รู้เท่าทัน "ฝีดาษลิง" รับมือได้ไม่ตื่นกลัว
"กรมควบคุมโรค" จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) ขึ้นเพื่อเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือ แม้จะยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย
แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ขึ้นมาเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียาเฉพาะรักษา
แม้ว่ายังไม่มีผู้ติดเชื้อนี้และประเทศไทยก็ไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อน แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจัดทำแผนทั้งในระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์ และมาตรการให้เหมาะสม
เนื่องจากมีข้อมูลว่าระหว่างวันที่ 1-22 พ.ค. 2565 มีนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร จำนวน 13,142 คน สเปน 1,352 คน และโปรตุเกส 268 คน ซึ่งเป็นประเทศที่พบการติดเชื้อโรคฝีดาษลงทะเบียนเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทย
ตามที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) นับถึงเมื่อวันเสาร์ (21 พ.ค.) พบว่ามีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงยืนยันแล้ว 92 คน ต้องสงสัยติดเชื้ออยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 28 คน ใน 12 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วระหว่าง 1-5 คน ได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการรับมือ
โดยจะมีการคัดกรองอาการ ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศมีความเสี่ยงสูงและประเทศที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้วที่เดินทางเข้าประเทศไทยทุกไฟลต์บินพร้อมแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็นคิวอาร์โค้ดสแกนทุกคนหากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย คือมีอาการเข้าได้กับโรคและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยงที่กำลังมีโรคนี้ระบาดข้างต้น ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจหาเชื้อและรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาด
โรคฝีดาษลิง ยังไม่ได้เกิดในไทย และเชื้อนี้ก็ไม่มีในลิงของไทย มีเชื้อเฉพาะในลิงแอฟริกา ซึ่งโรคฝีดาษลิง (monkeypox) จะมีการติดต่อได้จากการสัมผัสบาดแผล หรือ ฝีหนอง และเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และการที่พบผู้ป่วยในต่างประเทศ มาจากการเลี้ยงสัตว์แปลก หรือมีการเดินทางไปที่แอฟริกามาก่อน ที่สหรัฐฯ จะไม่กักตัวผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง
แม้ว่าพบผู้ติดเชื้อหลายรายในอเมริกาเหนือและยุโรป เพราะในอดีตเคยมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากมาแล้ว และมีวัคซีนป้องกันรักษาได้ อีกทั้งการระบาดยังแตกต่างอย่างมากกับโควิด-19 ซึ่งในช่วงกลางมิถุนายนหรือต้นกรกฎาคม 2565 ประเทศไทย "โควิด-19" จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้แล้ว การรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริง จะทำให้สามารถเข้าใจและรับมือโรคฝีดาษลิง ได้อย่างไม่ตื่นกลัว