ใช้AI เพิ่มพื้นที่สีเขียวบางกะเจ้า ปลูกป่า ลดคาร์บอน ดูแลปอดกรุงเทพฯ
การใช้เทคโนโลยีพัฒนาพื้นที่สีเขียว และติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นดาต้าพื้นฐานเพื่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวด้านการเกษตร การจัดโซนนิ่งพื้นที่ ลักษณะดินและน้ำ วางแผนพัฒนาพื้นที่นั้นๆ ให้มีประสิทธิภาพ
สามารถนำไปใช้ประโยชน์และก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชนรวมทั้งยังใช้เป็น “มาตรวัด” ของผลลัพธ์โครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น โมเดลการคำนวณการกักเก็บคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของภาคเอกชนที่ต้องดำเนินควบคู่กับการลงทุนทำธุรกิจ
อย่างเช่น บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเทคโนโลยี AI มายกระดับสิ่งแวดล้อม และภาคการเกษตรแบบครบวงจร ด้วยการเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ การใช้โดรน เทคโนโลยีดาวเทียม และการประมวลผลบิ๊กดาต้าของภาคสิ่งแวดล้อมและการเกษตรด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ - AI)
เพื่อช่วยวางแผนบริหารพื้นที่ ลดต้นทุนการผลิต วางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ สามารถติดตามและแจ้งเตือน การประเมินผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ติดตามผลการรักษาพื้นที่สีเขียว 6,000 ไร่ ซึ่งคิดเป็น 50% ของพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าทั้งหมดใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ระหว่างปี 2562 – 2566 ของโครงการ OUR Khung BangKachao นั้น
มีการผสานหลากหลายเทคโนโลยีทั้ง Geographic Information System (GIS) เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสะท้อนภาพจริงที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่ รวมถึงเทคโนโลยีการสำรวจจากระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อให้ได้ภาพ Normalized Difference Vegetation Index (NDVI) นำมาเทียบประเมินพื้นที่สีเขียวจากภาพดาวเทียมขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องใช้กำลังคนและเวลาเดินสำรวจพื้นที่ภาคพื้นเหมือนในอดีตอีกต่อไป
นอกจากนั้นยังมีการใช้ภาพถ่ายจากโดรน ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางการสำรวจได้อย่างแม่นยำชัดเจนมาก ตลอดจนการติดตามโดยใช้ Dashboard ทำให้เห็นความคืบหน้า
- ใช้เทคโนโลยี เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมช่วยพื้นที่บางกะเจ้า
สิ่งสำคัญที่สุด คือเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมขององค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมถึงความต้องการของชุมชนเป็นหลัก การพัฒนาพื้นที่สีเขียวจะช่วยก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ต่อชุมชนในหลายรูปแบบ เช่น การเกิดแหล่งท่องเที่ยว การค้าขาย เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น รวมถึงต้องการให้พื้นที่บางกะเจ้าช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน ลดฝุ่นละออง PM 2.5 มลพิษทางอากาศ ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน และสร้างชุมชนเข้มแข็งที่สามารถช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน
"พณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์" ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้เครือบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) เปิดเผยว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกนั้น วรุณาเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนถือเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงจัดอบรมการใช้งานระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียว และนำเทคโนโลยีมาให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง และชุมชนสัมผัสอย่างใกล้ชิด
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่คนในชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่สีเขียวจะได้หันมาเข้าใจเทคโนโลยีจริงๆ ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี จึงถือเป็นการเปิดประตูให้ทุกคนได้รู้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถต่อยอดในการดูแลสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งรักษาปอดของกรุงเทพฯ ได้อีกด้วย
นอกจากนั้น ระบบยังสามารถพัฒนาฐานข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม เช่น โมเดลการคำนวณการกักเก็บคาร์บอน เพื่อศึกษาผลเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่บางกะเจ้าในอนาคต เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ ตรงกับสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมปัจจุบัน
- ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว
การให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเพิ่มเติมข้อมูลเข้าระบบได้เอง จะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเข้าสู่ระบบ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากหลากหลายแหล่งที่มาให้เป็นฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ก่อนจะนำไปใช้งานจริง
“พณัญญา” กล่าวด้วยว่า ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ร่วมกับการปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอน ต้นไม้สร้างออกซิเจนลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก ภาครัฐควรผลักดันให้ทุกภาคส่วน ลงไปถึงระดับท้องถิ่นมีโมเดลในการจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตามบริบทของพื้นที่ตนเอง
ขณะที่ภาคเอกชนควรมีแนวทางในการส่งเสริมดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม เห็นผลได้ชัดเจน และภาคประชาชนควรเริ่มที่ตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นลดการใช้พลังงาน ลดการใช้ถุงพลาสติกลง ลองเปิดแอร์ครึ่งวัน หรือปลูกต้นไม้ในพื้นที่เล็กๆ ของบ้าน และกินอาหารให้หมดจาน ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ โดยเริ่มที่ตัวเองเพื่อช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม
- โครงการสิ่งแวดล้อมในคุ้งบางกะเจ้า
1. โครงการ การจัดการขยะลอยน้ำด้วยทุ่นกักขยะ (BOOM) โดย บมจ.มั่นคงเคหะการ โครงการรักษ ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมการท่องเที่ยว กรมเจ้าท่า อบต.บางน้ำผึ้ง ติดตั้งทุ่นกักจำนวน 5 จุดในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า รวม 250 เมตร ริเริ่มโครงการตั้งแต่ปลายปี 2562 - 2564 กักขยะได้ปริมาณกว่า 6,000 กิโลกรัม
2. โครงการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่เกษตรอินทรีย์คุ้งบางกะเจ้า บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด มหาชน ร่วมกับ สามพรานโมเดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช) และโครงการ OUR Khung BangKachao เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์และพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมให้สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน
โดยได้จัดตั้งกลุ่ม คุ้งบางกะเจ้า PGS ขึ้นเพื่อรวบรวมเกษตรในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าร่วมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน PSG (การรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม) และก้าวสู่มาตรฐาน Organic ระดับสากล IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements - IFOAM) ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 17 ราย มีพื้นที่ เกษตรอินทรีย์รวมกว่า 120 ไร่
3. โครงการ ‘OUR Khung BangKachao’ เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือจากองค์กรชั้นนำกว่า 34 องค์กรของประเทศไทย (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2561) ที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการร่วมกับชุมชนพร้อมน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักการดำเนินงานเพื่อช่วยอนุรักษ์และพัฒนาให้คุ้งบางกะเจ้ากลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์
-ด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว นำโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปี 2564 มีเป้าหมายเพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้าทั้งในส่วนพื้นที่ราชพัสดุและพื้นที่ส่วนบุคคล ได้ร่วมมือชุมชนคุ้งบางกะเจ้า และภาคีเครือข่ายคณะทำงาน อาทิ กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน ม.เกษตรศาสตร์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในปี 2564 ทั้งในส่วนพื้นที่ราชพัสดุในความดูแลของกรมป่าไม้และพื้นที่เกษตรส่วนบุคคลภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ มีการจัดหากล้าไม้ ได้แก่ ไม้ป่า ไม้ผล และพืชสมุนไพร ส่งมอบให้ชุมชนปลูกเพิ่มในพื้นที่ รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 23,400 ต้น
-ด้านการจัดการขยะ นำโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายลดปริมาณขยะ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้จัดการขยะ สร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะแบบครบวงจร รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้านการจัดการขยะครบวงจร วางแผนขยายการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมไปยังวัด โรงเรียน และแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาอาคารศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะแบบครบวงจรด้วยนิทรรศการออนไลน์และดิจิตอลรวมทั้งจัดสร้างอาคารสาธิตการแปรรูปขยะอินทรีย์ในวัดจากแดงอีกด้วย
4. โครงการ Care the Whale ริเริ่ม “สถานีขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า” โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ วัดจากแดง และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อนการดำเนินการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำขยะมาสะสมแต้มเพื่อแลกของใช้อุปโภคบริโภค และนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์กลับคืนสู่ชุมชน