ก.แรงงาน เดินหน้าป้องกันแก้ไขปัญหา "ค้ามนุษย์" ดันไทยขึ้นเทียร์ 2
กระทรวงแรงงาน ขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการ "ค้ามนุษย์" การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน สั่งการให้การปฏิบัติงานเกิดความคล่องตัว ร่วมมือหน่วยงานภาคีเครือข่ายและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ด้านป้องกัน ปรับระดับเป็นเทียร์ 2 ในปี 2565
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมการเสวนาวิชาการในหัวข้อ เหลียวหลัง แลหน้า การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานร่วมการเสวนาดังกล่าว ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการ ค้ามนุษย์ ซึ่งในส่วนของ กระทรวงแรงงาน ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขานรับนโยบายดังกล่าวและให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยเฉพาะการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานนั้น
กระทรวงแรงงาน มีบทบาทภารกิจสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมให้แรงงานมีความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภารกิจด้านการป้องกันการบังคับใช้แรงงาน และ การค้ามนุษย์ ของประเทศไทยโดยกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองการทารุณกรรมต่อแรงงานต่างด้าวเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงแรงงาน
นายวรรณรัตน์ ยังกล่าวถึงภารกิจการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานที่สำคัญของกระทรวงแรงงาน ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ได้แก่ การตรวจแรงงานที่ศูนย์ PIPO ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล การตรวจแรงงานเชิงคุณภาพในสถานประกอบการทั่วไปและการตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็กแรงงานบังคับ
การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การดำเนินงานโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ การผ่อนผันแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานได้ชั่วคราวในช่วงการระบาดของโควิด-19 การจัดตั้งศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (CI) ให้บริการตั้งแต่ 10 ม.ค. – 1 ส.ค.65
การส่งเสริมให้สถานประกอบการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้ (GLP) การยกระดับศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้เป็นหน่วยงานระดับกองเพื่อให้มีการสั่งการให้การปฏิบัติงานเกิดความคล่องตัว การแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เป็นต้น
“ปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในประเทศไทย ถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงแรงงานที่ดูแล “ด้านป้องกัน” รวมถึงหน่วยงานภาคีเครือข่ายและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันและพัฒนามาตรการด้านการป้องกันและการจัดทำโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้เกิดผลดีเพื่อให้สามารถปรับระดับเป็นเทียร์ 2 ในปี 2565"
"จึงขอฝากถึงแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และเดินทางเข้ามาประเทศไทย ขอให้ติดต่อกระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับสิทธิประโยชน์และมีสภาพการจ้างและความเป็นอยู่ตามหลักสากล” นายวรรณรัตน์ กล่าวในท้ายสุด