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตแบบติดดิน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น พาเรือคายัค ชมวิถีชีวิตชุมชนริมคลองบางมด หรือการจัดกิจกรรม Farm Visit เดือนละ 1 ครั้ง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ คือ การตอบโจทย์ของโครงการ Green Thonburi ที่ต้องการให้โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว ของ เซฟติสท์ ฟาร์ม เป็นต้นแบบของธุรกิจสีเขียว

 

ที่นอกจากสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้แล้ว ยังเป็นตัวอย่างของการใช้เศรษฐกิจสีเขียวมาเป็นแนวทางขับเคลื่อนการรักษาพื้นที่สีเขียว และเป็นแนวทางที่ช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้างด้วยปัญหาดินเค็มในเขตทุ่งครุและพื้นที่ใกล้เคียง ให้กลับกลายมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีประโยชน์ทั้งต่อเจ้าของที่ดินและคนกรุงเทพฯ โดยรวม

 

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ \"เศรษฐกิจสีเขียว\" ฟื้นเกษตรกรรม \"คลองบางมด”

 

Green Thonburi

 

โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีด้วยเครือข่ายคลังสมองของพื้นที่ และแผนผังภูมินิเวศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Thonburi) เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันคลังสมองของชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันอาศรมศิลป์ และมหาวิทยาลัยสยาม

 

ร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรี ให้คงยังมีวิถีแห่งสายน้ำด้วยการค้นหารูปแบบที่เหมาะสมบนฐานเศรษฐกิจสีเขียวในการพัฒนาระบบนิเวศที่ส่งเสริมศักยภาพและโอกาส และสอดคล้องกับภูมินิเวศและความเข้มแข็งของชุมชน นำมาซึ่งความผูกพันในการอยู่อาศัย การสร้างอาชีพ และความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้พื้นที่คลองและวิถีชีวิตชาวฝั่งธนฯ ยังสามารถดำรงต่อไปได้

 

โดยมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนา 4 แห่ง ที่มีศักยภาพความพร้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นเชิงสินค้าการเกษตร และบริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร-วัฒนธรรม อันจะผลักดันให้เกิดการพึ่งพาตนเองบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่

  • “ชุมชนพูนบำเพ็ญ” เขตภาษีเจริญ
  • “ชุมชนตลาดพูล” เขตธนบุรี
  • “ชุมชนคลองบางประทุน” เขตจอมทอง
  • “ชุมชนคลองบางมด” เขตทุ่งครุ-บางขุนเทียน

ที่มีความเชื่อมโยงการเดินทางด้วยคลอง และระบบขนส่งมวลชน

 

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ \"เศรษฐกิจสีเขียว\" ฟื้นเกษตรกรรม \"คลองบางมด”

 

อบรมปลูกผัก ชุมชนใต้สะพาน

 

ชุมชนใต้สะพาน ประชาอุทิศ 76 เขตทุ่งครุ เป็นชุมชนที่คนมีรายได้ต่อครัวเรือนเพียง 3,000 - 6,500 บาทต่อเดือน เนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพคัดแยกขยะ ขายของเก่า และรับจ้างทั่วไป ทำให้ “เซฟติสท์ ฟาร์ม” ต่อยอดเป็นวิทยากรหลักของ “โครงการพัฒนาอาชีพสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดโดยศูนย์อาสาสร้างสุขในนามสยามอารยะ 

 

โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)นำความรู้ด้านการปลูกผักและด้านการเกษตรของฟาร์มของตนเอง มาถ่ายทอดให้คนในชุมชนและเกิดการปฏิบัติได้จริง เพื่อเป็นรายได้เสริมของแต่ละครอบครัว ผ่านกิจกรรมอบรมที่มีให้เลือก 3 อาชีพ คือ “อาชีพเลี้ยงไส้เดือน” “อาชีพเพาะต้นอ่อน” และ “อาชีพปลูกผักกระถาง”

 

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ \"เศรษฐกิจสีเขียว\" ฟื้นเกษตรกรรม \"คลองบางมด”

 

“อรอุมา สาดีน” ผู้จัดการ SAFETist Farm ให้ข้อมูลว่า นอกจากคนในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เทคนิคและวิธีการรวมถึงวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่สามารถนำไปทำได้จริงที่บ้านของตนเองแล้ว จะมีการ ‘ประกันการรับซื้อ’ สิ่งที่เขาปลูกหรือผลิตได้ในช่วงแรก เช่น รับซื้อยอดทานตะวันอ่อนที่เขาปลูกมา 7 วันในราคาขีดละ 15 บาท (150 บาท/ก.ก.) รับซื้อมูลไส้เดือนกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งเป็นแรงจูงใจแรกที่ทำให้เกิดคนในชุมชนเกิดความสนใจ และทำให้มีการอบรมไปแล้วกว่า 50 คน โดยอบรมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

 

“เราพบว่าคนที่นี่สนใจและมาสมัครเรียนการเพาะเลี้ยงไส้เดือนมากที่สุดรองลงมาคือการปลูกต้นอ่อนทานตะวันเพื่อขายยอดอ่อน เพราะดูแลเพียง 7 วัน ก็สามารถร่อนเอามูลไส้เดือน หรือตัดยอดอ่อนทานตะวัน มาขายให้เราได้แล้ว ขณะที่ปลูกผักกระถางที่แม้จะขายได้ในราคาสูงที่สุดแต่ต้องใช้เวลาเลี้ยงกว่าเดือนครึ่ง จึงมีคนสนใจเรียนน้อยที่สุด”

 

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ \"เศรษฐกิจสีเขียว\" ฟื้นเกษตรกรรม \"คลองบางมด”

 

แม้จะเป็นโครงการระยะสั้น แต่ก็เห็นผลสำเร็จในเบื้องต้นหลายประการ เช่น คนที่มาอบรมกับโครงการและนำไปปฏิบัติจนขายได้หลายคน กลายเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับญาติหรือคนข้างบ้าน โดยนอกเหนือจากเชื่อมชุมชนกับตลาดที่จะรับซื้อผลิตของเขาได้อย่างต่อเนื่องหลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว การทำให้คนในชุมชนที่เริ่มทำ เริ่มเลี้ยงมีการรวมตัวกันเป็น “กลุ่ม” หรือ “ชมรม” คือ ก้าวสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

 

"ประทีป หลักทรัพย์"  อายุ 62 ปี หนึ่งในผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมปลูกยอดทานตะวันอ่อน เล่าว่า ปกติเปิดร้านขายของชำ แต่เนื่องจากในชุมชนมีร้านชำหลายร้านและกำไรถือว่าได้น้อย ด้วยความที่ชอบปลูกดอกไม้เป็นทุนเดิม พอมีการเปิดอบรมจึงสนใจเลือกเรียนปลูกยอดทานตะวันอ่อน ใช้เวลาปลูกเพียง 7 วันสามารถขายได้ โดยที่ผ่านมา ขายไปแล้ว 3 รอบรอบละ 4 ถาด โดยใช้เวลา 3 สัปดาห์ ได้เงินราว 1,000 บาท รู้สึกดีใจมากและมองว่าหากสามารถขยายพื้นที่ปลูกให้มากขึ้นจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวระยะยาว

 

เซฟติสท์ ฟาร์ม ต้นแบบ \"เศรษฐกิจสีเขียว\" ฟื้นเกษตรกรรม \"คลองบางมด”