เทียบนโยบาย! เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แก้ความเหลื่อมล้ำการศึกษาคนเมือง
โค้งสุดท้าย! สำหรับการเลือกตั้ง ผู้ว่ากทม.ที่เหล่าคนกรุงเทพฯ จะได้มีโอกาสเลือกผู้มาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม.ในการบริหารจัดการ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนเมือง หลังจากที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาในหลายรอบปี
"กรุงเทพฯ" เป็นเมืองที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนสูงที่สุดในประเทศไทย ในประเทศไทย
- กรุงเทพฯ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำมากสุดในไทย
กองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีการสำรวจจากการสำรวจค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ย 37,257 บาทต่อคนต่อปี สูงกว่าเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่าย 17,832 บาทต่อคนต่อปี ถึง 2 เท่า
หากเปรียบเทียบภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจนร้อยละ 10 ล่างสุดของกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 6,600 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่ครัวเรือนที่รวยที่สุดร้อยละ 10 แรกของกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 78,200 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งห่างกันถึง 12 เท่า
สำหรับแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ที่เห็นชื่อปรากฎหน้าสื่อบ่อยครั้ง มีด้วยกัน 8 ท่าน ได้แก่
- เบอร์ 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล
- เบอร์ 3 สกลธี ภัททิยกุล สมัครในนามอิสระ
- เบอร์ 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์
- เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สมัครในนามอิสระ
- เบอร์ 7 รสนา โตสิตระกูล สมัครในนามอิสระ
- เบอร์ 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สมัครในนามอิสระ
- เบอร์ 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย
- เบอร์ 24 โฆสิต สุวินิจจิต สมัครในนามอิสระ
ซึ่งแต่ละท่านได้มีการนำเสนอนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะด้านการศึกษาให้แก่คนเมืองที่แตกต่างกันออกไป
- เทียบนโยบายการศึกษาแคนนิเดตผู้ว่าฯ กทม.
แคนนิเดต ผู้ว่าฯ กทม.แต่ละท่าน ล้วนมีการนำเสนอนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ลงความเหลื่อมล้ำ มีดังนี้
เริ่มด้วย “เบอร์ 1 วิโรจน์” ชูนโยบาย
- พลิกโฉมศูนย์เด็กเล็ก จัดสรรงบประมาณ 5 ล้านบาทต่อศูนย์
- รื้อระบบจัดสรรงบฯ โดยเพิ่มงบ 1,000 ล้านบาท
- ดำเนินการเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ Learning Space TCDC/TK Park
ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีงบประมาณดูแลทุกโรงเรียนให้มีคุณภาพเสมอกัน ไม่ใช่ใครอยากเรียนฟรีจ่ายถูกต้องยอมรับความห่วย แล้วถ้าไม่ยอมจำนนคุณก็ต้องดิ้นรนหามาจ่ายเพิ่ม เราถึงต้องมีนโยบายปรับปรุงโรงเรียนให้มีมาตรฐานเท่ากันทุกแห่ง แล้วเราจะแก้ได้ที่รากของปัญหาเลย
“อยากย้ำว่าต่อให้เด็กเรียนไม่เก่ง ก็ต้องได้สิทธิ์ หรือโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับคนอื่น เราต้องดูแลเด็กทุกคนไม่ว่าฉลาดเป็นพิเศษหรือเรียนไม่เก่งเลย เพื่อให้เขาได้เรียนเท่าที่เขามีความสามารถและอยากเรียน” วิโรจน์ กล่าว
ขณะที่ “เบอร์ 3 สกลธี” ได้ชูนโยบาย
- โรงเรียนดีใกล้บ้าน มาตรฐานใกล้เคียงกัน
- นักเรียนสามารถหารายได้เสริมระหว่างเรียนได้
- เพิ่มทักษะชีวิต หลักสูตรหลังเลิกเรียน
สกลธี กล่าวว่าผู้ ว่าฯ กทม. ต้องมีความเป็นนักบริหาร สามารถหาเงินนอกกรอบ จะรอเงินจากรัฐอย่างเดียวมาแก้ปัญหาไม่พอแน่ ศักยภาพตรงนี้ผู้ว่าต้องมี เช่นเอาขยะให้เอกชนไปแปรเป็นเงินกลับมา หรือการเก็บภาษีโรงแรมจากชาวต่างชาติ ซึ่งเงินจากส่วนนี้เราเอามาช่วยคนได้อีกมาก
“โรงเรียน กทม. ได้เปรียบตรงที่ใน 50 เขต เรามีโรงเรียนถึง 437 โรงเรียน เฉลี่ยเขตละ 10 โรงเรียนใกล้บ้าน ปัญหาคือมาตรฐานยังไม่ดี เราต้องทำให้คุณภาพเท่ากัน และเรียนฟรีหมด นี่คือสิ่งที่ กทม. ทำได้ ด้วยอำนาจอิสระไม่ต้องพึ่งส่วนกลาง สำคัญคือต้องมีเงิน และติดอาวุธให้กับเขาด้วย”สกลธี กล่าว
- เรียนฟรี อินเตอร์เน็ตฟรี เน้นทักษะอาชีพ
“เบอร์ 4 สุชัชวีร์” ชูนโยบาย
- หลักสูตรสิงคโปร์ ประเทศต้นแบบหลักสูตร
- อินเทอร์เน็ตฟรี เพื่อการศึกษา
- อาหารกลางวันเพิ่มเป็น 40 บาท
"ผมจะไปจัดการปัญหาโควิด เป็นอันดับแรก ให้พร้อมกับการเปิดกรุงเทพฯ ปรับแผนใหม่ทั้งหมด เรียกคืนโอกาสทางการศึกษาให้เด็กพร้อมสู่โลกอนาคต"สุชัชวีร์ กล่าว
พร้อมทั้งเน้นเรื่องเทคโนโลยีดูแลชีวิตคนในชุมชนแออัดในเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข โดยตนได้ลงพื้นที่ครบทั้ง 50 เขตแล้ว ต้องบอกว่าคนใน กทม.ยังยากจนอยู่ ดังนั้น จะต้องทำให้ชีวิตพวกเขาเหล่านี้ดีขึ้น
สำหรับปัญหาของครอบครัวเหล่านี้ คือ "การศึกษา" ตั้งใจว่าศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ฟรี จะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด จะรองรับช่วยเหลือเด็กๆ จากครอบครัวในชุมชนแออัด ทำให้คนกลุ่มนี้ มีชีวิตดีขึ้น ตนอยากเห็นเด็กในชุมชนสามารถเรียนจนจบด็อกเตอร์ได้
“เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน” ชูนโยบาย
- ทัศนศึกษา เสริมประสบการณ์ชีวิต
- ลานกีฬา พื้นที่กิจกรรม
- เรียนดี เรียนฟรี มีอาชีพ เน้นเสริมทักษะชีวิต ส่งเสริมการเรียนรู้
เด็กจากชุมชนแออัดเหล่านี้เขาเหมือนม้าที่อยู่ในซอง ระยะสายตาจำกัด มองอะไรไม่เห็น ครอบครัวก็ไม่มีเงิน ผมจึงทำโครงการ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เอาเด็กหลังห้อง ผลการเรียนกลาง ๆ มาทำกิจกรรมรุ่นละ 20 คน เป็นต้น
“ในกิจกรรมต่าง ๆ เราให้การศึกษาสอดแทรกเข้าไป สอนให้เขาห่างไกลยาเสพติด การพนัน คือเรื่องอย่างนี้ต้องค่อย ๆ แทรกไปในความสนุกสนาน ในการเรียนรู้ทักษะชีวิต แล้วเราเสริมสร้างบุคลิกภาพ สร้างลานกีฬา แนะนำให้เขาเล่นกีฬา มันก็ทำให้เขามีทางไปที่ดีในชีวิตได้” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
- พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก เพิ่มงบประมาณ พื้นที่สร้างสรรค์
“เบอร์ 7 รสนา” ชูนโยบาย
- สมาร์ทซิติเซ่น ทักษะชีวิตที่เก็บหน่วยกิตได้
- อัตลักษณ์ในชุมชน พื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน
- ลดชั่วโมงเรียน เน้นด้านอาชีพ
“ต้องทำให้ทุกโรงเรียนใน กทม.เรียนฟรีจริง ครอบคลุมทุกอย่างทั้งค่าเทอม อุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง เครื่องแบบ หรือหนังสือเรียน” รสนา กล่าว
นอกจากนั้น จะยกระดับ ศูนย์เด็กเล็กให้มีคุณภาพ โดยจะทำความร่วมมือกับยูนิเซฟ ซึ่งกำลังขับเคลื่อนเรื่อง “สร้างสุขให้เด็กๆ” (HAPPY KIDS) อยู่แล้ว มาร่วมกันทำโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็กในศูนย์เด็กเล็กที่จะเปิดบริการใกล้บ้านให้ครอบคลุมทุกชุมชนทั่วกรุงเทพฯ
"เบอร์ 8 ชัชชาติ" ชูนโยบาย
- เพิ่มงบประมาณทางการศึกษา
- พื้นที่สร้างสรรค์ ห้องสมุด ห้องเล่นเกมส์
- บ้านรับเลี้ยงเด็ก เพื่อช่วยไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา
“ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานทัดเทียมกัน และจำเป็นต้องมุ่งทำศูนย์ก่อนวัยเรียนให้มีคุณภาพ เพื่อเริ่มพัฒนาเด็กตั้งแต่วัย 0-6 ปี เพราะถ้ารอถึง ป.1 ก็สายไปแล้ว พอถึงโรงเรียนระดับประถม ต้องมีโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้าน มีการสอน 3 ภาษา มีคอมพิวเตอร์แลป ต้องลดภาระครู คืนครูให้นักเรียน ช่วยเรื่องการขยับวิทยฐานะ เอาเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องการเรียนการสอน” ชัชชาติ กล่าว
รวมถึงมีการเปิดโรงเรียนช่วงวันเสาร์อาทิตย์สำหรับในพื้นที่ชุมชน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้นอกเหนือจากวิชาปกติ จัดให้มีกิจกรรมดนตรี กีฬา สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น มีอินเทอร์เน็ตฟรีให้เด็กใช้ มีสาธารณูปโภคครบครัน ดึงชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครูอาสา เข้ามามีส่วนช่วยดูแลเด็ก ๆ ไปด้วยกัน
เรียนฟรี ต้องทำได้จริง และต้องมีสวัสดิการนักเรียน นักเรียนและผู้สูงอายุขึ้นรถฟรี เด็กตั้งแต่แรกเกิดมีหนังสืออย่างน้อย 3 เล่มติดบ้าน นำมาหมุนเวียนได้ในศูนย์เด็กปฐมวัย หนังสือคือสิ่งสำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีหนังสือไว้เปิดอ่านหรือสอนเด็ก ๆ ที่บ้าน
- โรงเรียนดีใกล้บ้าน ดึงเด็กไม่ให้หลุดนอกระบบ
ต่อด้วย “เบอร์ 11 ศิธา” ชูนโยบาย
- โรงเรียนต้องใกล้บ้าน โรงเรียนที่ดีที่สุดของชุมชน
- ลดเวลาเรียน เพิ่มเรียนรู้ทักษะชีวิต
- ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งในการบริหารงบประมาณ ประเมินครู
“กทม. ต้องเข้ามาดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กเรียนฟรีได้จริง เพราะที่ผ่านมา ครอบครัวถือเป็นกลไกหนึ่งที่ดึงเด็กออกนอกระบบการศึกษา ดังจะเห็นว่ามีผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่เขาลำบาก เมื่อส่งลูกหลานไปเรียนแล้วต้องรับภาระการศึกษาที่หนักเกินกำลัง เขาจะคิดว่าเอาลูกกลับมาดีกว่า อย่างน้อยออกมาจากโรงเรียนก็เป็นการเพิ่มแรงงานหาเงินเข้าบ้านอีกหนึ่งคน”ศิธา กล่าว
เด็กที่มีพรสวรรค์เรียนดี กทม. ต้องคัดออกมา สนับสนุนให้เขาได้เรียนตรงตามความสามารถ ทัดเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ แล้วทำให้น้องเติบโตขึ้นมาสร้างประโยชน์กับสังคมในอนาคต
“เบอร์ 24 โฆสิต “ ชูนโยบาย
- ตั้งกองทุนพิเศษ เด็กเรียนได้จริง
- ส่งเสริมเด็กมีความสามารถให้ไปได้ไกล
- ส่งเสริมอาชีพ ถ่ายทอดโดยผู้สูงอายุ
โฆสิต กล่าวว่านโยบายการเรียนรู้ 24 ชั่วโมง โดยจะจัดตั้งโรงเรียนสาธิตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ เพื่อรวบรวมเด็กๆ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และการยกระดับโรงเรียนในสังกัดกทม. ให้เทียบเท่ากับโรงเรียนที่มีชื่อเสียง
พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับโรงเรียนรัฐที่เด่นและดัง ที่มีคณะครูอาจารย์เป็นที่ยอมรับในสังคมการศึกษา นำมาถ่ายทอดสดระบบการศึกษาผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ทุกแห่ง ได้เรียนกับคณะครู อาจารย์ที่สอนอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลที่เด่นดังทางการศึกษา
นอกจากนี้ในส่วนประชาชนทั่วไปจะเปิดไวไฟอินเทอร์เน็ตให้คนกรุงเทพ รวมทั้งเปิดบริการห้องสมุดประชาชนในสังกัด กทม. 24 ชั่วโมง รวมทั้งเปิดศูนย์อินเทอร์เน็ต ให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้สะดวกสบาย
- 6 แนวทางเสนอผู้ว่าฯ กทม.แก้การศึกษาคนเมือง
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่ากสศ. ได้สนอ 6 แนวทางไปยังผู้ว่าฯ กทม. เร่งแก้ไขปัญหา คือ
1.จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษสังกัด กทม. โดยเชื่อมโยงข้อมูลให้ กสศ. สามารถเข้าไปสนับสนุนทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนได้
2.จัดบัตรสวัสดิการนักเรียนและรถรับ-ส่งนักเรียนในชุมชนแออัด 641 ชุมชน เพื่อลดภาระค่าเดินทาง
3. เพิ่มศูนย์สร้างโอกาสเด็กของ กทม. จาก 7 ศูนย์เป็น 50 ศูนย์ กระจายตัวอยู่ทุกเขต
4. ปลดล็อกพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมและเอกชนเข้ามาทำพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็ก
5.ยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. เพื่อดูแลครอบครัวเด็กยากจน
6.วางระบบดูแลช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบางในวิกฤตโควิด-19 โดยบูรณาความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเข้าไปทำงานเชิงรุกในชุมชน
อย่างไรก็ตาม วันนี้เป็นวันที่คนกรุงเทพฯ จะได้ออกไปใช้สิทธิของตนเอง ในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อปลดล็อกการศึกษาของคนเมืองให้ก้าวไปข้างหน้า เพราะหากไม่ออกไปใช้สิทธิ นอกจากจะไม่ได้ช่วยลูกหลานในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. ผู้ที่จะนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแล้ว ยังทำให้เสียสิทธิหลายๆ อย่างที่ควรจะได้รับร่วมด้วย