เมื่อเด็กยุคโควิดเผชิญภาวะ "การเรียนรู้ถดถอย" รัฐต้องแก้อย่างไร?

เมื่อเด็กยุคโควิดเผชิญภาวะ "การเรียนรู้ถดถอย" รัฐต้องแก้อย่างไร?

รู้หรือไม่? เด็กยุคโควิดกำลังเผชิญหน้ากับภาวะ "การเรียนรู้ถดถอย" หรือ Learning loss ทำให้พัฒนาการด้านวิชาการ อารมณ์ และสังคม ต้องหยุดชะงัก เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำและการปิดโรงเรียนจากโควิด-19

ผลกระทบของโควิด-19 ไม่ใช่แค่การติดเชื้อแล้วรักษาให้หาย หรือการรอเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อเนื่องเป็นระยะโดยเฉพาะกับ "เด็ก" ที่ต้องสูญเสียการเรียนรู้และการศึกษาระหว่างที่โรงเรียนต้องปิด-งดการเรียนการสอน ในช่วงวิกฤติโควิดที่ทำให้เด็กๆ ต้องเผชิญกับภาวะ “การเรียนรู้ถดถอย (Learning loss)” และทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่ดีทั่วโลกประมาณ 10-17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 560 ล้านล้านบาท

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนสำรวจภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่เกิดกับเด็กไทย รวมถึงปมปัญหา และผลกระทบที่จะมาตามอีกในภายหลัง

เมื่อเด็กยุคโควิดเผชิญภาวะ \"การเรียนรู้ถดถอย\" รัฐต้องแก้อย่างไร?

  • โควิด-19 กระตุ้นให้เด็กทั่วโลกเจอฝันร้ายเร็วขึ้น

ปัญหาการศึกษาไทยถูกพูดถึงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยจากผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภายในครัวเรือน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562  พบว่า ครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวนมาก ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้

ขณะที่ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ( OECD) พบว่า นักเรียนในโรงเรียนที่มีฐานทางเศรษฐกิจและสังคม 25% ล่างสุดจากดัชนีชี้วัด Economic , Social  and Cultural Status หรือ ESCS โดยโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) มีนักเรียนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพียง 61% เท่านั้น และนักเรียน 1 ใน 4 ยังไม่มีพื้นที่เงียบสงบสำหรับการเรียนหนังสือในบ้าน

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่โรคโควิด-19 จะระบาดทั่วโลก และผลลัพธ์ของการระบาดก็กลายเป็นคลื่นใต้น้ำ โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ ทำให้การพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งวิชาการ อารมณ์ และสังคมต้องหยุดชะงัก เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีมาช้านาน จนเกิดการสะสม ส่งผลให้การศึกษาทางไกล (เรียนออนไลน์) ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนรายบุคคลได้ 

 

ภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือการสูญเสียการเรียนรู้  Learning loss หมายถึง การสูญเสียความรู้หรือ ทักษะใดๆ และ/หรือ การชะลอตัวหรือขัดขวางความก้าวหน้าทางวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขยาย ช่องว่างหรือความไม่ต่อเนื่องในการศึกษาของนักเรียน การหยุดชะงักของการศึกษาในระบบ การออกกลางคัน การขาดเรียน และการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ในระยะยาวเด็กที่ผ่านประสบการณ์ปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน เพราะโรคโควิดระบาด จะมีแนวโน้มเรียนรู้ช้าลงกว่าช่วงก่อน COVID-19 และส่งผลกระทบต่อระดับการศึกษา หน้าที่การงาน และคุณภาพชีวิตในอนาคต รวมถึงเกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจของประชากรคนหนึ่งสามารถสร้างให้แก่ประเทศอีกด้วย

ธนาคารโลก ระบุว่าในช่วงปี 2563 ที่มีการปิดโรงเรียนยาวนาน 3 - 9 เดือน อาจทำให้เด็กคนหนึ่งสูญเสียความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชีวิตของเขาถึง 6,472 - 25,680 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 217,000 – 864,000 บาท) หรือสูญเสียรวมทั่วโลกประมาณ 10-17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 560 ล้าน ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อ "ภาวะการถดถอยทางการศึกษา" จาก COVID-19 ยังไม่มีข้อมูลที่เป็นตัวแทนระดับประเทศที่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีระบบการวัดผล รวมถึงหลายประเทศได้มีการยกเลิกการสอบวัดผลในระดับ ต่างๆ อาทิ การเลื่อนวัดผล PISA การยกเลิกการสอบ O-NET

 

  • เด็กประถม มีปัญหาความรู้ถดถอยมากที่สุด

สำหรับประเทศไทยนั้น มีข้อมูลจากการศึกษาของ "คณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย" ชี้ให้เห็นว่า เด็กชั้นอนุบาล 3 ในจังหวัดที่มีการระบาดของ COVID-19 และทำให้ต้องมีการปิดโรงเรียนในช่วงเดือนมกราคม เป็นระยะเวลานานถึง 1 เดือนเต็ม มีระดับคะแนนความพร้อมของเด็กปฐมวัย school readiness ต่ำกว่านักเรียนกลุ่มที่สามารถไปเรียนได้ตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดย

  • คะแนนด้านภาษา ลดลง 0.39 ปี
  • ด้านคณิตศาสตร์ ลดลง 0.32 ปี
  • ด้านสติปัญญา ลดลง 0.38 ปี

นอกจากนี้ ผลการสำรวจสถานการณ์การศึกษาจากครูและบุคลากรทางการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจำนวน 1,030 คน ในเดือนเมษายน 2565 ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า ครูส่วนใหญ่พบปัญหาการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียน โดยนักเรียนประถมศึกษาเป็นช่วงชั้นที่มีปัญหาภาวะถดถอยมากที่สุด

โดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 ที่สูงถึงร้อยละ 60.510 โดยสาเหตุของการเรียนรู้ที่ถดถอยของนักเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่า อันดับหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนอุปกรณ์ รองลงมาคือการไม่มีสมาธิในการเรียนออนไลน์ นอกจากนี้ การเรียนรู้ที่ถดถอยของนักเรียนส่วนหนึ่งยังมาจากการที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาติดตามการเรียน สอนการบ้านให้ไม่ได้ และมีฐานะยากจน

 

  • แก้ปัญหา ก่อนเจอทางตัน

ธนาคารโลกได้แนะนำให้ทุกประเทศหามาตรการเพื่อจัดการปัญหา โดยให้ ความสำคัญกับ

1. เด็กและเยาวชนทุกคนได้กลับมาเรียนที่โรงเรียน ได้รับการช่วยเหลือที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ สุขภาพ สุขภาวะทางจิต และความต้องการอื่นๆ

2. นักเรียนทุกคนได้รับการฟื้นฟูการสูญเสียการเรียนรู้อย่างมี ประสิทธิภาพ

3. ครูทุกคนมีการเตรียมพร้อมและสนับสนุนการจัดการกับความสูญเสียในการเรียนรู้ของนักเรียน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน

ภาครัฐและคนในสังคมจำเป็นต้องเร่งสร้างระบบนิเวศน์ การเรียนรู้และปรับปรุงโครงสร้างการศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้ด้วย ตนเอง รักการเติบโต ยินดีทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทาย ไม่กลัวการล้มเหลว และกล้าเผชิญกับประสบการณ์อันแตกต่าง ด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างและป้องกันภาวะสูญเสียการเรียนรู้ ตลอดจนส่งเสริมให้เป็น สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

-----------------------------------------

อ้างอิง : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2565