“จีซี” ลุย5เมกะเทรนด์โลก ลดคาร์บอน-นวัตกรรมปิโตรเคมี
การขับเคลื่อนธุรกิจใหม่จะต้องสอดรับกับเมกะเทรนด์โลก โดยเฉพาะในประเด็นการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ตองสนองความต้องการผู้บริโภค
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการใช้ชีวิตและไม่ทำลายโลก พร้อมกับร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน โดยสิ่งสำคัญ คือ ความเข้าใจ โดยเฉพาะความยั่งยืน รวมทั้งการดำเนินธุรกิจของ GC สำคัญอย่างแรก คือ Biochemical หรือ Bio Plastic ที่มาแทนพลาสติกทั่วไป สามารถย่อยสลายได้
รวมทั้งสารเคลือบผิวที่ช่วยให้วัสดุต่างๆ ไม่ปล่อยสารระเหยที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมสู่ชั้นบรรยากาศ โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่เข้าไปทำสามารถเคลือบได้โดยไม่ไปสารเหล่านี้ โดย GC ได้นำดิจิทัลเข้ามาการใช้ทั้งในเรื่องของพลังงานสะอาด กระบวนการรีไซเคิล
ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงกระบวนการคาร์บอน Capture สอดคล้องเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 บริษัทจะยังคงเดินหน้าตามแผนธุรกิจปี 2565 ตาม 5 เมกะเทรนด์โลก ประกอบด้วย
1.Climate Change & Energy Transition
2.Demographic Shift
3.Health&Wellness
4.Urbanization
5.Disruptive Technology
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 กำไรจากการดำเนินงานกว่า 6,000 ล้านบาท ส่วนภาพรวมทั้งปีมองว่ากำลังผลิตจะเพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 2%ซึ่งเป็นการเติบโตตามการเข้าซื้อกิจการของ allnex ที่มีโรงงานทั่วโลกกว่า 30 แห่ง จากการ Synergy ร่วมกันที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน
รวมทั้งจะส่งผลให้มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ใน 4 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นอีก 50% หรือ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่าโดยไม่ต้องใส่เงินเพิ่ม จากปัจจุบันมี EBITDA ราว 400 ล้านยูโรต่อปี และมองตลาดอาเซียนเป็นตลาดใหญ่โดยจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและขยายตลาดอาเซียน
ในขณะที่การดำเนินธุรกิจในปี 2565 จำนวนวอลุ่มจะเพิ่มขึ้นจากโรงงานใหม่ที่เข้ามา ส่วนธุรกิจโรงกลั่นมาร์จิ้นดีเพราะไม่มี Stock Loss จากการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้แล้ว แม้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความผันผวน ไม่ปกติ ทั้งสงครามการค้า โควิด-19 รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ทั้งนี้ GC จะยังเปิดหน้าโครงการลงทุนตามแผนร่วมทุน ได้แก่ บริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด เพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงประเภท High Heat Resistant Polyamide-9T (PA9T) กำลังการผลิตที่ 13,000 ตันต่อปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) กำลังการผลิตที่ 16,000 ตันต่อปี คาดว่าเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ปลายไตรมาส 4 ของปี 2565
ส่วนโรงงานรีไซเคิลพลาสติกขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งจะช่วยรองรับพลาสติกได้ประมาณ 60,000 ตันต่อปี
โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 2 ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC กับพันธมิตรหลังจากที่บริษัท NatureWorks LLC ตัดสินใจลงทุนโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด (PLA) นั้น ขณะนี้เป็นไปตามแผน คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ประมาณไตรมาส 4 ปีนี้
สำหรับความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการหาพาร์ทเนอร์ หลังจากบริษัท Daelim Industrial Co., Ltd. (แดลิม) เกาหลีใต้ที่ได้ถอนตัวไป โดยมีความต้องการพาร์ทเนอร์ 1-2 ราย ซึ่งโครงการดังกล่าวยังเป็นโครงการที่ดีและยังอยู่ในความสนใจของบริษัท
“ปี 2565 จะยังไม่ลงทุนโรงงานใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ในปี 2566 อาจเห็นการปิดดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติมในธุรกิจ high performance ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม และการลงทุน Venture Capital หรือ VC"
ขณะที่ปี 2565 ยังไม่มีการปิดดีลใหญ่เนื่องจากบริษัทจะมุ่งเน้นการดำเนินงานหลังจากเข้าซื้อกิจการของ allnex เป็นหลักก่อน แต่อาจจะมีการปิดดีล M&A ขนาดเล็กๆ เพื่อต่อยอดการลงทุนแทน ทั้งนี้ จากการตั้งเป้า EBITDA ผลิตภัณณ์มูลค่าสูง ปี 2022 ที่ 20% และ 35%ปี 2030 จะได้ก่อนเป้าหมายแน่นอน เพราะปีนี้ทำได้ถึง 30% แล้ว
ส่วนแผนการออกหุ้นกู้นั้น มีแผนเสนอขายหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ เสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering) เพื่อขยายฐานผู้ลงทุนและเสริมสร้างฐานผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยของบริษัท โดยให้สิทธิ์แก่กลุ่มผู้สูงวัยมีสิทธิจองซื้อก่อน เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนที่มั่นคงยามเกษียณ คาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ ราว 15,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา GC นำแนวเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยั่งยืน โดยเน้นบริหารองค์กรโดยสร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมเพื่ออนาคตโดยเศรษฐกิจหมุนเวียน แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
1.การปรับการใช้วัตถุดิบ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ง่ายต่อการรีไซเคิล อาทิ พลาสติก แก้ว อะลูมิเนียม รวมไปถึงวัตถุดิบฐานชีวภาพ อาทิ อ้อย ปาล์ม มันสำปะหลัง
2.การผลิตอย่างรู้คุณค่า โดยทรัพยากรที่มาเป็นส่วนผสมจะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด
3.การใช้งานให้คุ้มค่า โดยลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตควบคู่กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด
4.การคัดแยกและรีไซเคิล โดยนำทรัพยากรกลับมาสู่ระบบเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง
รวมทั้งในการใช้พลาสติกด้วย Linear Economy ปัจจุบัน สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมา เช่น ปัญหาขยะพลาสติก การรั่วไหลลงสู่ทะเล ดังนั้น จะต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยการใช้แล้วนำมารีไซเคิล
นอกจากนี้ ได้แสวงหาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำรูปแบบใหม่เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ดังนั้น เรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องทำได้ให้ยั่งยืน และย่อยสลายได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ